บวมน้ำ (Edema)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 18 มิถุนายน 2564
- Tweet
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- บวมน้ำเกิดได้อย่างไร?
- อะไรเป็นสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงของบวมน้ำ?
- มีอาการอื่นร่วมกับบวมน้ำไหม?
- แพทย์วินิจฉัยสาเหตุบวมน้ำอย่างไร?
- รักษาบวมน้ำอย่างไร?
- บวมน้ำรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- ป้องกันบวมน้ำอย่างไร?
- บรรณานุกรม
- โรคหัวใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด (Heart disease หรือ Cardiovascular disease)
- โรคตับ (Liver disease)
- โรคตับแข็ง (Liver cirrhosis)
- โรคไต (Kidney disease)
- ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจวาย (Heart failure)
- มะเร็ง (Cancer)
- โลหิตจาง เลือดจาง ซีด (Anemia)
- ยาขับปัสสาวะ (Diuretics Drugs)
- โรคไตเรื้อรัง (Chronic kidney disease)
- ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ (Venous thrombosis)
บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
บวมน้ำ(Edema) คือ อาการเกิดจากน้ำในหลอดเลือดแทรกซึมออกจากหลอดเลือดเข้ามาอยู่ระหว่างเซลล์ของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันซึ่งอยู่รอบๆหลอดเลือดนั้นๆจึงส่งผลให้เนื้อเยื่อส่วนนั้นๆบวมใหญ่ขึ้น
บวมน้ำ ไม่ใช่โรคแต่เป็นอาการ(โรค-อาการ-ภาวะ)ซึ่งบ่อยครั้งเป็นอาการตามธรรมชาติ เช่น ตาบวมหลังร้องไห้, หรือเป็นอาการหนึ่งของโรค/ภาวะผิดปกติต่างๆ เช่น โรคตับแข็ง โรคไต ภาวะหัวใจล้มเหลว, อาจบวมได้ ทั้งตัว, หลายๆตำแหน่งในร่างกายพร้อมกัน, หรือเพียงเฉพาะจุด/ตำแหน่งเดียว, ขึ้นกับสาเหตุและความรุนแรงของสาเหตุ, ซึ่งโดยทั่วไป มักพบบ่อยที่สุดในส่วน เท้า ข้อเท้า และขา, ที่พบบ่อยรองลงมาคือ ใบหน้าโดยเฉพาะรอบๆตา, ริมฝีปาก, มือ, และนิ้วมือ
บวมน้ำ/อาการบวมน้ำ เป็นอาการพบบ่อยทั่วโลก ไม่ขึ้นกับเชื้อชาติ แต่ยังไม่มีรายงานสถิติเกิดในภาพรวมจากทุกสาเหตุ พบทุกอายุตั้งแต่เด็กแรกเกิด(นิยามคำว่าเด็ก)จนถึงผู้สูงอายุ แต่พบบ่อยในวัยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ โอกาสเกิดบวมน้ำใกล้เคียงกันทั้งเพศหญิงและเพศชาย
บวมน้ำเกิดได้อย่างไร?
บวมน้ำ/อาการบวมน้ำเกิดจากหลายกลไก ที่พบบ่อย คือ จากความดันในหลอดเลือดเพิ่มสูงขึ้น, จากร่างกายขาดโปรตีน, จากความผิดปกติของผนังหลอดเลือด, และจากมีน้ำคั่งในหลอดเลือดมากกว่าปกติ
ก. จากความดันในหลอดเลือดสูงขึ้น: เช่น
- ความดันในหลอดเลือดแดงสูงขึ้น: เช่น โรคไตที่ส่งผลให้ไตสร้างฮอร์โมนควบคุมน้ำและเกลือโซเดียมผิดปกติ ส่งผลให้เกิดการดูดซึมน้ำและเกลือโซเดียมกลับเข้าร่างกาย/เข้าหลอดเลือดสูงกว่าปกติ
