บุหรี่ไร้คุณ คุณไร้บุหรี่ (ตอนที่ 6)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 21 สิงหาคม 2562
- Tweet
เช่นเดียวกัน ผู้สูบบุหรี่มือสอง (Secondhand smoke) หรือผู้ที่ไม่ได้สูบแต่มีการสูดเอาควันบุหรี่เข้าสู่ร่างกายก็มีโอกาสเป็นโรคเช่นเดียวกับผู้ที่สูบบุหรี่ปกติทั่วไป โดยมีการประเมินว่า ในแต่ละปีมีชาวอเมริกันที่เป็นผู้สูบบุหรี่มือสองซึ่งเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดประมาณ 7,300 ราย และโรคหัวใจประมาณ 34,000 ราย
ส่วนในเด็กที่เป็นผู้สูบบุหรี่มือสองนั้น ก็มีความเสี่ยงของการเป็นโรคไหลตาย หูติดเชื้อ ปอดอักเสบ (Pneumonia) หลอดลมอักเสบ (Bronchitis) หอบหืด ปอดโตช้ากว่าปกติ ทำให้มีอาการไอ หายใจมีเสียงหวีด หายใจไม่ออก
ยาสูบไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดก็ตาม ล้วนแล้วแต่เป็นอันตรายและทำให้เสพติด (Addictive) ได้ง่าย ไม่เพียงแต่ในรูปของบุหรี่เท่านั้น ยาสูบยังมีในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นอันตรายทั้งสิ้น กล่าวคือ
- ยาสูบชนิดที่ไม่มีควัน (Smokeless tobacco) เป็นรูปแบบหนึ่งของยาสูบที่ไม่ต้องเผาไหม้ ซึ่งรวมถึง ยาสูบที่ใช้เคี้ยว (Chewing tobacco) ยาบ้วน (Spit or spitting tobacco) สนูส (Snus) หรือยาสูบที่เป็นผงปั้นเป็นก้อนกลมวางใต้ลิ้นหรือบรรจุลงในถุงกระดาษเล็กๆ คล้ายถุงชาและนำมาแปะไว้บริเวณเหงือก และ ยานัตถุ์ (Snuff) เป็นต้น
- ซิการ์ (Cigars) ซึ่งอาจมีการปรุงรสเพื่อความชอบของผู้สูบ ทั้งนี้ มีงานวิจัยที่พบว่า การสูบซิการ์จะได้รับสารพิษที่เป็นอันตรายมากกว่าการสูบบุหรี่ทั่วไป
- ไปป์ (Pipes) หรือกล้องสูบยา
- มอระกู่ (Hookah) หรือกล้องสูบยาวที่ผ่านหม้อน้ำ (Waterpipe)
- ยาเส้นบิดิ้ส์ (Bidis) ที่ปรุงแต่งกลิ่นรส
- กะเรเต็ก (Kretek) หรือ บุหรี่กานพลู
- บุหรี่ไฟฟ้า (E-cigarette / E-vaporizers)
ทั้งนี้ การเลิกยาสูบจะให้ผลดีต่อสุขภาพที่เห็นผลทันทีและในระยะยาว กล่าวคือ
- อัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตจะต่ำลงกว่าขณะที่กำลังสูบบุหรี่
- ภายในไม่กี่ชั่วโมง ระดับคาร์บอนมอนอกไซด์ในเลือดจะเริ่มลดลง
- ภายในไม่กี่สัปดาห์ ผู้ที่หยุดสูบจะมีการไหลเวียนของเลือดที่ดีขึ้น เสมหะ (Phlegm) น้อยลง ไม่ไอหรือมีเสียงหายใจหวีดบ่อย
- ภายในไม่กี่เดือนที่เลิกสูบ การทำงานของปอดจะดีขึ้น
- ภายในไม่กี่ปีของการหยุดสูบ โอกาสในการเป็นโรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคเรื้อรังต่างๆ จะต่ำลงกว่าตอนที่สูบ
แหล่งข้อมูล:
- Harms of Cigarette Smoking and Health Benefits of Quitting. https://www.bbc.com/news/health-48824720[2019, August 19].