ปฏิบัติการในโรงพยาบาล จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 5 : โรงพยาบาลสมัยใหม่ (2)
- โดย ดร. วิทยา มานะวาณิชเจริญ
- 22 พฤศจิกายน 2555
- Tweet
จำนวนสถานพยาบาลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในครึ่งแรกของศตวรรษที่ 19 แม้จำนวนการผ่าตัดก็เพิ่มขึ้นตามในช่วงเวลาดังกล่าว มากกว่าช่วงอื่นๆ ในประวัติศาสตร์การแพทย์ แต่นับเป็น “ยุคมืด” ของประวัติศาสตร์โรงพยาบาล เพราะอัตราการตาย (Mortality) จากการผ่าตัดสูงถึง 90%
เมื่อเปรียบเทียบกับการผ่าตัดของศัลยแพทย์ก่อนหน้านี้ ซึ่งพยายามรักษาแผลผ่าตัดให้สะอาดเท่าที่จะเป็นไปได้ ศัลยแพทย์ในยุคนี้ ได้รับอิทธิพลจากแนวความคิดของการผลิตหนอง (Pus Production) และการขับหนองออก (Suppuration Discharge) ว่าเป็นสิ่งที่พึงประสงค์ ซึ่งเป็นแนวความคิดที่ผิด จนมีอัตราการตายที่สูงมากในทางปฏิบัติ
ศัลยแพทย์สวมใส่ชุดเสื้อกาวน์ (Gown) เป็นเดือนๆ ในการผ่าตัดหลายๆ ครั้งก่อนที่จะมีการเปลี่ยนชุด เพื่อนำไปซักล้าง เช่นเดียวกับชุด “ผ้าขาว” หรือผ้าปูเตียงที่นอน (Linen) ของผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัด [ก็มิได้ถอดซักทันทีหลังการผ่าตัดผู้ป่วยแต่ละคน แต่ใช้ปะปนกันหลายครั้ง ก่อนนำไปซักล้าง]
ดังนั้น เนื้อตายเน่าแห้ง (Gangrene) การตกเลือด (Hemorrhage) และการติดเชื้อ (Infection) เป็นสภาพที่มักพบเห็นตามหอผู้ป่วย ทำให้พยาบาลต้องสูดดมและสวมหน้ากากที่ฉีดพ่นด้วยน้ำหอมในขณะปฏิบัติหน้าที่ อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลต่างๆ ก็พยายามปรับปรุงสภาพการณ์ เพื่อลบล้าง “ภาพลักษณ์” ของความสกปรกรุงรัง
ในช่วงปลายสงครามกลางเมือง (Civil War) ในสหรัฐอเมริกา รัฐบาลกลาง (Federal Government) ได้สร้างโรงพยาบาล [สนาม] ขนาดยักษ์ที่รองรับทหารผู้บาดเจ็บจากสงครามได้มากกว่า 1 ล้านคน โดยมีจำนวน 130,000 เตียง ในขณะนั้นแม้จะมีการยอมรับ “ทฤษฏีการก่อให้เกิดโรค” (Germ theory) แต่ก็ยังมิได้นำไปปฏิบัติ
ในเวลาไล่เลี่ยกัน สหรัฐอเมริกาได้รับอิทธิพลจากแนวทางปฏิบัติของฟลอเร็นซ์ ไนติงเกล (Florence Nightingale) [สตรีชาวอังกฤษ] ในทศวรรษ 1830 ผู้เดินทางไปเข้ารับการฝึกอบรมเป็นพยาบาล เธอได้บันทึกรายละเอียดการฝึกอบรม โดยเฉพาะแนวทางปฏิบัติที่ว่าด้วยสุขอนามัย (Hygiene)
ในปี ค. ศ. 1854 รัฐบาลอังกฤษได้ส่งเธอไปช่วยปรับปรุงสภาวะในการพยาบาลผู้ป่วยและทหารที่บาดเจ็บจากสงคราม Crimea [ซึ่งเป็นสงครามที่อังกฤษ ฝรั่งเศส และพันธมิตรสู้รบกับรัสเชีย] เธอพบว่า จำนวนผู้นอนรอความตายในสนามรบที่โสโครกไปด้วยหนอนพยาธิ (Vermin) ลดลงทันที หลังจากที่เธอทำความสะอาดสถานที่ และจัดระเบียบการพยาบาล นอกเนือไปจากห้องครัวของโภชนาการ สถานซักล้าง “ผ้าขาว” และแผนกเวชภัณฑ์
ผลงานดีเด่นของเธอ คือการเก็บสถิติติดตามเรื่องการติดเชื้อ และการค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของอัตราการตายในสงครามไครเมียดังกล่าว นับเป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่ประยุกต์ใช้กับวงการแพทย์รุ่นแรกๆ ของการค้นหาเชื้อโรคต้นเหตุ และพัฒนาแผนการบำบัดรักษา ก่อนการค้นพบนานานวัตกรรมที่ช่วยชีวิตในเวลาต่อมา
การจัดระเบียบปฏิบัติการในสถานยาบาล ทำให้เธอได้รับการยกย่องในเรื่องการเป็นผู้บริหารโรงพยาบาลที่แท้จริงคนแรกของวงการ และในเรื่องการลดจำนวนอุบัติการณ์ (Incidence) ของเกิดเชื้อโรค และอัตราการตายของผู้ป่วยจากแนวทางปฏิบัติงานด้วยสุขอนามัย ในการพยาบาลผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิผล
ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ
แหล่งข้อมูล:
- Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA: Jones & Bartlett Learning.