ปวดศีรษะเรื้อรัง (Chronic daily headache)
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 27 ธันวาคม 2556
- Tweet
- บทนำ
- ปวดศีรษะสาเหตุไม่ร้ายแรงได้แก่โรคปวดศีรษะอะไรบ้าง?
- ปวดศีรษะเรื้อรังเกิดได้อย่างไร?
- ใครมีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงปวดศีรษะเรื้อรังได้บ่อย?
- ควรพบแพทย์เมื่อไร เมื่อมีภาวะปวดศีรษะเรื้อรัง?
- วินิจฉัยภาวะปวดศีรษะเรื้อรังได้อย่างไร?
- รักษาภาวะปวดศีรษะเรื้อรังอย่างไร?
- ภาวะปวดศีรษะเรื้อรังมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ภาวะปวดศีรษะเรื้อรังก่อผลข้างเคียงอะไรได้บ้าง?
- ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีภาวะปวดศีรษะเรื้อรัง? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
- ป้องกันภาวะปวดศีรษะเรื้อรังได้อย่างไร?
- สรุป
- ปวดหัว ปวดศีรษะ (Headache)
- ไมเกรน (Migraine)
- อาการปวดศีรษะร้ายแรง:สัญญาณอันตรายของอาการปวดศีรษะ (Red Flag in Headache)
- ปวดศีรษะจากเครียด (Tension typed headache)
บทนำ
โรค หรือภาวะ หรืออาการปวดศีรษะ เป็นโรค/ภาวะ/อาการทางระบบประสาทที่พบบ่อยที่สุด หรืออาจกล่าวได้ว่า ทุกคนต้องเคยมีอาการปวดศีรษะมาก่อน สาเหตุของอาการปวดศีรษะที่พบบ่อย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
- สาเหตุที่ร้ายแรง (ปวดศีรษะรุนแรง)
- สาเหตุไม่ร้ายแรง
บางคนมีอาการปวดศีรษะเป็นๆ หายๆ มาหลายปีไม่หาย ก็สงสัยว่าตนเองจะเป็นโรคที่ร้าย แรงหรือไม่ บางคนจากที่เป็นๆหายๆก็กลายเป็นปวดศีรษะทุกวัน ยิ่งวิตกกังวลว่าจะเป็นโรคมะเร็งสมองหรือไม่ เรามารู้จักโรคปวดศีรษะชนิดหนึ่งที่มีอาการปวดศีรษะทุกวัน เรียกว่า “โรค/ภาวะปวดศีรษะเรื้อรัง (Chronic daily headache)” ภาวะนี้เป็นอย่างไร มีอันตรายหรือไม่ รักษาหายหรือไม่ อ่านได้จากบทความนี้ครับ
โรคปวดศีรษะสาเหตุไม่ร้ายแรงได้แก่โรคปวดศีรษะอะไรบ้าง?
