บริโมนิดีน (Brimonidine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 31 สิงหาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- บริโมนิดีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- บริโมนิดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- บริโมนิดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- บริโมนิดีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมหยอดยาควรทำอย่างไร?
- บริโมนิดีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้บริโมนิดีนอย่างไร?
- บริโมนิดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาบริโมนิดีนอย่างไร?
- บริโมนิดีนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาหยอดตา (Eye drops)
- รูปแบบยาเตรียม (Pharmaceutical Dosage Forms)
- ต้อหิน (Glaucoma)
- ต้อหินเฉียบพลัน (Acute glaucoma)
- ต้อหินเรื้อรัง (Chronic glaucoma)
- ยาลดความดัน ยาลดความดันเลือดสูง ยาลดความดันโลหิตสูง (Antihypertensive drug)
บทนำ
ยาบริโมนิดีน(Brimonidine หรือ Brimonidine tartrate) เป็นยาในกลุ่มแอลฟา2-อะดรีเนอร์จิก รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ (Alpha2-adrenergic receptor agonist, กลุ่มยา ลดการสร้างสารน้ำในลูกตา และทำให้หลอดเลือดในลูกตาหดตัว) ทางคลินิกนำมาใช้รักษาโรคต้อหิน (Open-angle glaucoma) และภาวะความดันในลูกตาสูง (Ocular hypertension) รูปแบบผลิตภัณฑ์ของยานี้ จะเป็นยาหยอดตา และยาทาภายนอกประเภทเจล
ยาบริโมนิดีนชนิดหยอดตา จะช่วยลดปริมาณสารน้ำหรือของเหลวในลูกตา ซึ่งถ้ามีปริมาณของเหลวในลูกตามากเกินไป จะทำให้เกิดแรงดันในลูกตาสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลเสียต่อเส้นประสาทตา(เส้นประสาทสมองเส้นที่2)จนอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นในที่สุด
สูตรตำรับของยาบริโมนิดีนยังมีแบบลักษณะของยาเดี่ยว และแบบที่มียาลดความดันโลหิตบางตัวเป็นส่วนประกอบด้วยอย่าง เช่น ยา Timolol ทั้งนี้เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษาให้ได้มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ มีข้อจำกัดในการใช้ยาบริโมนิดีน ที่ผู้บริโภคควรทราบ ดังนี้ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาบริโมนิดีน
- ห้ามใช้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปีลงมา
- ผู้ที่มีการใช้ยาบางตัว บางกลุ่มอยู่ก่อนแล้ว อย่างเช่น ยา Furazolidone หรือยาในกลุ่ม MAOIs อย่างเช่น ยา Phenelzine อาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาบริโมนิดีน จนอาจส่งผลให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยได้
- การใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร จะต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
- ระวังการใช้ยาบริโมนิดีนกับผู้ป่วย โรคหัวใจ โรคไต โรคตับ
- ยานี้สามารถทำให้ผู้ใช้มีอาการ วิงเวียน ง่วงนอน ตาพร่า ผู้ใช้ยานี้จึงควรต้องหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะใดๆ และ/หรือการทำงานกับเครื่องจักร ด้วยอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
สำหรับประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยาได้บรรจุให้ยา บริโมนิดีน ทาร์เทรต (Brimoridine tartrate) อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยมีรูปแบบของเป็นยาหยอดตา และมีเงื่อนไขการใช้ทางคลินิก ดังนี้
1. ใช้รักษาต้อหินในกรณีที่มีข้อห้ามใช้ยาหยอดตากลุ่ม Topical beta-blockers
2. ใช้เฉพาะกรณีที่ใช้ยาชนิดอื่นรักษาต้อหินแล้ว ความดันในลูกตายังไม่ลดลง อยู่ในขั้นที่ปลอดภัย
อนึ่ง เราสามารถพบเห็นการใช้ยาหยอดตาบริโมนิดีน ทั้งในสถานพยาของรัฐและของเอกชน รวมถึงมีจำหน่ายตามร้านขายยาตั้งแต่ขนาดกลางขึ้นไป
บริโมนิดีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
บริโมนิดีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษาอาการความดันในลูกตาสูง (Intraocular Hypertension)
- รักษาอาการของโรคต้อหิน (Open-angle glaucoma)
บริโมนิดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาบริโมนิดีนคือ ตัวยาจะกระตุ้นการทำงานของตัวรับ(Receptor)ในลูกตาที่ชื่อว่า G Protein-couple receptor ทำให้เกิดการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ ที่ชื่อว่า Adenylate cyclase ส่งผลลดการสร้างสารบางอย่างที่มีความสำคัญในกระบวนการสร้างของเหลวในลูกตา เช่น สาร cAMP(Cyclic adenosine monophosphate) จึงเป็นเหตุให้กระบวนการสร้างของเหลวในลูกตาลดลง ส่งผลให้ความดันในลูกตาลดลงตามไปด้วย
นอกจากนี้ ตัวยาบริโมนิดีนยังทำให้หลอดเลือดฝอยในลูกตาหดตัว ทำให้ปริมาณสารน้ำ/ของเหลวที่จะไหลเข้ามาเพิ่มในลูกตาลดน้อยลงอีก เกิดกลไกสนับสนุนให้มีการลดของเหลวในลูกตามากยิ่งขึ้น
จากกลไกดังกล่าวทั้งหมด ทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
บริโมนิดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ในประเทศไทย ยาบริโมนิดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เป็น
- ยาหยอดตา ขนาดความเข้มข้น 0.15% และ 0.2%
บริโมนิดีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาบริโมนิดีนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
- ผู้ใหญ่: หยอดตาครั้งละ 1 หยดในตาข้างที่มีอาการโรค วันละ 3 ครั้ง โดยเว้นระยะเวลาหยอดตาห่างกันทุก 8 ชั่วโมง
- เด็กอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป: ขนาดการใช้ยานี้กับเด็กวัยนี้ต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา
- เด็กอายต่ำกว่า 2 ปี: ทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนถึงความปลอดภัยและประสิทธิผลของยานี้ในเด็กกลุ่มวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
*อนึ่ง
- หากมีการหยอดตาชนิดอื่นร่วมด้วย ห้ามหยอดยาต่างๆพร้อมกัน ให้เว้นระยะเวลาของการหยอดยา ห่างกันประมาณ 5 นาทีเป็นอย่างต่ำ
- ล้างมือทำความสะอาดทุกครั้ง ก่อนและหลัง หยอดยา
- ห้ามมิให้ปลายหลอดหยอดยาสัมผัสกับ ขนตา หนังตา ลูกตา ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการปนเปื้อนต่างๆลงไปในตัวผลิตภัณฑ์ยา
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาบริโมนิดีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาบริโมนิดีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมหยอดยาควรทำอย่างไร?
กรณีลืมหยอดยาบริโมนิดีน ผู้ป่วยสามารถหยอดยาเมื่อนึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการหยอดยาในครั้งถัดไป ให้หยอดยาในขนาดปกติ และไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการใช้ยาเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ผู้ป่วยต้องหยอดยาบริโมนิดีนตรงเวลา ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
บริโมนิดีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
อาจพบเห็นผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ของยาหยอดตาบริโมนิดีนต่อระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆของร่างกายได้ดังนี้ เช่น
- ผลต่อตา: เช่น มีอาการแสบคันตาหลังหยอดยา เกิดภาวะหลอดเลือดที่เยื่อตาขยายตัว/ตาแดง ตาพร่า หนังตาอักเสบ เกิดภาวะตากุ้งยิง (Hordeolum)
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปากแห้ง
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ชีพจรเต้นผิดปกติ หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ เกิดความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น เยื่อจมูกอักเสบ หลอดลมอักเสบ ไอ มีอาการคล้ายโรคหวัด โพรงจมูกแห้ง คออักเสบ หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก หรือมีภาวะกดการหายใจ(หายใจช้า เบา ตื้น จนถึงอาจหยุดหายใจได้)
- ผลต่อสภาพจิตใจ: ก่อให้เกิดอารมณ์ซึมเศร้าได้ นอนไม่หลับ และวิตกกังวล
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น อาจกระตุ้นให้เกิดผื่นคัน
- ผลต่อการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เกิดภาวะคอเลสเตอรอล/ไขมันในเลือดสูง
มีข้อควรระวังการใช้บริโมนิดีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาบริโมนิดีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่ง จากแพทย์ผู้รักษา
- ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ยานี้ ที่มีการปนเปื้อนของสิ่งสกปรก เช่น ผง ตัวยาขุ่น หรือเปลี่ยนสี
- ห้ามปรับขนาดการหยอดยาด้วยตนเอง
- แจ้งแพทย์ทุกครั้งก่อนเข้ารับการรักษาว่า มีโรคประจำตัวใดบ้าง หรือมีการใช้ยาประเภทใดอยู่ก่อน
- หากใช้ยานี้เป็นเวลาที่แพทย์แนะนำ แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ให้ผู้ป่วยรีบกลับมา ปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลอีกครั้ง เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัด เพื่อรับการตรวจสอบการทำงานของตาว่าเป็นปกติหรือยัง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาบริโมนิดีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
บริโมนิดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาบริโมนิดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาบริโมนิดีนร่วมกับยา Diphenhydramine, Cetirizine, Hydrocodone, Phenytoin, อาจทำให้มีอาการ ง่วงนอน วิงเวียน การครองสติทำได้ยาก หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาบริโมนิดีนร่วมกับยา Enalapril, Diltiazem, Pindolol(ยาลดความดันโลหิต), Felodipine, Digoxin, อาจทำให้ความดันโลหิต และอัตราการเต้นของหัวใจลดต่ำลง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
ควรเก็บรักษาบริโมนิดีนอย่างไร?
ควรเก็บยาบริโมนิดีน ในช่วงอุณหภูมิ 15 – 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
บริโมนิดีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาบริโมนิดีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Alphagan/Alphagan P (อัลฟาแกน/อัลฟาแกน พี) | Allergan |
Combigan (คอมบิแกน) | Allergan |
Brimonidine Tartrate Alcon (บริโมนิดีน ทาร์เทรต อัลคอน) | Alcon |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ ที่จำหน่ายในต่างประเทศ เช่น Albrim, Albrim LS, Brimodin, Iobrim
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_adrenergic_drugs [2016,Aug6]
- http://www.healthline.com/health/adrenergic-drugs#Overview1 [2016,Aug6]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Adrenergic_agonist [2016,Aug6]
- http://www.codental.uobaghdad.edu.iq/uploads/lectures/Pharma%20lectures/7%20Adrenergic%20agonists-.pdf [2016,Aug6]
- http://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/beta-2-adrenergic-agonist-oral-route-injection-route/side-effects/drg-20069364 [2016,Aug6]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Beta-adrenergic_agonist [2016,Aug6]
- http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/2885407 [2016,Aug6]
- https://www.drugs.com/cons/beta-2-adrenergic-agonist-oral-injection.html [2016,Aug6]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/brimonidine-ophthalmic-index.html?filter=2&generic_only= [2016,Aug6]