ปวดกล้ามเนื้อที่ไม่ธรรมดา (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

ปวดกล้ามเนื้อที่ไม่ธรรมดา

นอกจากนี้นักวิจัยยังเชื่อว่าเส้นประสาทที่ถูกกระตุ้นซ้ำๆ เป็นสาเหตุทำให้สมองของคนที่เป็นโรคปวดกล้ามเนื้อเปลี่ยนไปด้วยการเพิ่มขึ้นของระดับสารเคมีในสมองหรือที่เรียกว่า สารสื่อประสาท (Neurotransmitters) ส่งสัญญาณความปวดและทำให้ไวต่อสัญญาณนี้ จนสามารถทำให้เกิดอาการปวดเกินความจริง (Overreact to pain signals)

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นโรคปวดกล้ามเนื้อ ได้แก่

  • เพศ – มักเกิดในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
  • มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้
  • เป็นโรคเกี่ยวกับข้อ กล้ามเนื้อ และกระดูก (Rheumatic disease) – เช่น โรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) โรคลูปัส (Lupus) หรือ โรคเอสแอลอี

อาการแทรกซ้อนของโรคนี้จะเกิดจากอาการปวด ซึ่งทำให้นอนไม่หลับ เครียด ซึมเศร้าหดหู่

ไม่มีการวิเคราะห์โรคนี้ได้โดยตรง สิ่งที่สามารถทำได้คือ การตัดสาเหตุความเป็นไปได้ของโรคอื่นๆ ด้วยการตรวจเลือดที่เรียกว่า FM/a การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete blood count = CBC) นอกจากนี้อาจทำการตรวจ

  • ไทรอยด์ (Thyroid test) เพราะอาการของภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน (Hypothyroidism) จะมีอาการเหมือนโรคปวดกล้ามเนื้อ กล่าวคือ อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ และหดหู่ซึมเศร้า
  • การตรวจเลือดเกี่ยวกับโรคแพ้ภูมิ (Antinuclear antibodies = ANA)
  • การตรวจสารรูมาตอยด์ (Rheumatoid factor = RF)
  • การตรวจอัตราการตกตะกอนของเม็ดเลือดแดง (Erythrocyte sedimentation rate = ESR)
  • การตรวจระดับแคลเซียม (Calcium level)
  • การตรวจระดับวิตามินดี (Vitamin D level)

การรักษาโรคปวดกล้ามเนื้อมีทั้งการใช้ยาและการดูแลตัวเอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดอาการปวดให้น้อยลง นอนหลับได้ดี ไม่เพลีย อย่างไรก็ดี ไม่มีวิธีการรักษาวิธีใดวิธีเดียวที่สามารถรักษาอาการได้ทั้งหมด

ยาทั่วไปที่ใช้ช่วยรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อและทำให้นอนหลับ ได้แก่ ยาลดปวด (Pain relievers) เช่น ยา Acetaminophen ยา Ibuprofen ยา Naproxen sodium หรือยา Tramado เป็นต้น ยารักษาอาการซึมเศร้า (Antidepressants) เช่น ยา Duloxetine ยา Milnacipran ยา Amitriptyline หรือยา Fluoxetine เป็นต้น ยากันชัก (Anti-seizure drugs) เช่น ยา Gabapentin ยา Pregabalin เป็นต้น

ส่วนการดูแลตัวเอง สามารถทำได้โดย

  • คลายเครียด เช่น หายใจลึกๆ หรือ ทำสมาธิ
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เข้านอนและตื่นนอนเป็นเวลา จำกัดเวลางีบหลับระหว่างวัน
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ที่เป็นโรคปวดกล้ามเนื้อ โดยช่วงแรกที่ออกกำลังกายอาจจะรู้สึกปวดมากขึ้น แต่การค่อยๆ เพิ่มการออกกำลังกายและทำเป็นประจำจะช่วยลดอาการปวดได้ เช่น การเดิน การว่ายน้ำ การขี่จักรยาน และการออกกำลังกายในน้ำ (Water aerobics)
  • รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์ ทำตัวให้มีความสุข
  • สำหรับการรักษาทางเลือกเพื่อลดอาการปวดและเครียดอื่นๆ ได้แก่ การฝังเข็ม การนวด การเล่นโยคะ และการรำไทเก็ก

แหล่งข้อมูล

    1. Fibromyalgia. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/fibromyalgia/basics/definition/con-20019243 [2016, May 3].
    2. What Is Fibromyalgia? https://nccih.nih.gov/health/supplements/coq10 [2016, May 3].
    3. Fibromyalgia. http://www.rheumatology.org/I-Am-A/Patient-Caregiver/Diseases-Conditions/Fibromyalgia [2016, May 3].