ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 97 : การกำจัดขยะติดเชื้อและขยะอันตราย

โรงพยาบาลทุกวันนี้ปฏิบัติต่อผู้ป่วยทุกๆ คน ไปตามแนวความคิดของการป้องกันล่วงหน้าแบบครอบจักรวาล (Universal precaution) กล่าวคือ โรงพยาบาลรับรู้ว่า ผู้ป่วยทุกคนมีโอกาสแพร่กระจายเชื้อติดต่อที่ร้ายแรง รวมทั้งเอชไอวี (HIV) และไวรัสตับอักเสบ (Hepatitis) A, B และ C

การบริหารขยะติดเชื้อ (Infectious waste) และขยะอันตราย (Hazardous waste) เป็นส่วนประกอบสำคัญของสุขอนามัยในโรงพยาบาล (Hospital hygiene) ขยะดังกล่าวเป็นแหล่งรวมเชื้อโรค (Reservoir of pathogenic micro-organisms) ซึ่งเป็นสาเหตุของการปนเปื้อน (Contamination) อันนำไปสู่การติดเชื้อ (Infection)

หากไม่ได้รับการจัดการเพียงพอ เชื้อโรคเหล่านี้ ก็จะแพร่กระจายจากการสัมผัส และผ่านพาหะในอากาศ ในน้ำหรือในอาหาร โดยเฉพาะการแพร่กระจายในโรงพยาบาล (Nosocomial) ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อ

ทีมงานแม่บ้าน จึงต้องตั้งข้อสมมุติฐานว่า ผู้ป่วยทุกคนอาจติดเชื้อ และได้ฆ่าเชื้อ (Disinfect) ที่อยู่ในห้องผู้ป่วยอย่างเหมาะสม ตัวอย่างขยะติดเชื้อได้แก่ เนื้อเยื่อที่ตัดออกจากศัลยกรรม ผลิตภัณฑ์เลือด (Blood products) และสิ่งส่งตรวจ (Specimen) จากห้องปฏิบัติการ (Laboratory)

ในการทำงานร่วมกับคณะกรรมการควบคุมการติดเชื้อ (Infection Control Committee) ทีมงานแม่บ้าน อาจได้รับการมอบหมายให้ฆ่าเชื้อในบางพื้นที่ หรือห้องผู้ป่วย โดยใช้น้ำยาพิเศษฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และเทคนิคบางประการ อาทิ การพ่นหมอกควัน (Misting) ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าได้ผล

ขยะติดเชื้อ (Infectious waste) มักจะเก็บในถุงสีแดงหรือถุง 2 ชั้นที่มีสีแดงเป็นสัญลักษณ์ ทีมงานแม่บ้านต้องสวมถุงมือและระมัดระวังเข็มที่ใช้แล้วทิ้งในถังขยะ การถูกเข็มตำ (Needle sticks) อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต [อาทิ เข็มที่เคยใช้กับผู้ป่วยโรคเอดส์มาก่อน] ส่วนวิธีกำจัดขยะติดเชื้อที่ได้ผลและประหยัดค่าใช้จ่ายที่สุด คือการเผาในเตา (Incineration)

การกำจัดขยะอันตราย อาทิ ยาจากเคมีบำบัด (Chemotherapy) และวัสดุกัมมันตรังสี (Radioactive) ที่ใช้ในแผนกรังสีวิทยา หรือแผนกเวชศาสตร์นิวเคลียร์ (Nuclear medicine) จะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด อาทิ แนวทางปฏิบัติ (Guidelines) ของสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (Environmental Protection Agency : EPA) ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นมาตรฐานที่นานาชาติยึดถือ

แผนกบริการสภาพแวดล้อม (Environmental services) ต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบอย่างสม่ำเสมอ โรงพยาบาลอาจมีเตาเผาของตนเอง หรืออาจมีสัญญาว่าจ้างจากภายนอก (Outsource) ในการกำจัดขยะดังกล่าว แต่ต้องรับผิดชอบต่อการกำจัดขยะ (ซึ่งเกิดในโรงพยาบาล) ที่ไม่ปลอดภัย หรือไม่มีประสิทธิผล

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)