ปฏิบัติการในโรงพยาบาล จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 14 : ศูนย์อุบัติการณ์ร้ายแรง

ในสหรัฐอเมริกา มีศูนย์อุบัติการณ์ร้ายแรง (Trauma Center) สำหรับรับมือกับกรณีฉุกเฉินที่ร้ายแรง บาดเจ็บสาหัส และมีภัยคุกคามถึงชีวิต ศูนย์ดังกล่าวมีขั้นตอนการดูแลรักษาอยู่ 4 ระดับ โดยระดับที่ 4 เป็นขั้นตอนการประเมินความร้ายแรงของกรณี ซึ่งมีแพทย์ดูแลฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง และทำงานใกล้ชิดกับศูนย์อุบัติการร้ายแรงระดับที่ต่ำลงมาเพื่อการส่งต่อ (Refer)

ในระดับที่ 3 ศูนย์อุบัติการณ์ร้ายแรง มีขีดความสามารถในการผ่าตัดฉุกเฉิน ดูแลการผ่าตัดต่อเนื่อง (Continuous Surgery) การกู้ชีพ (Resuscitation) และต้นร่าง (Protocol) มาตรฐานของการรักษาผู้ป่วยที่จะได้รับการส่งต่อไปยังศูนย์อุบัติการณ์ร้ายแรงระดับที่ 2 ซึ่งให้การดูแลค่อนข้างสมบูรณ์ (Comprehensive care)

ในระดับที่ 1 ศูนย์อุบัติการณ์ร้ายแรงให้การดูแลทั้งหมด (Total care) ในทุกๆ แง่มุมของการบาดเจ็บ ซึ่งมักเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลในสังกัดคณะแพทยศาสตร์ ศูนย์ดังกล่าวมีเฮลิคอปเตอร์หรือเครื่องบิน ในการขนส่งผู้ป่วยทางอากาศจากโรงพยาบาลต่างๆ ที่ไม่มีขีดความสามารถรับมือกับกรณีฉุกเฉินที่ร้ายแรง

เนื่องจากศูนย์อุบัติการณ์ร้ายแรงระดับที่ 1 เป็นสถานที่รับต่อสุดท้าย และสังกัดโรงเรียนแพทย์ ผู้ป่วยจึงได้รับการดูแลจากแพทย์ (ซึ่งได้รับการรับรอง) และนักศึกษาแพทย์ (ซึ่งกำลังจะได้รับการรับรอง) วุฒิบัตรเฉพาะทาง อาทิ การผ่าตัดฉุกเฉินร้ายแรง (Trauma surgery) และอนุมัติบัตรความเชี่ยวชาญอื่นๆ

ความแตกต่างระหว่างแผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาล และศูนย์อุบัติการณ์ร้ายแรง จึงอยู่ที่ความซับซ้อนของกรณี แต่ถ้าไม่มีศูนย์อุบัติการณ์ร้ายแรงอยู่ใกล้สถานที่เกิดเหตุ ผู้ป่วยมักถูกนำตัวไปยังแผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลก่อน เพื่อให้การดูแลรักษาเบื้องต้น จนกว่าอาการจะทุเลา หรือเริ่มทรงตัว (Stabilization) แล้วค่อยลำเลียงส่งต่อยังศูนย์อุบัติการณ์ร้ายแรง

การลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศ มักอาศัยเฮลิคอปเตอร์หรือเครื่องบินที่ติดตั้งอุปกรณ์กู้ชีพต่างๆ เหมือนในรถพยาบาล เรียกว่า เป็น ”เที่ยวบินกู้ชีพ” (Life flight) โดยมีแพทย์และพยาบาลที่ได้รับการฝึกอบรมให้ดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินโดยเฉพาะ ในช่วง “ชั่วโมงวิกฤต” (Golden Hour) ซึ่งเป็น 60 นาทีแรกของการช่วยชีวิตผู้ป่วยที่กำหนดโอกาสความอยู่รอด [หรือไม่รอด]

บทเรียนจากสงครามเวียดนาม ทำให้สหรัฐอเมริกาพัฒนารูปแบบของการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน ในกรณีผู้ป่วยบาดเจ็บสาหัสต้องได้รับการดูแลอย่างฉับพลันในสถานที่ใกล้เคียงที่สุด เพื่อให้อาการเริ่มทรงตัว ก่อนจะลำเลียงไปยังสถานพยาบาลที่เหมาะสมต่อไป จึงเป็นต้นกำเนิดของศูนย์อุบัติการณ์ร้ายแรงประมาณ 600 แห่ง หรือประมาณ 10% ของจำนวนโรงพยาบาลทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา

ในปัจจุบันแผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาล หรือศูนย์อุบัติการณ์ร้ายแรง มีแพทย์ พยาบาล และบุคลากรอื่นๆ ที่ได้รับการฝึกฝนอบรมความเชี่ยวชาญเฉพาะของเวชศาสตร์ฉุกเฉิน (Emergency medicine) พร้อมอุปกรณ์ทันสมัยในการตรวจวิเคราะห์และดูแลรักษาผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง และสัปดาห์ละ 7 วัน

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)