ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 101 : แผนกจ่ายกลางวัสดุปลอดเชื้อ

แผนกจ่ายกลางวัสดุปลอดเชื้อ (Central Sterile Supplies Department : CSSD) เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบต่อการจัดให้มีวัสดุและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ทั้งที่ผ่านกระบวนการทำให้ปลอดเชื้อ และไม่ได้ผ่านการทำให้ปลอดเชื้อ สำหรับใช้ในการดูแลผู้ป่วย ที่ได้รับการผ่าตัด (Surgical) หรือบำบัดรักษา (Medical) ในหอผู้ป่วย (Ward)

หน้าที่ของแผนกนี้ยังรวมถึงการรวบรวมวัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้แล้ว ไปทำความสะอาด (Cleaning) ขจัดการปนเปื้อน (Decontamination) แปรสภาพ (Processing) ซึ่งรวมทั้งการตรวจสอบ (Inspection) การประกอบรวม (Assembly) การบรรจุหีบห่อ (Packaging) โดยที่การแปรสภาพดังกล่าว ต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพ การประหยัด และความปลอดภัยของผู้ป่วย

แผนกนี้ยังรับผิดชอบการผ่านกระบวนการทำให้ปลอดเชื้อ (Sterilization) ของวัสดุและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้ซ้ำได้อีก แล้วยังมีภาระในการเก็บรักษา (Storage) และแจกจ่าย (Distribution) ไปตามหน่วยงานผู้ใช้อีกด้วย โรงพยาบาลบางแห่งจัดให้การการเก็บรักษาและการแจกจ่ายเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารสายโซ่อุปทาน (Supply Chain Management)

วัตถุประสงค์ของแผนกนี้ คือการจัดให้บริการที่ถูกต้องรวดเร็วในการส่งวัสดุและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ต้องใช้ดูแลผู้ป่วย อาทิ ชุดผ้า (Linen packs) อ่างล้าง (Basin) เครื่องมือผ่าตัด (Surgical instruments) กระบอกฉีดยา (Syringe) สายสวน (Catheter) ชุดสายท่อ (Tubing set) และถาดแต่งแผล (Dressing tray) ที่ผ่านกระบวนการทำให้ปลอดเชื้อ (Sterile)

นอกจากนี้ แผนกนี้ยังรับผิดชอบการบันทึกประสิทธิผลของการทำความสะอาด การฆ่าเชื้อ (Disinfecting) และกระบวนการทำให้ปลอดเชื้อ ไปตามมาตรฐาน ตลอดจนติดตามความก้าวหน้าของวิทยาการในด้านนี้ เพื่อปรับปรุงคุณภาพของการให้บริการอย่างต่อเนื่อง

ความรับผิดชอบในเชิงปฏิบัติการ ยังรวมถึงการจัดสถานที่ให้พอเหมาะของแต่ละกระบวนการ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของบุคลากร ระมัดระวังการใช้เคมีภัณฑ์ที่ซักฟอกและฆ่าเชื้อ (Chemical detergents and disinfectants) และสภาวะแวดล้อม อาทิ ปริมาณขุยสำลีหรือเศษผ้า (Lint) ซึ่งอาจเป็นพาหนะให้เชื้อโรค (Microorganism) รุกรานเข้าสู่ (Invade) บาดแผลผู้ป่วย หรือเกิดเป็นสิ่งแปลกปลอมในแผล (Foreign object) ทั้งสองกรณี สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อได้

แผนกนี้ยังต้องดูแลการใช้และบำรุงรักษาเครื่องฆ่าเชื้อด้วยไอน้ำจากความร้อนสูง (Autoclave) เครื่องฆ่าเชื้อด้วยก๊าซเอธิลีน ออกไซด์ (Ethylene oxide : EtO) เครื่องฆ่าเชื้อด้วยก๊าซพลาสมา (Gas plasma) ซึ่งเป็นระบบเย็น และจากการใช้สารเคมีต่างๆ ที่ใช้อบแห้ง (Dry heat) หรืออยู่ในสภาพเหลว อาทิ กลูตาร์อัลดีไฮด์ (Glutaraldehyde) 2%

นอกจากนี้ แผนกนี้ ยังต้องคำนึงหลักการควบคุมอุณหภูมิและความชื้น ระบบระบายอากาศ การเคลื่อนย้าย (Traffic) ในบริเวณจำกัด เป็นต้น เพื่อให้แน่ใจว่า การทำงานของแผนกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สะอาด และปราศจากฝุ่นผงเท่าที่จะเป็นไปได้

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)