โรคปวดศีรษะที่พบบ่อยที่ไม่ร้ายแรงและควรรู้จัก ได้แก่ 1.ปวดศีรษะจากเครียด (Tension type headache), 2.ปวดศีรษะไมเกรน (Migraine headache), 3.ปวดศีรษะคลัสเตอร์ (Cluster headache), และ 4 ปวดศีรษะเรื้อรัง (Chronic daily headache)
- ปวดศีรษะจากเครียด (Tension type headache) เป็นโรคปวดศีรษะที่พบได้บ่อยที่สุด มักเกิดกับบุคคลซึ่งมีความเครียด ทำงานหนักต่อเนื่อง บุคลิกเคร่งเครียด ลักษณะการปวดมักเป็นแบบบีบแน่น หรือรัดทั้งสองข้างของศีรษะ ต้นคอ และไหล่ อาการปวดมีความรุนแรงน้อยถึงปานกลาง อาการปวดชนิดนี้ไม่แย่ลงจากการทำกิจวัตรประจำวัน และไม่มีอาการคลื่นไส้อา เจียน (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com ในบทความเรื่อง ปวดศีรษะจากเครียด)
- ปวดศีรษะไมเกรน (Migraine headache) เป็นโรคปวดศีรษะที่พบได้บ่อยอีกโรค พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย พบในวัยทำงาน ลักษณะการปวด จะปวดตุ้บๆ อาการปวดรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก ซึ่งอาการปวดจะแย่ลงได้จากสิ่งกระตุ้นภายนอก ทั้งแสง เสียง หรือกลิ่น รวมทั้งการมีรอบประจำเดือนในผู้หญิง และมักมีอาการคลื่นไส้อาเจียน บางคนมีอาการเตือนก่อนจะมีอาการปวดศีรษะ เช่น การมองเห็นที่ผิดปกติ เป็นต้น (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com ในบทความเรื่อง ไมเกรน)
- ปวดศีรษะคลัสเตอร์ (Cluster headache) ปวดศีรษะชนิดนี้พบได้ไม่บ่อย แต่ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมาน อาการปวดศีรษะชนิดนี้ มักเกิดในผู้ชายวัยกลางคนมากกว่าในผู้หญิง มักมีอาการปวดที่รุนแรง จนทำให้ผู้ป่วยกระสับกระส่าย บางคนอยากเอาศีรษะโขกข้างฝา เพราะมีอาการปวดที่รุนแรง จะอยู่เฉยๆไม่ได้ ซึ่งตรงกันข้ามกับปวดศีรษะไมเกรน ระยะเวลาที่ปวดประมาณ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง อาการมักจะปวดมาเป็นชุดในเวลาเดียวกันของแต่ละวัน ติดต่อกันหลายๆวัน แล้วอาการก็หายไป พอถึงช่วง เวลาเดียวกันของปีถัดไป ก็อาจมีโอกาสปวดศีรษะแบบเดิมอีก ตำแหน่งที่ปวดมักปวดรอบดวงตา หรือบริเวณขมับ มักเป็นข้างเดียว ผู้ป่วยจะมีอาการของระบบประสาทอัตโน มัติผิดปกติร่วมด้วย เช่น ตาแดง น้ำตาไหล มีน้ำมูก และมีเหงื่อออกบริเวณใบหน้าด้านที่มีอาการปวดศีรษะ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com ในบทความเรื่อง ปวดศีรษะคลัสเตอร์)
- ปวดศีรษะเรื้อรัง (chronic daily headache) คือ มีอาการปวดศีรษะแบบเรื้อรังมากกว่า 15 วันต่อเดือน ติดต่อกันอย่างน้อย 3 เดือน อาการปวดศีรษะแบบนี้ไม่ใช่โรค (แต่เรานิยมเรียกว่า โรค) แต่เป็นกลุ่มอาการซึ่งผู้ป่วยอาจมีอาการปวดศีรษะแบบเครียด หรือแบบไมเกรนก็ได้ แต่ผู้ป่วยจะมีอาการเรื้อรังมากกว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นโรคปวดศีรษะจากการใช้ยาแก้ปวดเกินขนาด (Medication overuse headache) ซึ่งเกิดจากการซื้อยาทานเอง การใช้ยาแก้ปวดที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งทำให้มีอาการปวดศีรษะเรื้อ รังมากขึ้น ซึ่งปวดศีรษะเรื้องรังเป็นเรื่องที่จะกล่าวในบทความนี้
