บีโคลเมทาโซน (Beclomethasone)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 20 พฤษภาคม 2558
- Tweet
- บทนำ
- บีโคลเมทาโซนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- บีโคลเมทาโซนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- บีโคลเมทาโซนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- บีโคลเมทาโซนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมพ่นยา/ทายาควรทำอย่างไร?
- บีโคลเมทาโซนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้บีโคลเมทาโซนอย่างไร?
- บีโคลเมทาโซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาบีโคลเมทาโซนอย่างไร?
- บีโคลเมทาโซนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคหืด (Asthma)
- โรคภูมิแพ้ (Allergy)/
- โรคภูมิแพ้หูคอจมูก (ENT and Allergy)
- กลูโคคอร์ติคอยด์ (Glucocorticoid)/
- ไซนัสอักเสบ โพรงอากาศข้างจมูกอักเสบ (Sinusitis)/
- ยาคลายเครียด ยากล่อมประสาท (Transquilizer Drugs)/
- ไข้ละอองฟาง (Hay fever)/
บทนำ
ยาบีโคลเมทาโซน (Beclomethasone) เป็นยาตัวหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มกลูโคคอร์ติคอยด์(Glucocorticoid) ถูกนำมาผลิตเป็นยาพ่น - สเปรย์ เพื่อรักษาอาการโรคหืด อาการแพ้ในระบบทางเดินหายใจอาทิ ไข้ละอองฟางและภาวะไซนัสอักเสบ รวมถึงใช้รักษาอาการของแผลร้อนใน (Aphthous ulcers) สำหรับรูปแบบที่เป็นยาครีม ยาขี้ผึ้ง ใช้ทาเพื่อรักษาอาการอักเสบทางผิวหนังเช่น ผื่นผิวหนังอักเสบ (Eczema) แต่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับโรคสะเก็ดเงิน (Psoria sis) ด้วยก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะกลับมาเป็นใหม่หลังจากหยุดใช้ยา
นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาเรื่องการกระจายตัวของยานี้เมื่อถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายพบว่า ตัวยาประมาณ 87% จะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนในกระแสเลือด และถูกเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีโดยเอนไซม์ที่มีชื่อว่า เอสเทอเรส (Esterase, เอนไซม์ที่มีหน้าที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยน แปลงทางเคมีของสารต่างๆหลายชนิด) ซึ่งพบได้ตามเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกาย โดยปกติคนเราต้องใช้เวลาประมาณ 2.8 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยาบีโคลเมทาโซน 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านไปกับอุจจาระและปัสสาวะ
ด้านผลข้างเคียงเด่นๆของยานี้ โดยเฉพาะยาพ่นสเปรย์เข้าปาก - จมูกที่มักพบเห็นได้แก่ ก่อให้เกิดอาการไอ และส่งผลให้เกิดการติดเชื้อราแคนดิดา (Candida) ในโพรงจมูก ปากและคอได้ง่าย เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อราดังกล่าว แพทย์จะแนะนำให้บ้วนปากหลังการพ่นยาสักพักหนึ่ง
ยาบีโคลเมทาโซนเป็นยาที่องค์การอนามัยโลกรับรองและระบุให้มีไว้ในสถานพยาบาล ซึ่งเพื่อความเหมาะสมและปลอดภัย ก่อนการใช้ยาจำเป็นต้องให้แพทย์ผู้รักษาเป็นผู้วินิจฉัยคัดกรองการใช้กับผู้ป่วยเท่านั้น
บีโคลเมทาโซนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาบีโคลเมทาโซนมีสรรพคุณดังนี้เช่น
- รักษาภาวะจมูกอักเสบ มีภาวะคั่งของน้ำมูก
- รักษาอาการโรคหืด
- รักษาอาการอักเสบทางผิวหนังโดยใช้ในรูปยาครีม ยาขี้ผึ้งทาภายนอก
บีโคลเมทาโซนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาบีโคลเมทาโซนคือ ลดการอักเสบของเนื้อเยื่อจากการมาชุมนุมของเม็ดเลือดขาวรวมถึงเซลล์ที่มีชื่อว่า ไฟโบรบลาสต์ (Fibroblast) นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการเปลี่ยน แปลงด้านการลำเลียงสารเคมีต่างๆที่หลอดเลือดฝอย และเพิ่มความคงตัวของไลโซโซม (Lyso some) ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้ย่อยสลายอนุภาคหรือเซลล์ที่ตายแล้ว จากกลไกเหล่านี้ทำให้ยาบีโคลเมทาโซนมีฤทธิ์รักษาตามสรรพคุณ
บีโคลเมทาโซนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาบีโคลเมทาโซนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้เช่น
- ยาพ่นปาก ขนาดความแรง 50, 200 และ 250 ไมโครกรัม
- ยาพ่นจมูก ขนาดความแรง 50 และ 100 ไมโครกรัม
- ยาครีมใช้ทาภายนอก ขนาดความเข้มข้น 0.025 % (0.25 มิลลิกรัม/กรัม)
บีโคลเมทาโซนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาบีโคลเมทาโซนมีขนาดการบริหารยา/การใช้ยาขึ้นกับอาการของแต่ละโรค จึงขึ้นกับดุลพิ นิจของแพทย์ในการใช้ยา ในที่นี้ขอยกตัวอย่างขนาดการใช้ยาสำหรับรักษาอาการหอบเหนื่อย/หายใจลำบากจากโรคหืดดังนี้เช่น
- ผู้ใหญ่: พ่นเข้าทางปากครั้งละ 200 - 400 ไมโครกรัมวันละ 2 ครั้งเช้า – เย็น หากจำเป็น อาจปรับขนาดการใช้ยาเป็น 1,600 ไมโครกรัม/วัน
- เด็กอายุ 6 - 12 ปี: พ่นเข้าทางปากครั้งละ 200 ไมโครกรัมวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็น กรณีที่มีอาการรุนแรงอาจปรับขนาดการพ่นยาเป็น 800 ไมโครกรัม/วันโดยปรับการพ่นเป็น 2 - 4 ครั้ง อนึ่ง ขนาดการใช้ยาข้างต้นทั้งผู้ใหญ่และเด็ก สามารถปรับลดการใช้ยาลงเมื่ออาการหอบหืดดีขึ้นแต่ต้องเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษา
- เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี: ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดของการใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้ การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
*****หมายเหตุ:
- ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาบีโคลเมทาโซน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาบีโคลเมทาโซนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมพ่นยา/ทายาควรทำอย่างไร?
