บรูเซลโลสิส (Brucellosis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

บรูเซลโลสิส (Brucellosis) คือ โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน(Zoonosis)ที่เกิดจากร่างกายติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า ‘Brucella bacteria’ จากสัตว์ที่เป็นโรคนี้รวมทั้งสัตว์ที่เป็นรังโรคซึ่งมักเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เป็นสัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย แพะ แกะ กวาง สุนัข กระต่าย และสัตว์ในตระกูลฟันแทะอื่นๆ (เช่น หนู กระรอก กระแต กระต่าย) แต่ก็อาจพบจากสัตว์เหล่านี้ที่เป็นสัตว์ป่าได้บ้าง

โรคบรูเซลลโลสิส มีหลายชื่อ แตกต่างตามถิ่นต่างๆทั่วโลก เช่น Mediterranean fever, Rock fever, Undulant fever เป็นต้น

บรูเซลโลสิส พบบ่อยทั่วโลก และในประเทศที่กำลังพัฒนาจะพบเป็นโรคประจำถิ่น ทั่วโลกมีการติดเชื้อนี้ได้ประมาณ 500,000 รายต่อปี ส่วนใหญ่เกิดในประเทศกำลังพัฒนาที่การปศุสัตว์ยังไม่ดีเท่าที่ควร เช่นใน อเมริกากลาง อเมริกาใต้ และเอเชียกลาง สถิติเกิดโรคนี้ที่แท้จริงในประเทศเหล่านี้ยังไม่ทราบแน่ชัด

บรูเซลโลสิส พบทุกอายุ แต่ส่วนใหญ่เป็นโรคของผู้ใหญ่ และพบในผู้ชายบ่อยกว่าในผู้หญิงแต่ต่างกันไม่มาก

โรคบรูเซลโลสิสเกิดจากอะไร?

บรูเซลโลสิส

โรคบรูเซลโลสิส เกิดจากคนติดเชื้อแบคทีเรียในกลุ่ม ‘Brucella bacteria’ จากสัตว์ที่เป็นโรค/ที่ติดเชื้อนี้ โดยสัตว์ที่ติดเชื้อนี้คือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มักเป็นสัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย แพะ แกะ สุนัข และสัตว์ในกลุ่มประเภทฟันแทะ แต่พบได้น้อยใน แมว และม้า เพราะสัตว์ทั้งสองชนิดนี้มักมีธรรมชาติดื้อต่อการติดเชื้อนี้

แบคทีเรีย Brucella สายพันธ์ย่อยที่ติดต่อสู่คนได้ ที่มีรายงาน มี 4 สายพันธ์ คือ Brucella (ย่อว่า B.) melitensis, B. abortus, B. suis, และ B. canis

  • B. melitensis: เป็นเชื้อที่รุนแรง และพบบ่อยที่ติดต่อสู่คนทั่วโลก มักเป็นการติดเชื้อใน แพะ แกะ และอูฐ
  • B. abortus: มักเป็นการติดเชื้อจาก วัว ควาย
  • B.suis: มักเป็นการติดเชื้อจาก หมู
  • B.canis: มักเป็นการติดเชื้อจากสุนัข

อนึ่ง เชื้อแบคทีเรีย Brucella สามารถถูกทำลายด้วย

  • ความร้อนที่อุณหภูมิอย่างน้อย 60 องศาเซลเซียส (Celsius) ในระยะเวลาอย่างน้อยประมาณ 10 นาที
  • ในน้ำยาฆ่าเชื้อชนิดต่างๆที่มีในท้องตลาดโดยใช้นานอย่างน้อยประมาณ 15 นาที เช่น
    • น้ำยา ฟอร์มัลดีฮายด์ (Formaldehyde)
    • แอลกอฮอล์ 70%
    • น้ำยาไฮโดรคลอไรท์(Sodium Hypochlorite)
    • น้ำยาฟีนอล ( Phenol )
  • ในแสงแดดจัดนานประมาณ 2-3 ชั่วโมง
  • การใช้ทำลายด้วยการฉายรังสีแกมมา (Gamma ray)

อย่างไรก็ตาม เชื้อนี้จะอยู่ในธรรมชาติที่เปียกชื้น เช่น ในอุจจาระ และ/หรือปัสสาวะของสัตว์ได้นานประมาณ 1 สัปดาห์ถึง 1-2 เดือน

โรคบรูเซลโลสิสติดต่อสู่คนได้อย่างไร?

