ประสาทตาอักเสบ (Optic neuritis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

ประสาทตาอักเสบคืออะไร?

โรคประสาทตาอักเสบ หรือ เส้นประสาทตาอักเสบ หรือ ประสาทตาอักเสบ (Optic neuritis) คือ การอักเสบของเส้นประสาทตา (เส้นประสาทสมองคู่ที่ 2 ที่เรียกว่า Optic nerve) ซึ่งทำให้เกิดภาวะบาดเจ็บของปลอกประสาท (Demyelination)ในแอกซอน (Axon) ของเส้นประสาทตา จึงเป็นเหตุให้การนำกระแสประสาทตาบกพร่องการมองเห็นจึงลดลง

ประสาทตาอักเสบ พบเกิดได้ทั้งกับตาข้างเดียวหรือกับทั้ง 2 ตา (แพทย์พยากรณ์ไม่ได้ชัดเจนว่าใคร โรคจะเกิดกับตาข้างเดียว หรือใคร โรคจะเกิด 2 ตา) มักพบเกิดในคนช่วงอายุ 18 - 45 ปี พบในผู้หญิงมากกว่าในผู้ชายในอัตรา 3 : 1 โดยพบอุบัติการณ์ในแต่ละปีได้ประมาณ 1 - 5 คนต่อประชากร 100,000 คน ทั้งนี้โรคนี้อาจเป็นอาการแรกของผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple sclerosis) ซึ่งพบได้ถึง 75 - 90%ของผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งทั้งหมด

ประสาทตาอักเสบพบได้เป็น 2 ชนิดคือ

1. การอักเสบเกิดบริเวณขั้วประสาท/จานประสาทตา (Optic disc): ซึ่งเป็นที่รวมของใยประสาท (Nerve fibre layer) จากจอตาที่มารวมกันเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นประสาทตา เรียกการอักเสบชนิดนี้ว่า “Optic papillitis” ตรวจพบได้จากกล้องส่องตรวจในลูกตา (Ophthalmoscope)

2. มีการอักเสบด้านหลังถัดจากขั้วประสาทไปด้านหลังลูกตา : เรียกการอักเสบชนิดนี้ว่า “Retrobulbar optic neuritis” ซึ่งการอักเสบชนิดนี้ตรวจไม่พบจากกล้องส่องตรวจในลูกตา

ประสาทตาอักเสบมีสาเหตุจากอะไร?

ประสาทตาอักเสบ

ประสาทตาอักเสบอาจมีสาเหตุได้จาก

1. เกิดร่วมกับมีการเสื่อมของเยื่อปลอกประสาท (Myelin) : โดยพบการเปลี่ยน แปลงของสมองเนื้อสีขาว (White matter) ในเนื้อสมองส่วนกลางเช่น ในโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง เป็นต้น

2. จากการติดเชื้อโรคของร่างกายที่ส่งผลถึงประสาทตา (Infective Optic neuropathy): เช่น การติดเชื้อเอชไอวี, การติดเชื้อราชนิด Cryptococcus, โรคซิฟิลิส, โรคติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่เรียกว่าโรค Catscratch disease, โรคติดเชื้อทอกโซพลาสโมซิส(Toxoplasmosis), หรือแม้แต่การอักเสบที่เกิดภายหลังการติดเชื้อใน โรคหัด, คางทูม, ไอกรน, อีสุกอีใส ก็อาจพบได้

3. การอักเสบของประสาทตาหลังการฉีดวัคซีน: เช่น วัคซีนป้องกัน หัด , หัดเยอรมัน, บาดทะยัก, ไข้หวัดใหญ่, ตลอดจนวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า

4. จากระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคผิดปกติ (Immune - mediated optic neuritis): เช่น ในโรคออโตอิมูน/โรคภูมิต้านตนเอง (เช่น โรคลูปัส-โรคเอสแอลอี, โรคกลุ่มอาการ โจเกรน, โรคข้อรูมาตอยด์)

5. อื่นๆ: ที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดเช่น ผู้ป่วยโรคต่อมไทรอยด์ที่กล้ามเนื้อที่ใช้เคลื่อน ไหวลูกตา/กลอกตา หนาตัวจนไปกดเส้นประสาทตา ตลอดจนในผู้ป่วยบางรายแพทย์หาสาเหตุไม่พบ

ประสาทตาอักเสบมีอาการอย่างไร?