- ความดันในหลอดเลือดเลือดดำสูงขึ้นจากสาเหตุต่างๆ: เช่น มีการอุดตันทางเดินของหลอดเลือดดำจากภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ หรือจากภาวะหลอดเลือดขอด
- การไหลเวียนเลือดลดลง: เช่นจาก ยืนหรือนั่งห้อยเท้านานๆ, โรคหัวใจและหลอดเลือด, การตั้งครรภ์โดยเฉพาะครรภ์ในระยะ3เดือนสุดท้ายซึ่งครรภ์จะโตจนกดทับหลอดเลือดดำใหญ่ในช่องท้อง
ข. ร่างกายขาดสารโปรตีน: โปรตีนในหลอดเลือดโดยเฉพาะชนิดแอลบูมินเป็นตัวอุ้มน้ำให้คงอยู่ในหลอดเลือด เมื่อร่างกายขาดโปรตีนหรือมีปริมาณโปรตีนในเลือดลดต่ำลง น้ำในหลอดเลือดจึงซึมออกจากหลอดเลือดเข้าไปอยู่ในเนื้อเยื่อเกี่ยวพันรอบๆหลอดเลือดได้ง่าย เช่น
- ภาวะขาดอาหาร
- โรคตับแข็งที่ตับสร้างโปรตีนได้ลดลง
- โรคไตเรื้อรัง หรือ โรคไตรั่วที่ไตไม่สามารถดูดซึมโปรตีนในน้ำปัสสาวะกลับเข้าสู่หลอดเลือด/ร่างกายได้ ร่างกายจึงสูญเสียโปรตีนออกทางปัสสาวะมากกว่าปกติส่งผลให้ปริมาณโปรตีนในเลือดต่ำลง
- ภาวะมีแผลไหม้ขนาดใหญ่ ร่างกายจะเสียโปรตีนผ่านทางน้ำเหลืองของรอยแผลไหม้ ส่งผลให้โปรตีนในเลือดต่ำ
ค. ความผิดปกติของหลอดเลือด/ผนังหลอดเลือด: ส่งผลให้เกิดน้ำฯซึมผ่านผนังหลอดเลือดเข้าสู่เนื้อเยื่อเกี่ยวพันรอบหลอดเลือดนั้นๆ เช่น
- ภาวะหลอดเลือดอักเสบ
- ผนังหลอดเลือดบาดเจ็บ เช่น จากแรงกระแทก, จากการขยี้ตา
- โรคภูมิต้านตนเอง/โรคออโตอิมมูน
- โรคภูมิแพ้ หรือ อาการแพ้ต่างๆ
- หลอดเลือดขยาย เช่น ผลข้างเคียงจากยา, สารเคมี,
- หลอดเลือดแตก บาดเจ็บ เช่น แรงกระแทก แรงขยี้ตา
ง. มีน้ำคั่งในหลอดเลือดมากกว่าปกติ: จึงส่งผลให้มีน้ำซึมจากหลอดเลือดเข้าเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ส่งผลให้เกิดอาการบวม เช่น
- กินอาหารเค็มจัดต่อเนื่องเพราะเกลือโซเดียม/เกลือแกงเป็นสารอุ้มน้ำ
- ผลของฮอร์โมนบางชนิด เช่น ฮอร์โมนเพศ เช่นจาก ยาเม็ดคุมกำเนิด, ฮอร์โมนจากการตั้งครรภ์ เช่น ฮอร์โมนรก, ฮอร์โมนช่วงก่อนมีประจำเดือน
อะไรเป็นสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงของบวมน้ำ?
สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดบวมน้ำ/อาการบวมน้ำ ที่พบบ่อย คือ
- การยืน, นั่ง , เดิน นานๆ
- ช่วงก่อนมีประจำเดือน, ช่วงการตั้งครรภ์ จากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศ ส่งผลให้มีน้ำคั่งในเลือดสูงขึ้น
- การติดเชื้อต่างๆ
- การแพ้ยา หรือแพ้สารต่างๆ รวมทั้งการแพ้พิษสัตว์ และแมลง
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันบางชนิด, ยาฮอร์โมนบางชนิด
- โรคความดันโลหิตสูง
- ภาวะหัวใจล้มเหลว
- โรคไตเรื้อรัง
- โรคตับแข็ง
- ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ
- โรคหลอดเลือดขอด
- โรคต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ/ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน
- กินอาหารเค็มจัด(เกลือโซเดียม/เกลือแกง)ต่อเนื่อง
มีอาการอื่นร่วมกับบวมน้ำไหม?
