ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 75 : ปฏิบัติการนักบำบัดทางเดินหายใจ

นักบำบัดทางเดินหายใจ (Respiratory therapist) เริ่มปฏิบัติงานด้วยการพิจารณาคำสั่งแพทย์ ทบทวนรายงานทางการแพทย์ (Medical chart) ของผู้ป่วยในเรื่องข้อห้าม (Contra-indication) หรืออันตราย (Hazard) ที่เกี่ยวข้องกับสภาวะผู้ป่วย และการบำบัดที่ได้รับการร้องขอ รวมทั้งการให้ยา (Medication) และอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อหัตถการ (Procedure)

นักบำบัดทางเดินหายใจ จะพูดคุยกับผู้ป่วยเรื่องการบำบัดรักษา ประเมินผู้ป่วยเกี่ยวกับการสนองตอบ (Response) ที่คาดหวังและมิได้คาดหวัง บันทึกหัตถการในผังการแพทย์ของผู้ป่วย แล้วแจ้งต่อบุคลากรที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังอาจปรึกษาหารือกับแพทย์หรือพยาบาลของผู้ป่วย หากจำเป็นต้องเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงการบำบัดรักษา

คำแนะนำของนักบำบัดทางเดินหายใจดังกล่าว มักเป็นที่ยอมรับของทีมนักวิชาชีพดูแลสุขภาพ (Healthcare professionals) ซึ่งจะเคารพปฏิบัติการอย่างอิสระ (Autonomy) ของนักบำบัดทางเดินหายใจ ภายใต้แนวทาง (Guideline) ที่กำหนดไว้ในคู่มือนโยบายและขั้นตอนปฏิบัติ (Policy and Procedure) ของโรงพยาบาล

ในรายละเอียดโรงพยาบาลจะกำหนด ต้นแบบ (Protocol) ในคู่มือดังกล่าว ซึ่งระบุถึงกระบวนการที่ต้องลงมือปฏิบัติ (Course of actions) ในสภาวะที่เป็นภัยคุกคามต่อชีวิตผู้ป่วย รวมทั้งความพยายามที่จะรักษาชีวิตของผู้ป่วยในกรณีที่ไม่มีแพทย์อยู่ ในขณะเดียวกัน ก็ช่วยปกป้องนักบำบัดทางเดินหายใจ ในทางกฎหมายอีกด้วย

เนื่องจากลักษณะของงาน นักบำบัดทางเดินหายใจ ซึ่งได้รับการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี อาจเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจสนองตอบในกรณีฉุกเฉิน เมื่อแพทย์ของผู้ป่วยไม่อยู่ หรือมิได้สั่งอะไรไว้ แต่เป็นสถานการณ์ที่ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจวิเคราะห์และบำบัดรักษาอย่างปัจจุบันทันด่วน โดยที่ผู้ปฏิบัติงานต้องมีอิสระระดับหนึ่ง จึงจะบรรลุผลลัพธ์ (Outcome)

นักบำบัดทางเดินหายใจ จะได้รับการฝึกอบรมในเรื่องการยังชีพขั้นพื้นฐาน (Basic life support) เป็นอย่างน้อย และส่วนใหญ่ได้รับการฝึกอบรมเพิ่มเติมขั้นก้าวหน้าด้านหัวใจ (Advanced cardiac life support : ACLS) เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่ผู้ป่วยโรคหัวใจหายใจติดขัดทันที (Cardio-pulmonary arrest) ในขณะไม่มีแพทย์อยู่ในเหตุการณ์

แม้นักบำบัดทางเดินหายใจ ทำหน้าที่เพียงสนับสนุนแพทย์ แต่ในสหรัฐอเมริกาได้กำหนดให้เป็นวิชาชีพที่ต้องมีใบอนุญาต (Certification) รับรองทักษะและความชำนาญในการกำกับกระบวนการฟื้นคืนชีพผู้ป่วย (Resuscitation)

กระบวนการดังกล่าว เริ่มต้นด้วยการสอดใส่ท่อช่วยหายใจเข้าสู่ร่างกายผ่านลำคอ (Endo-tracheal intubation) การให้ยาหัวใจ (Cardiac medication) ผ่านท่อดังกล่าว การอ่านแปลผล (Interpretation) กิจกรรมที่เกี่ยวกับหัวใจ และการบำบัดด้วยการช็อกหัวใจจากภายนอกร่างกายด้วยเครื่องไฟฟ้า (Cardiac defibrillation) เพื่อควบคุมการเต้นของหัวใจให้เป็นปรกติ

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)