อาการสำคัญของโรคประสาทตาอักเสบ คือ

  • ผู้ป่วยจะมีอาการตามัวที่เกิดค่อนข้างเฉียบ พลัน การมองเห็นอาจลดลงเล็กน้อยหรือตามัวมากจนแทบมองไม่เห็นแสงสว่าง ซึ่งอาจใช้เวลาจากเริ่มมีอาการจนตามัวมากประมาณ 3 - 10 วัน โดยมักเป็นกับตาข้างเดียวหรือบางรายเป็น 2 ข้าง แต่มักเกิดทีละข้างไม่เกิดพร้อมกัน ซึ่งอาการหลักคือ ตามัวโดยตาไม่แดงเลย
  • อาการตามัว มักจะเริ่มจากตรงกลางภาพก่อนแล้วขยายไปด้านข้างๆ หากพบในผู้ป่วยที่เป็นโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งผู้ป่วยจะมีอาการทางสมองร่วมด้วยเช่น อาการแขน - ขาชา แขน - ขาอ่อนแรง กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ อารมณ์แปรปรวน มีอาการสั่น เดินเซ ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีลักษณะพิ เศษที่เรียกว่า “Uhthoff Phenomenon” คือ มีอาการมากขึ้นขณะมีการออกกำลังกายหรือเมื่อร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นหรือมีความเครียด
  • นอกจากนี้ อาจมีอาการปวดตา โดยเฉพาะเวลากลอกตา/เคลื่อนไหวลูกตา เนื่องจากเนื้อเยื่อที่หุ้มประสาทตาโยงไปถึงเนื้อเยื่อที่หุ้มกล้ามเนื้อที่ใช้กลอกตา เมื่อกล้ามเนื้อกลอกตาทำ งานจึงเกิดการกระเพื่อมไปถึงเยื่อหุ้มประสาทตาที่กำลังอักเสบจึงมีอาการปวดเวลากลอกตา

เมื่อไรควรพบแพทย์?

เนื่องจากโรคประสาทตาอักเสบนี้กระทบต่อเส้นประสาทตาทำให้การมองเห็นลดลงอย่าง ฉับพลัน

ผู้ป่วยจึงควรต้องไปพบแพทย์/จักษุแพทย์ทันที เพราะแพทย์ต้องตรวจแยกโรคที่มีผลต่อเส้นประสาทตา หรือที่มีการกดเส้นประสาทตา ซึ่งแพทย์ต้องตรวจหาดูว่า มีสาเหตุอะไรหรือไม่เพื่อการรักษาที่เหมาะสม เช่น

  • โรคเส้นประสาทตาขาดเลือด (Anterior ischemic optic neuropathy)
  • โรคประสาทตาถูกกดเบียดจากสาเหตุต่างๆ (Compressive optic neuropathy) เช่น เนื้องอกสมอง
  • โรคเส้นประสาทตาจากสารพิษ (Toxic optic neuropathy) เช่น จากสารตะกั่ว หรือเป็นผลข้างเคียงจากยาบางชนิดเช่น ยารักษาวัณโรค ซึ่งล้วนเป็นโรคที่ร้ายแรงอาจทำให้ตาบอดถาวรได้

แพทย์วินิจฉัยประสาทตาอักเสบได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยประสาทตาอักเสบได้โดย

1. ตรวจวัดสายตา ซึ่งจะพบว่า มีตามัวลงอย่างชัดเจน

2. ตรวจดูการตอบสนองต่อแสงไฟจากไฟฉายของรูม่านตาในตาข้างที่เกิดโรค ซึ่งการตอบสนองจะลดลงอย่างชัดเจน และอาจมีการตรวจทดสอบด้วยวิธีเฉพาะที่ดูการตอบสนองของรูม่านตาต่อระดับแสงสว่างต่างๆที่เรียกว่า Swinging-flashlight test

3. อาจตรวจภายในลูกตาด้วยอุปกรณ์เฉพาะเพื่อดูเซลล์อักเสบในวุ้นตาที่อยู่หน้าต่อขั้วประสาทตา/จานประสาทตา (Vitreous cell positive) โดยเฉพาะในกรณีของประสาทตาอักเสบ ชนิด Optic papillitis

4. เมื่อให้ผู้ป่วยกลอกตาไปมาจะมีอาการเจ็บปวดตามากขึ้น

5. ในกรณีของการอักเสบชนิด Optic papillitis การตรวจขั้วประสาทตาด้วยอุปกรณ์เฉพาะจะพบขั้วประสาทตาบวมแดง อาจพบจุดเลือดออกรอบๆขั้วประสาทตา ส่วนกรณีการอัก เสบชนิด Retrobulbar optic neuritis จะพบว่าขั้วประสาทตาปกติ

6. ตรวจลานสายตา จะพบมีความผิดปกคิที่เป็นลักษณะเฉพาะโรคนี้

7. ตรวจการเห็นสีด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า Ishihara test จะพบความผิดปกติแต่อาจไม่สามารถเจาะจงว่าเกิดตาบอดสีแดงหรือสีเขียวดังเช่นตาบอดสีแต่กำเนิด

8. ตรวจคลื่นไฟฟ้าเส้นประสาทตา (Visual evoked potential) จะพบมีการทำงานช้าลง (Delay latency) ของเซลล์ประสาทตา

9. การตรวจลูกตาและสมองด้วยเอมอาร์ไอดูการทำงานของสมองในรายที่สงสัยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง และ/หรือเพื่อใช้ในการพยากรณ์โรคว่า โรคนี้มีโอกาสก่อให้เกิดโรค ปลอกประสาทเสื่อมแข็งหรือไม่

รักษาประสาทตาอักเสบอย่างไร?