ทั่วไป การติดต่อของโรคบรูเซลโลสิสจากสัตว์สู่คนพบได้โดย

  • คนสัมผัสกับสัตว์ที่ติดโรค/ติดเชื้อโดยตรง และ/หรือ
  • สัมผัสกับ อุจจาระ ปัสสาวะ สารคัดหลั่งต่างๆ ของสัตว์ที่เป็นโรค โดยเฉพาะเมื่อผิวหนังคนมีบาดแผลหรือมีรอยขีดข่วนต่างๆ

***อย่างไรก็ตาม คนยังสมารถติดโรคนี้ได้จาก

  • อาหารที่ได้จากผลิตภัณฑ์สัตว์ที่ติดโรค ที่ไม่ผ่านการทำลายเชื้อโรคก่อนบริโภค เช่น นม เนย เนื้อสัตว์ และ/หรือ
  • การหายใจ หรือ จากการไอ จาม ของสัตว์
  • บางกรณี อาจจาก ถูกเข็มฉีดวัคซีนของโรคนี้ เพราะวัคซีนโรคนี้ เป็นวัคซีนเชื้อเป็น/Live vaccine คือ วัคซีนที่เป็นเชื้อที่ยังมีชีวิตอยู่
  • การทำงานในห้องปฏิบัติการเกี่ยวกับเชื้อนี้ เช่น ในการผลิตวัคซีนนี้ เป็นต้น
  • ส่วนการติดต่อผ่านทาง การให้เลือด, การปลูกถ่ายอวัยวะ, เพศสัมพันธ์, การให้นมบุตร, ยังไม่มีรายงานชัดเจน

โรคบรูเซลโลสิสมีอาการอย่างไร?ควรพบแพทย์เมื่อใด?

ไม่มีอาการเฉพาะของโรคบรูเซลโลสิส โดย ระยะฟักตัวของโรคใช้เวลาหลากหลาย โดยทั่วไปประมาณ 5-60 วัน แต่อาจนาน 1-2 เดือน หรือบางราย (เป็นส่วนน้อย) อาจนานได้ถึง 6 เดือน

ทั่วไป:

  • อาการของบรูเซลโลสิส มักเป็นการติดเชื้อเฉียบพลัน (Acute brucellosis) รักษาได้หายภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน
  • แต่ในบางรายอาจเป็นโรคติดเชื้อเรื้อรัง (Chronic brucellosis) มีอาการนานเป็นปี โดยอาการเรื้อรังมักเป็นอาการไข้เป็นๆหายๆ ร่วมกับอาการปวดข้อต่างๆ และปวดกระดูกสันหลังเรื้อรัง

ทั้งนี้ อาการโดยทั่วไปของการติดเชื้อเฉียบพลัน จะคล้ายคลึงกับอาการของโรค ไข้หวัดใหญ่ ได้แก่

  • มีไข้ มักเป็นไข้สูง พบได้ประมาณ 90-95%ของผู้ป่วย
  • บางคนอาจมีอาการหนาวสั่น
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
  • เหงื่อออกมากผิดปกติจนชุ่มตัว
  • เหงื่อออกกลางคืน
  • ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดกระดูกสันหลัง (ปวดหลัง)
  • บางคนอาจมี ต่อมน้ำเหลืองโต/ ต่อมน้ำเหลืองบวม ทั่วตัว คลำได้ และอาจเจ็บ
  • บางรายอาจมี ตับม้ามโต จนคลำได้
  • ในผู้ชาย อาจพบมีอัณฑะอักเสบร่วมด้วย
  • ในรายที่รุนแรง อาจมีตับอักเสบ (ตัวเหลือง ตาเหลือง), กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ, ปอดอักเสบ/ปอดบวม, สมองอักเสบ และ/หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

การพบแพทย์/มาโรงพยาบาล:

บรูเซลโลสิส เป็นโรควินิจฉัยได้ยาก เมื่อมีอาการดังกล่าวหลังการสัมผัสสัตว์ เช่น หลังการท่องเทียวฟาร์มสัตว์, หลังกินอาหารที่ภัตตาคารที่มีสวนสัตว์/สัตว์เลี้ยง, รวมทั้งการบริโภคเนื้อสัตว์และ/หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่ไม่มั่นใจในความสะอาด, ควรต้องพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ และต้องแจ้งแพทย์ พยาบาลถึงประวัติสัมผัสสัตว์/การกินเนื้อสัตว์สุกๆดิบๆเพื่อแพทย์วินิจฉัยแยกโรคว่า อาจเกิดจากโรคนี้ได้หรือไม่

แพทย์วินิจฉัยโรคบรูเซลโลสิสอย่างไร?

การวินิจฉัยโรคบรูเซลโลสิสในคน แพทย์ต้องอาศัยจาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญคือ ประวัติการสัมผัสสัตว์ การกินเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ของสัตว์ และ อาการผู้ป่วย
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น
    • ตรวจเลือด ซีบีซี (CBC)
    • ตรวจเลือดคัดกรองโรคที่เรียกว่า Rapid plate test (RPT)
    • การตรวจเลือดยืนยันโรค ที่เรียกว่า EDTA-tube agglutination test (EDTA-TAT)
    • การเพาะเชื้อจากเลือด และ/หรือจากน้ำไขสันหลัง
    • การถ่ายภาพเอกซเรย์กระดูกและข้อที่มีอาการ
    • บางครั้งอาจต้องมีการตัดชิ้นเนื้อ เช่น จากตับเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

รักษาโรคบรูเซลโลสิสอย่างไร?

เนื่องจากเป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย การรักษาโรคบรูเซลโลสิส คือ การให้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งในโรคนี้มียาปฏิชีวนะที่สามารถฆ่าเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพหลายชนิด โดยอาจเป็นยาฉีดร่วมกับยากิน หรือ กินยาวิธีเดียว และอาจใช้ยาปฏิชีวนะหลายชนิดร่วมกัน ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ, มีการติดเชื้อที่อวัยวะใด (เช่น ปอด ตับ หัวใจ หรือสมอง), สายพันธ์ของเชื้อ, และดุลพินิจของแพทย์ โดยยาปฏิชีวนะที่รักษาได้ผล เช่นยา Doxycycline, Cotrimoxazole, Gentamycin, และ Rifampin

*การรักษาโรคนี้ ผู้ป่วยต้องกินยาปฏิชีวนะตามแพทย์แนะนำเสมอ ถึงแม้อาการจะดีขึ้นแล้ว ผู้ป่วยต้องไม่หยุดยาเอง เพราะอาจต้องให้ยาต่อเนื่องนานถึง 6 สัปดาห์

นอกจากนั้นคือ การรักษาตามอาการ /การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ยาแก้ปวด, ยาลดไข้, และ/หรือการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำกรณีอ่อนเพลียมาก กินอาหารได้น้อย

โรคบรูเซลโลสิสรุนแรงไหม?มีผลข้างเคียงอย่างไร?

