ปลูกไขกระดูก ปลูกชีวิตใหม่ (ตอนที่ 5)

ปลูกไขกระดูก

สำหรับการเตรียมการปลูกถ่ายไขกระดูกแตกต่างกันไป ขึ้นกับวิธีการปลูกถ่าย โรคที่เป็น และความทนทานของร่างกายผู้ป่วยต่อยารักษาบางชนิด ซึ่ง

  • โดยส่วนใหญ่ เคมีบำบัดและ/หรือรังสีบำบัดในปริมาณที่มาก จะถูกใช้เพื่อให้การรักษาเนื้อร้ายหรือมะเร็ง (Malignancy) มีประสิทธิภาพ โดยเซลล์ดั้งเดิมในไขกระดูกของผู้ป่วยจำเป็นจะต้องถูกทำลายเสียก่อน เพื่อเปิดช่องว่างให้เซลล์ที่ได้รับบริจาคเข้ามาอยู่ และแบ่งตัวเป็นเซลล์ใหม่ได้ (Myeloablative treatment)
  • หลังเคมีบำบัดและ/หรือรังสีบำบัด จะมีการให้ไขกระดูกผ่านสายสวนหลอดเลือดดำส่วนกลาง (Central venous line) สเต็มเซลล์จะหาทางไปยังไขกระดูกและเริ่มสร้างเซลล์ใหม่
  • หลังการปลูกถ่ายไขกระดูกจะต้องมีการป้องกันและรักษาภาวะติดเชื้อ ผลข้างเคียงของการรักษา และอาการแทรกซ้อน ซึ่งรวมถึง การทดสอบเลือดบ่อยๆ การติดตามดูสัญญาณชีพอย่างใกล้ชิด การเข้มงวดกับสารน้ำที่เข้าและออก การชั่งน้ำหนัก และสภาพแวดล้อมที่สะอาดปลอดเชื้อ

โดยระหว่างการฉีดถ่ายไขกระดูก ผู้ป่วยอาจจะรู้สึกถึงอาการ

  • ปวด
  • หนาวสั่น
  • เป็นไข้
  • เป็นลมพิษ
  • เจ็บหน้าอก

หลังการฉีดถ่ายไขกระดูก ผู้ป่วยอาจ

  • ใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์ในโรงพยาบาล
  • ติดเชื้อได้ง่าย
  • เลือดไหลออกมาก
  • จำเป็นต้องให้เลือด (Blood transfusions)
  • ต้องอยู่ในห้องปลอดเชื้อ
  • ต้องให้ยาปฏิชีวนะและยาอื่นอีกหลายตัว
  • ต้องให้ยากดภูมิเพื่อป้องกันการต่อต้านสิ่งแปลกปลอม
  • ต้องมีการทดสอบทางห้องแล็ปอยู่เสมอ
  • รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เจ็บปาก และอ่อนเพลียอย่างมาก
  • จิตใจและอารมณ์สับสน หรือเครียดทางจิต (Psychological distress) ชั่วคราว

เวลาที่ผู้ป่วยยอมรับสเต็มเซลล์จากผู้บริจาค (Engraftment) มักจะเกิดประมาณวันที่ +15 หรือ +30 ซึ่งจะมีการตรวจนับเซลล์เม็ดเลือดอยู่บ่อยๆ หลังการปลูกถ่ายไขกระดูก

ทั้งนี้ การยอมรับสเต็มเซลล์จากผู้บริจาคอาจเป็นไปได้ช้า ซึ่งมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ การให้ยา การได้รับปริมาณสเต็มเซลล์ในปริมาณที่น้อยเกินไป หรือร่างกายไม่ยอมรับ แม้ว่าอาจจะใช้เวลาในการสร้างเซลล์ใหม่ใน 30 วันแรกหลังการปลูกถ่าย แต่ก็อาจจะต้องใช้เวลาอีกเป็นเดือน หรือแม้แต่เป็นปี เพื่อให้ระบบภูมิต้านทานฟื้นตัวได้ทั้งหมด

แหล่งข้อมูล

1. Bone Marrow Transplantation. http://www.hopkinsmedicine.org/healthlibrary/conditions/hematology_and_blood_disorders/bone_marrow_transplantation_85,P00086/ [2016, October 4].