วิธีรักษาประสาทตาอักเสบ ได้แก่

1. รักษาสาเหตุเช่น รักษาการติดเชื้อหรือรักษาโรคออโตอิมมูน เมื่อพบว่าประสาทตาอักเสบเกิดจากสาเหตุเหล่านั้น

2. อาการตามัวส่วนมากจะดีขึ้นได้เองอย่างช้าๆภายใน 1 - 3 เดือน แต่การพิจารณา ให้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์เข้าทางหลอดเลือดดำอาจทำให้การมองเห็นกลับมาได้เร็วกว่า ทั้งนี้ขึ้น กับความรุนแรงของอาการและดุลพินิจของแพทย์

3. ในผู้ป่วยประสาทตาอักเสบที่ผลตรวจเอมอาร์ไอสมองพบว่ามีพยาธิสภาพในเนื้อสมองสีขาว ( White matter) แสดงว่า ผู้ป่วยรายนั้นมีโอกาสเกิดโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งสูงกว่าในผู้ป่วยที่ผลตรวจปกติ โดยเพิ่มจาก 25% เป็น 50% ปัจจุบันในผู้ป่วยกลุ่มนี้มีการศึกษาแนะ นำให้ใช้ยา Interferon รักษาเพื่อลดความพิการที่อาจเกิดขึ้นจากโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งที่อาจจะเกิดตามมา แต่ต้องระวังเนื่องจากยานี้ราคาแพงและมีผลข้างเคียงมาก ซึ่งแพทย์จะพิจารณาการรักษาด้วยยานี้เป็นกรณีไป

ประสาทตาอักเสบมีผลข้างเคียงอย่างไร?

อาจพบผลข้างเคียงจากประสาทตาอักเสบได้ เช่น

  • ประสาทตาบางส่วนอาจเสียหายถาวร จนส่งผลให้มีปัญหาตามัวตลอดไป
  • นอกจากนั้น อาจเป็นผลข้างเคียงที่พบเกิดจากการใช้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ต่อเนื่องหรือในปริมาณสูง (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง Corticosteroid) เช่น
    • เป็นสิว
    • ติดเชื้อต่างๆได้ง่าย
    • เป็นแผลในกระเพาะอาหาร
    • มีเลือดออกในทางเดินอาหาร

ประสาทตาอักเสบมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคในประสาทตาอักเสบคือ ผู้ป่วยส่วนมากหรือมากกว่า 90% ของผู้ป่วย สายตาจะกลับคืนปกติหรือเกือบปกติ แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีลานสายตาผิดปกติเล็กน้อยหรือตามัวเล็กน้อย

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยมีโอกาสเกิดประสาทตาอักเสบเป็นซ้ำใน 1 ปี ได้ถึง 50% หรือประ มาณ 2 ใน 3 รายในระยะเวลา 2 ปีนับจากการเกิดโรคครั้งแรก โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทานมีโอกาสเป็นซ้ำสูงกว่า แต่การกลับเป็นซ้ำหลังการรักษาก็มัก จะหายและมีสายตากลับคืนใกล้กับปกติได้

ที่สำคัญอีกประการคือ การเกิดโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง: พบว่าผู้ป่วยที่มีประสาทตาอักเสบ ประมาณร้อยละ 30% มีโอกาสเป็นโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง และกลุ่มที่เกิดโรคปลอก ประสาทเสื่อมแข็งนี้มีโอกาสเกิดประสาทตาอักเสบซ้ำสูงเป็นประมาณ 2 เท่าของผู้ป่วยประสาทตาอักเสบที่ไม่เป็นโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง

การศึกษาถึงความสัมพันธ์ของโรคประสาทตาอักเสบกับโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งในประเทศไทยมีน้อย อาจเป็นด้วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งพบไม่บ่อยนักในบ้านเรา

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคประสาทตาอักเสบ นอกจากจะรักษาเรื่องสายตา/ตามัวแล้ว ยังต้องติดตามว่า จะมีพยาธิสภาพทางสมองที่เกิดจากโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งหรือไม่ อย่างไร ที่จะทำให้ผู้ป่วยมีความพิการเกิดขึ้นจากโรคทางสมองนี้ด้วย เพื่อการป้องกันและ/หรือรักษาแต่เนิ่นๆ

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อมีโรคประสาทตาอักเสบ ได้แก่

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา ใช้ยาหยอดตา ตามแพทย์สั่งให้ครบถ้วน ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
  • รักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุให้ได้ดี เช่น เอชไอวี , โรคออโตอิมมูน
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัดเสมอ เมื่อ

  • อาการต่างๆเลวลง เช่น ตามัวมากขึ้น ปวดตามากขึ้น
  • มีอาการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น ปวดหัวมาก, แขน - ขาอ่อนแรง
  • อาการที่เคยหายไปแล้วกลับมามีอาการอีก เช่น กลับมามีตามัวอีกทั้งๆที่อาการตามัวหายเป็นปกติแล้ว
  • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันประสาทตาอักเสบอย่างไร?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันประสาทตาอักเสบ ดังนั้นการดูแลตนเองที่ดีที่สุด คือ

  • รีบพบแพทย์/จักษุแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันทีเมื่อมีอาการตามัว