อนึ่ง ถึงแม้ภาวะ/อาการปวดศีรษะส่วนใหญ่ ไม่ได้เกิดจากโรคร้ายแรง แต่อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะและมีอาการดังต่อไปนี้ร่วมด้วย ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยด่วน เพราะอาจเกิดจากสาเหตุที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เช่น อาจเกิดจากภาวะเลือดออกในสมอง หรือมีอาการติดเชื้อในระบบประสาท เป็นต้น
*****สัญญาณอันตรายของภาวะ/อาการปวดศีรษะ (ปวดศีรษะรุนแรง) มีดังต่อ ไปนี้
- อาการปวดศีรษะ รุนแรง ขึ้นทันทีทันใด
- อาการปวดศีรษะ เกิดร่วมกับมีไข้ และคอแข็ง
- อาการปวดศีรษะ เกิดร่วมกับอาการทางระบบประสาทผิดปกติ เช่น แขนขาอ่อนแรง สับสน มีบุคลิกภาพที่เปลี่ยนแปลง เป็นต้น
- อาการปวดศีรษะในผู้ป่วยโรคมะเร็ง โรคตับวาย ไตวาย หรือในผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอช ไอ วี หรือในผู้ทานยาละลายลิ่มเลือด เช่น ยาวาร์ฟาริน
- ปวดศีรษะที่เป็นมากขึ้นๆ และไม่ตอบสนองต่อการกินยาแก้ปวดทั่วไป
- ปวดศีรษะเป็นครั้งแรก (ไม่เคยมีอาการมาก่อน) ในผู้สูงอายุ เพราะมักมีสาเหตุจากโรคร้ายแรง เช่น โรคเนื้องอกสมอง ภาวะเลือดออกในสมอง
ปวดศีรษะเรื้อรังเกิดได้อย่างไร?
การเกิดภาวะ/อาการปวดศีรษะเรื้อรังนั้น เกิดจากการที่สมองมีการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาท ชนิดที่เรียกว่า ซีโรโทนิน (Serotonin) มักเกิดจากการที่ผู้ป่วยมีการใช้ยาแก้ปวดต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ยาแก้ปวดนั้นส่งผลให้มีการลดลงของตัวรับ/หน่วยรับความรู้สึก (Receptor) ของสารสื่อประสาทซีโรโทนิน จึงส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะแบบเรื้อรัง
ใครมีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงปวดศีรษะเรื้อรังได้บ่อย?
ผู้ป่วยที่มีภาวะ/อาการปวดศีรษะเป็นประจำ เช่น ปวดศีรษะไมเกรน ปวดศีรษะจากเครียด เมื่อมีการรักษาที่ไม่เหมาะสม มีการใช้ยาแก้ปวดแบบผิดวิธี เช่น การทานยาแก้ปวดต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ ยิ่งทานยาแก้ปวด ก็ยิ่งมีอาการปวดศีรษะมากขึ้น เป็นภาวะปวดศีรษะจากการใช้ยาแก้ปวดเกินขนาด ซึ่งคือ สาเหตุหลักของการเกิดปวดศีรษะเรื้อรัง
ควรพบแพทย์เมื่อไรเมื่อมีภาวะปวดศีรษะเรื้อรัง?
ผู้ป่วยควรพบแพทย์เสมอ ในกรณีที่มีภาวะ/อาการปวดศีรษะบ่อยขึ้น ตอบสนองต่อยาแก้ปวด หรือยาที่รักษาเดิมไม่ดีเหมือนเดิม หรือต้องใช้ขนาดยาเพิ่มขึ้น และ/หรือระยะเวลาการปวดศีรษะนานขึ้นๆ
วินิจฉัยภาวะปวดศีรษะเรื้อรังได้อย่างไร?
การวินิจฉัยภาวะปวดศีรษะเรื้อรัง แพทย์จะประเมินจากอาการปวดศีรษะ (เช่น ความถี่ ลักษณะการปวด ประวัติการใช้ยาแก้ปวด), การตรวจร่างกายที่ไม่พบความผิดปกติใดๆ, ไม่จำเป็น ต้องส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ เอมอาร์ไอสมอง
รักษาภาวะปวดศีรษะเรื้อรังอย่างไร?