อาการอื่นๆที่อาจเกิดร่วมกับบวมน้ำ/อาการบวมน้ำ คือ
ก. อาการจากตัวของบวมน้ำ/อาการบวมน้ำ: ซึ่งจะคล้ายกันในทุกผู้ป่วย เช่น
- เห็น/รู้สึกว่าเนื้อเยื่อ/อวัยวะส่วนนั้นใหญ่ขึ้น
- เมื่อเอานิ้วมือกด ผิวหนังส่วนที่บวม มักบุ๋มลง และยังคงบุ๋มต่ออีกระยะเวลาหนึ่งหลังเลิกกด
- รู้สึกแน่น/คับบริเวณที่บวม เช่น ใส่แหวนแล้วคับเมื่อนิ้วบวม, สวมรองเท้าคับเมื่อเท้าบวม
- ชาบริเวณที่บวมจากปริมาณน้ำที่บวมกดทับปลายประสาท
- เจ็บปวดบริเวณที่บวมน้ำจากเส้นประสาท/เนื้อเยื่อส่วนนั้นถูกกดทับ
- รู้สึกหนักส่วนที่บวม เช่น หนักขาเมื่อขาบวม
- เป็นตะคริวได้ง่ายเพราะขาดเลือดหมุนเวียนโดยเฉพาะที่ขาจากการบวมกดหลอดเลือดให้ตีบแคบลง
- เจ็บ แดง ร้อน เมื่อมีอาการอักเสบติดเชื้อในส่วนที่บวม และอาจมีไข้ร่วมด้วย
- น้ำหนักตัวเพิ่มรวดเร็วเมื่อบวมน้ำมากต่อเนื่อง เช่น ท้องบวม/ท้องมาน
ข. อาการจากสาเหตุ: ซึ่งจะต่างกันในแต่ละผู้ป่วยขึ้นกับแต่ละสาเหตุ เช่น
- เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย เมื่อมีสาเหตุจากภาวะหัวใจล้มเหลว
- ท้องบวม แน่นอึดอัด เมื่อเกิดจากมีน้ำในท้อง เช่น โรคตับแข็ง, โรคมะเร็งที่ลุกลามเข้าเยื่อบุช่องท้อง
- เห็นหลอดเลือดดำโป่งพองทั่วไปเมื่อเกิดจากหลอดเลือดขอด
- มีอาการผิดปกติทางปัสสาวะ เช่น อาจปัสสาวะมาก หรือ น้อยผิดปกติเมื่อเกิดจากโรคไตเรื้อรัง
แพทย์วินิจฉัยสาเหตุบวมน้ำอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยบวมน้ำ/อาการบวมน้ำและหาสาเหตุได้จาก
- ซักถามประวัติอาการและอาการร่วมต่างๆของผู้ป่วย ประวัติการเจ็บป่วยต่างๆ ประวัติกินยาต่างๆรวมถึงสมุนไพร การแพ้ยา
- ตรวจดูและคลำตำแหน่งที่บวม
- การตรวจร่างกาย
- การตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติมตามอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น
- ตรวจภาพอวัยวะที่บวมด้วย เอกซเรย์, อัลตราซาวด์, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์(ซีทีสแกน), และ/หรือ เอมอาร์ไอ
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจี กรณีสงสัยสาเหตุจากโรคหัวใจและหลอดเลือด
- ตรวจเลือดดู โรคซีด/ตรวจซีบีซี, การทำงานของตับ หรือไต, และระดับโปรตีน
รักษาบวมน้ำอย่างไร?
แนวทางการรักษาบวมน้ำ/อาการบวมน้ำ คือ การรักษาอาการบวมน้ำร่วมกับการรักษาสาเหตุ
ก. การรักษาอาการบวมน้ำ: ทั่วไป เช่น
- พักการใช้เนื้อเยื่อ/อวัยวะส่วนที่บวม
- ถ้าเกิดที่เท้า/ขา เมื่อนั่งหรือนอนให้ยกเท้าสูง
- ถ้าบวมในวงกว้าง หรือบวมทั้งตัวแพทย์อาจให้ยาขับปัสสาวะ(ยาขับน้ำ)ร่วมด้วย
- แนะนำ/ปรับพฤติกรรมการบริโภค เช่น
- กินอาหารโปรตีนสูงขึ้นกรณีบวมจากขาดโปรตีน
- จำกัดการดื่มน้ำ เช่น กรณีภาวะหัวใจล้มเหลว
- จำกัดอาหารเค็ม(เกลือโซเดียม)
- แนะนำการใส่เครื่องนุ่งห่มที่หลวม สบาย ไม่ให้คับ บีบรัด
ข. การรักษาสาเหตุ: ซึ่งต่างกันในแต่ละผู้ป่วยตามแต่ละสาเหตุ (แนะนำอ่านรายละเอียดของแต่ละสาเหตุรวมถึงวิธีรักษาได้จากเว็บ haamor.com) เช่น โรคไตเรื้อรัง, ภาวะหัวใจล้มเหลว, ตับแข็ง
บวมน้ำรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?