หากลืมพ่นยา/ทายาบีโคลเมทาโซนสามารถพ่นหรือทายาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียง กับการพ่นหรือทายาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
บีโคลเมทาโซนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาบีโคลเมทาโซนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น อาจพบการติดเชื้อรากลุ่มแคนดิดาภายในช่องปาก (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง เชื้อราช่องปาก) รวมถึงที่กล่องเสียงและในคอ ไอ เจ็บคอ มีภาวะเสียงแหบ ระคายเคืองในลำ คอ อาการข้างเคียงที่พบได้แต่น้อยกว่าเช่น ผื่นคัน ลมพิษ ผิวเป็นจ้ำบวม และมีภาวะหลอดลมหดเกร็งตัว/หายใจลำบาก
มีข้อควรระวังการใช้บีโคลเมทาโซนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาบีโคลเมทาโซนดังนี้เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้เป็นวัณโรคปอด
- ผู้ป่วยควรได้รับการฝึกการใช้ยาพ่นจากสถานพยาบาล ทั้งนี้เพื่อความมั่นใจในการใช้งาน รวมถึงประสิทธิผลของการรักษา
- ยาบีโคลเมทาโซนไม่เหมาะที่จะใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการโรคหืดแบบเฉียบพลัน แต่เหมาะใช้ในการรักษาแบบป้องกัน ด้วยผลการรักษาของยานี้จะแสดงฤทธิ์ได้ดีเมื่อใช้ยาไปแล้ว 2 - 3 วัน
- หลังการพ่นยานี้สักพัก ควรบ้วนน้ำล้างปากเพื่อลดภาวะการติดเชื้อราภายในช่องปากและลำคอ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง เชื้อราช่องปาก)
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ด้วยยานี้ก่อให้เกิดความพิการของตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ทดลอง อีกทั้งยังขับผ่านออกมากับน้ำนมมารดาได้อีกด้วย
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาบีโคลเมทาโซนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
บีโคลเมทาโซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาบีโคลเมทาโซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาบีโคลเมทาโซนร่วมกับยา Mifepristone ด้วยจะเกิดการรบกวนและลดฤทธิ์ในการรักษาของบีโคลเมทาโซน หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดและความถี่ของการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป
- การใช้ยาบีโคลเมทาโซนร่วมกับยาบางกลุ่มสามารถเพิ่มความรุนแรงจากอาการข้างเคียงของยาบีโคลเมทาโซนเช่น ตัวบวม น้ำหนักเพิ่ม ความดันโลหิต และน้ำตาลในเลือดสูง กล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึมเศร้า มีสิวขึ้น ผิวหนังบาง กระดูกพรุน เกิดต้อกระจก ประจำเดือนผิดปกติ (ในสตรี) และอื่นๆ กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดและความถี่ของการใช้ยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณีไป และยากลุ่มดังกล่าวเช่น Amprenavir, Atazanavir, Boceprevia, Fosamprenavir, Ritonavir, Ketoconazole, Itraconazole, Clarithromycin และ Erythromycin
ควรเก็บรักษาบีโคลเมทาโซนอย่างไร?
ควรเก็บยาบีโคลเมทาโซนภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่อง แช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
บีโคลเมทาโซนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาบีโคลเมทาโซนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นๆและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Beclomet Easyhaler (บีโคลเมท อีซีฮาเลอร์) | Orion |
Beclomet Nasal Aqua (บีโคลเมท นาซอล อควา) | Orion |
Beclomethasone Jewim (บีโคลเมทาโซน เจวิม) | Jewim |
Beclosal (บีโคลซอล) | Medispray |
Beconase Aqueous (บีโคนาส เอเควียส) | GlaxoSmithKline |
Bemase (บีแมส) | Okasa Pharma |
Clenil (คลีนิล) | Chiesi |
Qvar (คิววาร์) | iNova |
Rino Clenil (รีโน คลีนิล) | Chiesi |
บรรณานุกรม
- http://en.wikipedia.org/wiki/Glucocorticoid[2015,May9]
- http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=beclomethasone [2015,May9]
- http://en.wikipedia.org/wiki/Beclometasone_dipropionate[2015,May9]
- http://en.wikipedia.org/wiki/Lysosome#Function_and_structure[2015,May9]
- http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Beclomet%20Easyhaler/?type=full#Indications[2015,May9]
- http://www.drugs.com/drug-interactions/beclomethasone-index.html?filter=3&generic_only=[2015,May9]
- http://www.mimaki-family-japan.com/products/detail.php?product_id=33085[2015,May9]