ปลาร้ากับไนโตรซามีน (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

ปลาร้ากับไนโตรซามีน-2

      

      สารไนโตรซามีนจัดเป็นสารก่อมะเร็งที่พบทั่วไปในอาหาร เครื่องดื่ม และมีการใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น เครื่องสำอาง ยาฆ่าแมลง ยาสูบ ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับยางอย่างลูกโป่งและถุงยางอนามัย เป็นต้น โดยแหล่งที่พบได้มากที่สุดคือ บุหรี่

      ในอาหารและเครื่องดื่ม การเกิดสารไนโตรซามีนจะมีมากขึ้นในสภาวะที่มีความเป็นกรดมาก เช่น ในกระเพาะอาหาร หรือ จากการถนอมอาหารด้วยการรมควันหรือการหมักดองผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ ปลาและผัก เช่น เบียร์ ปลา ปลาร้า ไส้กรอก เบคอน เนย เป็นต้น

      ส่วนเครื่องสำอาง มีจำนวนมากที่มีส่วนประกอบของ Diethanolamine (DEA) และ Triethanolamine (TEA) ซึ่งมีสารไนโตรซามีนเป็นสารที่เกิดจากปฏิกริยาทางเคมี และเนื่องจากเป็นสารเจือปนจึงไม่ได้มีการระบุบนฉลากอย่างชัดเจน จึงเป็นการยากที่ผู้บริโภคจะทราบและสามารถป้องกันอันตรายจากสารไนโตรซามีนได้

      ดังนั้น สิ่งที่อาจทำได้คือ การหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่ฉลากระบุว่า มีส่วนประกอบของ DEA หรือ TEA ที่สามารถแตกตัวและกลายเป็นสารไนโตรซามีนได้

      ทั้งนี้ FDA และ สมาคมเครื่องสำอางของยุโรป (The European cosmetics trade association / Cosmetics Europe) ได้แนะนำผู้ผลิตเครื่องสำอางถึงกรรมวิธีการผลิตเพื่อลดการเกิดสารไนโตรซามีนในขั้นตอนการผลิตแล้ว เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง

      นอกจากนี้ ปุ๋ยที่ใช้กับดินก็มีโอกาสทำให้สารไนโตรซามีนซึมลงสู่แหล่งน้ำดื่มได้

      ในปี พ.ศ.2524 มีงานวิจัยเปิดเผยว่า เราได้รับสารไนโตรซามีนจากอาหารประมาณวันละ 1 ไมโครกรัมต่อคน ในขณะที่ National Science Academy Report ได้ประเมินว่า ผู้สูบบุหรี่จะได้รับสารไนโตรซามีนจากการสูบประมาณวันละ 17 ไมโครกรัมต่อคน และผู้ที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมยางหรือโรงงานผลิตสารเคมีมักจะได้รับสารนี้สูงกว่าปกติ

      และงานวิจัยบางฉบับยังระบุว่า สารไนโตรซามีนมีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร (Gastric cancer) และ มะเร็งหลอดอาหาร (Esophageal cancer) หรือแม้แต่การเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของการเกิดความเสื่อมในสมองอย่างอัลไซเมอร์ โรคเบาหวาน โรคไขมันพอกตับ โรคอ้วน โรคพาร์กินสัน ภาวะดื้อต่ออินสุลิน (Insulin resistance) และการทำลายดีเอ็นเอ

      สำหรับการป้องกันตนเองจากสารไนโตรซามีน อาจทำได้ด้วยการ

      - ดูฉลากว่ามีส่วนประกอบของสารกันบูดหรือไม่

      - หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่ผ่านกระบวนการ (Processed foods) เช่น อาหารรมควัน เนยแข็งแปรรูป (Processed cheeses) และเบียร์ ด้วยการกินอาหารสด เช่น ผักที่อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants)

      - หลีกเลี่ยงการใช้ปุ๋ยเคมี

      

แหล่งข้อมูล:

  1. Plotnik Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Alcohol - https://en.wikipedia.org/wiki/Alcohol [2019, September 7].