ความรุนแรง/การพยากรณ์โรคของบวมน้ำ/อาการบวมน้ำขึ้นกับสาเหตุ เช่น
- รุนแรงน้อยเมื่อเกิดจาก นั่ง ยืนนานๆ หรือ หลอดเลือดขอด
- รุนแรงมากขึ้นเมื่อเกิดจาก ภาวะหัวใจล้มเหลว, โรคตับแข็ง, หรือโรคไตเรื้อรัง
- รุนแรงที่สุดเมื่อเกิดจากโรคมะเร็ง
ผลข้างเคียงจากบวมน้ำ/อาการบวมน้ำ: เช่น
- แน่น อึดอัด ส่วนที่บวม
- ชา เป็นตะคริวในตำแหน่งที่บวม
- เคลื่อนไหวส่วนที่บวมได้ลำบาก
- เพิ่มโอกาสติดเชื้อและแผลหายช้าในส่วนที่บวม
ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
การดูแลตนเอง/ การพบแพทย์เมื่อมีบวมน้ำ/อาการบวมน้ำ ที่สำคัญ คือ
- เคลื่อนไหวร่างกายพอควรกับสุขภาพเพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือด อย่านั่ง หรือยืนนานๆ ควรต้องเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ
- กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบในทุกมื้ออาหารในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้ขาดโปรตีน
- จำกัดอาหารเค็ม(เกลือโซเดียม)
- สวมเสื้อผ้า รองเท้า ถุงเท้าที่หลวมสบาย ไม่รัดแน่น
- รักษาความอบอุ่นของ มือ เท้า เสมอ เช่น การสวมถุงมือ ถุงเท้า ในสภาพอากาศที่เย็น
- นั่ง นอน ยกเท้าสูงเสมอ
- ระมัดระวังไม่ให้เกิดแผลบริเวณที่บวมเพราะจะติดเชื้อได้ง่าย รวมทั้งแผลจากการเกา (ควรตัดเล็บให้สั้นเสมอ) ซึ่งแผลมักหายช้า เพราะเลือดไหลเวียนได้น้อย
- ควบคุม ดูแล รักษาโรคที่เป็นสาเหตุให้ได้ดี
- ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ
- กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา
- พบแพทย์ตามนัดเสมอ
- ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเมื่อ
- มีอาการบวมต่อเนื่องข้ามวัน
- เจ็บปวดในบริเวณที่บวม และ/หรือ มีอาการชา
- บริเวณที่บวมมีอาการเขียวคล้ำ
- มีอาการของการบวมอักเสบ คือ บวม แดง ร้อน มีไข้ (มีได้ทั้งไข้สูง หรือ ไข้ต่ำ)
- มีแผลบริเวณที่บวม
- ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลฉุกเฉิน เมื่อมีอาการบวมร่วมกับ
- มีอาการทางการหายใจ หรืออาการของโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น เจ็บหน้าอก, เหนื่อยง่าย, หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย, หัวใจเต้นผิดปกติ หน้ามืด-เป็นลม, และ/หรือ วิงเวียน
ป้องกันบวมน้ำอย่างไร?
การป้องกันบวมน้ำ/อาการบวมน้ำ คือการป้องกันสาเหตุ และเช่นเดียวกับที่ได้กล่าวแล้วใน’หัวข้อการดูแลตนเองฯ’ ที่สำคัญ คือ
- เคลื่อนไหวร่างกายเสมอ
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพ
- กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ครบทุกมื้อป้องการการขาดอาหาร โดยเฉพาะอาหารโปรตีน
- ป้องกัน ควบคุม ดูแลรักษาโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงซึ่งต่างกันในแต่ละโรค เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว โรคไตเรื้อรัง โรคตับแข็ง และภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ
- ไม่สูบบุหรี่ เลิกสูบบุหรี่
- ไม่ดื่มสุรา
บรรณานุกรม
- Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001).
- O’Brien, J., and Chennubhotla, R. (2005). Treatment of edema. Am fam Physician. 71, 2111-2117
- https://www.cvphysiology.com/Microcirculation/M010 [2021,June12]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK53445/ [2021,June12]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Edema [2021,June12]