การรักษาภาวะปวดศีรษะเรื้อรังที่สำคัญคือ ต้องให้การวินิจฉัยสาเหตุของการปวดศีรษะที่เป็นสาเหตุหลัก เพื่อให้การรักษาที่ถูกต้อง ร่วมกับการหยุดยาแก้ปวดที่ใช้เป็นประจำ โดยผู้ป่วยอาจมีอาการปวดศีรษะที่รุนแรงมากขึ้นได้ในช่วงแรกของการรักษา จึงต้องมีวิธีให้การรักษาอาการปวดศีรษะที่รุนแรงมากขึ้นในช่วงแรกก่อน โดยการใช้ยาสเตียรอยด์ และยาชนิดอื่นๆตามความเหมาะสม ที่สำคัญที่สุดคือ ผู้ป่วยต้องทราบถึงแผนการรักษาจะได้เข้าใจ ไม่วิตกกังวล และต้องหยุดยาแก้ปวดที่ทานอยู่เดิมให้ได้
ภาวะปวดศีรษะเรื้อรังมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรค ของภาวะปวดศีรษะเรื้อรัง คือ เป็นภาวะที่รักษาหาย แต่ต้องได้รับความร่วมมือที่ดีจากผู้ป่วย เพราะต้องหยุดยาแก้ปวดเดิมก่อน และต้องรักษาสาเหตุที่ปวดศีรษะเรื้อรัง การรักษาอาจใช้เวลานานหลายเดือน และต้องใช้กำลังใจอย่างมากทั้งจากผู้ป่วยและคนในครอบ ครัวผู้ป่วย
ภาวะปวดศีรษะเรื้อรังก่อผลข้างเคียงอะไรได้บ้าง?
กรณีที่ผู้ป่วยไม่มารับการรักษาต่อเนื่อง ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นคือ ผู้ป่วยจะทรมานจากอา การปวดศีรษะเรื้อรังมากขึ้น อาจเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาแก้ปวดขนาดสูง เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคไตวาย เป็นต้น และอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนทางจิตเวช เช่น ภาวะซึมเศร้า ติดยาแก้ปวด เป็นต้น
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีภาวะปวดศีรษะเรื้อรัง? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
ผู้ที่ป่วยด้วยภาวะปวดศีรษะเรื้อรังนี้ ต้องดูแลตนเองเป็นอย่างดี คือ ต้องปฏิบัติตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด ที่สำคัญ คือ
- เลิกและห้ามใช้ยาแก้ปวดเดิมที่เคยใช้ ต้องทานยาที่แพทย์สั่งเท่านั้น และอย่างต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง อย่าขาดยา
- ต้องสังเกต และต้องพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่จะทำให้มีอาการปวดศีรษะ เช่น ความ เครียด การอดนอน สภาพแวดล้อม ประเภทอาหาร เครื่องดื่ม
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- งด/ไม่สูบบุหรี่
- พบแพทย์ตามนัดเสมอ
- ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อ อาการปวดศีรษะรุนแรงขึ้นกว่าเดิม หรือมีลักษณะผิดไปจากเดิม เช่น ร่วมกับคลื่นไส้อาเจียน, เมื่อนอนไม่หลับ, เมื่อมีอาการผิดปกติอื่นๆที่ไม่เคยเป็นมาก่อน, หรือเมื่อกังวลในอาการ
ป้องกันภาวะปวดศีรษะเรื้อรังได้อย่างไร?
ภาวะปวดศีรษะเรื้อรังนี้ สามารถป้องกันได้โดย เมื่อมีอาการปวดศีรษะบ่อยผิดปกติ ไม่ควรซื้อยาแก้ปวดทานเอง ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ เพื่อการรักษาควบคุมอาการปวดศีรษะที่เป็นอยู่ให้ได้ดี และต้องรู้จักสังเกต เพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้ปวดศีรษะ
สรุป
ปวดศีรษะ เป็นอาการ/ภาวะผิดปกติที่พบบ่อยที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เพียงแค่ต้องทราบสาเหตุ และให้การรักษา และปฏิบัติตัวที่เหมาะสม ดังนั้นถ้าท่านมีอาการปวดศีรษะที่เริ่มมีความรุนแรงมากขึ้น เป็นมานาน และอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบพบแพทย์ เพื่อให้การวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม