ประหม่าเกินเหตุหรือเขินเกินไป (ตอนที่ 1)

ประหม่าเกินเหตุหรือเขินเกินไป

ผศ.พญ.ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวถึง โรคประหม่ากังวลต่อหน้าสังคม (Social phobia หรือ social anxiety) ว่า เป็นความกังวลเมื่อต้องไปอยู่ในสถานการณ์ที่รู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกจ้องมองจาก ผู้อื่น กลัวว่าตนเองอาจทำอะไรที่น่าอับอายขายหน้า

มักเป็นสถานการณ์ที่รู้สึกว่า กำลังตกเป็นเป้าสายตาของคนหลายคน เช่น การพูดหน้าชั้น การพูดในที่ประชุม หรือแม้กระทั่งการเดินเข้าไปในที่คนมากๆ และรู้สึกว่าสายตาหลายๆ คู่กำลังมองมา ก็จะเกิดความประหม่าขึ้นมาอย่างมาก จนบางคนไม่กล้าเดินเข้าไปในที่มีคนมาก เพราะกลัวตกเป็นเป้าสายตา โดยบางคนตอนอยู่ในกลุ่มเพื่อนจะพูดคุยเก่ง พูดจาคล่องแคล่วร่าเริงดี แต่เมื่อต้องไปพูดหน้าชั้น กลับพูดไม่ออกเกิดอาการประหม่าอย่างมาก

ผศ.พญ.ทานตะวัน กล่าวต่อว่า โรคนี้พบได้ร้อยละ 2-3 ในคนทั่วไป มีความกลัววิตกกังวลเกิดขึ้นเอง แม้ทราบว่าไม่มีเหตุผลสมควรที่จะกลัวกังวลขนาดนั้น แต่ก็อดกลัวกังวลไม่ได้ และมีอาการทางร่างกาย เช่น ใจสั่น มือสั่น เสียงสั่น เหงื่อแตก ตัวเย็น มือเท้าชา บางคนใจหวิว เหมือนจะเป็นลม

บางคนอาจมีอาการปวดปัสสาวะหรืออุจจาระได้ ด้วยความกังวลทั้งทางใจและทางกายนี้ ผู้ป่วยจะพยายามหลบเลี่ยงหลีกหนีต่อสิ่งที่กลัวนั้น จนมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และมักมีอาการต่อเนื่องยาวนานอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป และเมื่อมีการพูดนำเสนอหรือแสดงออกไปเสร็จ มักจะเก็บความคิดวนไปวนมาและรู้สึกไม่ค่อยพอใจตัวเอง โดยมักเห็นแต่จุดผิดพลาดของตัวเอง จนทำให้เกิดความกลัวกังวล ถ้าต้องพูดหรือแสดงออกในครั้งต่อไป

ผศ.พญ.ทานตะวัน อธิบายว่า การมีความกลัวกังวลหรือใส่ใจสายตาต่อสังคมรอบตัวไม่ใช่สิ่งเลวร้าย และด้านหนึ่งเป็นสิ่งที่ดีด้วยซ้ำ เพราะทำให้เราเกิดการพัฒนาตนเอง เกิดการกลับมาใคร่ครวญตัวเอง เพราะถ้าไม่มีความแคร์หรือใส่ใจสายตาคนรอบข้างเลย อาจทำให้เกิดการกระทำที่ไม่เหมาะสมและไม่รู้ตัว จนอาจเกิดผลเสียหายต่อตนเองและคนอื่นได้

ดังนั้น การมีความกลัวกังวลบ้าง จึงเป็นสิ่งที่ช่วยให้เกิดความใส่ใจต่อสิ่งต่างๆ มากขึ้น ความกลัวกังวลจึงไม่ใช่สิ่งที่น่ารังเกียจ เพียงแต่ถ้ามีมากเกินไปจะกลายเป็นผลเสียต่อตนเองและต่อคนอื่นได้

ผศ.พญ.ทานตะวัน แนะนำว่า การกลับมาดูแลตนเองเป็นสิ่งสำคัญ ถ้ามีอาการไม่มาก เราอาจสามารถดูแลตัวเองได้ ด้วยการปรับทัศนะคติใหม่ มองตัวเองและมองสถานการณ์รอบข้างให้ตรงตามความเป็นจริง มองอย่างมีสติมากขึ้น ทันความคิดด้านลบให้บ่อยขึ้น เพราะหลายครั้งเราคิดมากไปเอง หรือฝึกร่ายกายให้อยู่ในความผ่อนคลายมากขึ้น

แต่ถ้ามีอาการมาก การพบแพทย์ เช่น จิตแพทย์ก็เป็นตัวช่วยหนึ่งที่อาจช่วยได้ ซึ่งไม่ได้แปลว่าเราเป็นโรคทางจิตหรืออะไร เพียงแต่อาการทางจิตใจบางอย่างมีผลมาจากทางร่ายกายด้วย ดังนั้น การพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ถือว่าเป็นการรู้จักดูแลตัวเอง

แหล่งข้อมูล

1. รู้จัก "โรคประหม่ากังวลต่อหน้าสังคม" : ผลเสียรุนแรง หากไม่รักษา. http://manager.co.th/goodhealth/ViewNews.aspx?NewsID=9590000036665 [2016, July 10].