โดยทั่วไป โรคบรูเซลโลสิสมีการพยากรณ์โรค โดยเป็นโรคไม่รุนแรง โอกาสรักษา หายสูงถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง

  • มีอัตราตายประมาณ 2% (มักพบในกรณีมีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบร่วมด้วย)
  • โรคมีโอกาสย้อนกลับเป็นซ้ำได้ประมาณ 10%
  • พบกลายเป็นชนิดเรื้อรังได้ประมาณ 10%

ผลข้างเคียงจากโรค:

ในส่วนผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนของโรคบรูเซลโลสิส คือ

  • มีการติดเชื้อที่ตับ (ตับอักเสบ), ที่หัวใจ (กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ), ที่ปอด (ปอดอักเสบ/ ปอดบวม), และติดเชื้อในสมอง (สมองอักเสบและ/หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ) ซึ่งเมื่อมีการติดเชื้อในอวัยวะเหล่านี้ โรคจะรุนแรง การรักษาจึงมักซับซ้อน และเป็นสาเหตุการตายได้
  • ส่วนการติดเชื้อที่กระดูก(กระดูกอักเสบ)และที่ข้อ(ข้ออักเสบติดเชื้อ) มักเป็นสาเหตุของการติดเชื้อเรื้อรัง แต่ไม่เป็นสาเหตุให้ตาย แต่มักเสียคุณภาพชีวิตจากอาการ ปวดข้อ และปวดหลังเรื้อรัง

ดูแลตนเองอย่างไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคบรูเซลโลสิสที่สำคัญ คือ ต้องกินยาปฏิชีวนะ หรือได้รับยาปฏิชีวนะครบถ้วนตามแพทย์แนะนำ ไม่หยุดยาเองถึงแม้อาการทั่วไปจะรู้สึกว่าหายแล้ว ทั้งนี้เพราะเชื้อจะตายได้อาจต้องได้ยาต่อเนื่องนานถึง 6 สัปดาห์

การดูแลอื่นๆ: ได้แก่

  • พักผ่อนให้เต็มที่
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนทุกวัน ช่วงมีไข้อาจต้องกินอาหารอ่อน (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง เรื่องประเภทอาหารทางการแพทย์)
  • ดื่มน้ำสะอาดให้ได้อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว โดยเฉพาะในช่วงมีไข้
  • เมื่อไม่มีไข้แล้ว ควรเคลื่อนไหว ออกกำลังกายตามควรกับสุขภาพ
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง
    • อาการผิดปกติไปจากเดิม เช่น กลับมามีไข้อีก,
    • มีอาการจากผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น คลื่นไส้มาก วิงเวียนศีรษะมาก ท้องเสียหรือท้องผูกมาก และ/หรือ
    • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันโรคบรูเซลโลสิส

การป้องกันโรคบรูเซลโลสิส ที่สำคัญ คือ

  • กินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกอย่างทั่วถึง
  • กิน/ดื่ม ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่สะอาด ถูกสุขอนามัย เสมอ
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ที่ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงของเรา
  • เมื่อต้องสัมผัสสัตว์ที่ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงของเรา ต้องมีเครื่องป้องกัน เช่น การสวม ถุงมือ รองเท้ายาง เป็นต้น
  • ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้ในคน แต่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้ในสัตว์ เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์เหล่านี้ ควรปรึกษาการปศุสัตว์ถึงเรื่องการฉีดวัคซีนโรคนี้ให้กับสัตว์ในกลุ่มสัตว์เลี้ยงดังกล่าว

บรรณานุกรม

1. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.

2. Skaisky, K. et al. (2008). Treatment of human brucellosis. BMJ. 336, 701-704.

3. https://en.wikipedia.org/wiki/Brucellosis[2020,Aug1]

4. https://www.cdc.gov/brucellosis/[2020,Aug1]

5. https://patient.info/doctor/brucellosis-pro[2020,Aug1]

6. http://www.cfsph.iastate.edu/Factsheets/pdfs/brucellosis.pdf[2020,Aug1]

7. https://en.wikipedia.org/wiki/Zoonosis[2020,Aug1]

8. http://webdb.dmsc.moph.go.th/ifc_nih/a_nih_1_001c.asp?info_id=940[2020,Aug1]

9. https://emedicine.medscape.com/article/213430-overview#showall[2020,Aug1]