บรอมฟีแนค (Bromfenac)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 11 กันยายน 2561
- Tweet
- บทนำ
- บรอมฟีแนคมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- บรอมฟีแนคมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- บรอมฟีแนคมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- บรอมฟีแนคมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมหยอดตาควรทำอย่างไร?
- บรอมฟีแนคมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้บรอมฟีแนคอย่างไร?
- บรอมฟีแนคมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาบรอมฟีแนคอย่างไร?
- บรอมฟีแนคมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ต้อกระจก (Cataract)
- ยาหยอดตา (Eye drops)
- ยาฆ่าเชื้อ (Antimicrobial drug) ยาแก้อักเสบ (Anti inflammatory drug)
- ยาต้านเกล็ดเลือด (Antiplatelet drug)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาของตา (Anatomy and physiology of the eye)
บทนำ
ยาบรอมฟีแนค(Bromfenac) เป็นยาต้านการอักเสบ/ยาแก้อักเสบในกลุ่มเอ็นเซด(NSAIDs) ทางคลินิกนำมาใช้เป็นยาหยอดตาเพื่อลดอาการปวดตาหรือใช้เป็นยาบรรเทาการอักเสบของตาหลังจากการผ่าตัดต้อกระจก ทั่วไปแพทย์จะให้ใช้ยานี้หยอดตาเพียงระยะสั้นๆ ต่อเนื่องไม่เกิน 14 วัน
ยาบรอมฟีแนคสามารถใช้ร่วมกับยาหยอดตากลุ่มสเตียรอยด์เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดอักเสบของตาได้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามข้อเสียของยากลุ่มเอ็นเสดอาจทำให้การสมาน/การหายของรอยแผลผ่าตัดทำได้ช้าลง การใช้ยาบรอมฟีแนคร่วมกับยาสเตียรอยด์ ยังทำให้กระจกตาบางขึ้นจนอาจส่งผลให้เกิดรอยแผลของกระจกตาตามมา ดังนั้นการใช้ยา บรอมฟีแนคจึงต้องอยู่ภายใต้การดูแลของจักษุแพทย์อย่างใกล้ชิด และห้ามใช้เกินขนาดที่แพทย์กำหนด
ทั้งนี้ อาจสรุปข้อจำกัดและข้อควรระวังการใช้ยาบรอมฟีแนคในภาพรวมได้ดังนี้
- ในสูตรตำรับยาหยอดตาชนิดนี้ มีการผสมสาร Sodium sulfite(สารเคมีที่ใช้ช่วยลดการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย และยีสต์) จึงไม่เหมาะที่จะใช้กับผู้ป่วยที่แพ้สารประกอบชนิดนี้
- ทางการแพทย์ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกรับรองความปลอดภัยว่า ยานี้มีอันตรายต่อ ทารกในครรภ์หรือไม่ ดังนั้นการที่จะใช้ยาชนิดนี้/ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
- ทางคลินิกยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยการใช้ยาชนิดนี้ในผู้ป่วยเด็ก จึงถือเป็นข้อ ห้ามใช้ยาหยอดตาชนิดนี้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
- ยาหลายรายการในกลุ่มเอ็นเสด(NSAIDs) มักจะทำให้การทำงานของเกล็ดเลือด ผิดปกติจนส่งผลให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาบรอมฟีแนคกับผู้ที่ใช้ยาต้านเกล็ดเลือด และห้ามใช้กับผู้ที่มีภาวะเลือดออกง่าย
ยาบรอมฟีแนคเป็นยาที่มีจำหน่ายและถูกนำมาใช้ทางคลินิกเพิ่มมากขึ้นตามลำดับโดย
- ปี ค.ศ.2000 (พ.ศ.2543) เริ่มใช้ครั้งแรกในญี่ปุ่น
- ปี ค.ศ.2005 (พ.ศ.2548) ขึ้นทะเบียนยาและจำหน่ายที่อเมริกา
- ปี ค.ศ.2011 (พ.ศ.2554) เริ่มมีการใช้ยานี้ในแถบทวีปยุโรป และเริ่มวางจำหน่าย ในหลายประเทศทั่วโลก
ในต่างประเทศเราจะพบเห็นการจำหน่ายยาหยอดตาบรอมฟีแนค ภายใต้ชื่อการค้าว่า Prolensa หรือ Xibrom ตัวยาบรอมฟีแนคจัดว่าเป็นยาอันตรายไม่แนะนำให้ไปซื้อหายาชนิดนี้มาใช้เอง การใช้ยาบรอมฟีแนคได้อย่างปลอดภัยเหมาะสมและเกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ ตาจะต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของแพทย์แต่เพียงผู้เดียว
บรอมฟีแนคมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาบรอมฟีแนคมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- เป็นยาหยอดตาที่ช่วยลดอาการปวดจากการอักเสบของตา
- ใช้เป็นยาหยอดตาหลังจากได้รับการผ่าตัดต้อกระจก
บรอมฟีแนคมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาบรอมฟีแนคมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะยับยั้งการสังเคราะห์สาร Prostaglandin ซึ่งเป็นสารที่มีกลไกกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกายซึ่งรวมถึงเนื้อเยื่อของตาด้วย ตัวยานี้จะเข้าปิดกั้นการทำงานของเอนไซม์ที่มีชื่อเรียกว่า Cyclooxygenase (COX, เอนไซม์เกี่ยวข้องกับการสร้างสาร Prostaglandin) ส่งผลให้ ไม่มีการสังเคราะห์สาร Prostaglandin ตรงบริเวณเนื้อเยื่อของตา และเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดฤทธิ์การรักษาได้ตามสรรพคุณ
บรอมฟีแนคมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาบรอมฟีแนคมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาหยอดตาที่ประกอบด้วยตัวยา Bromfenac ที่มีความเข้มข้น 0.07 และ 0.09%
บรอมฟีแนคมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาบรอมฟีแนค มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
- ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่18ปีขึ้นไป: หยอดตา 1 หยดก่อนเข้ารับการผ่าตัดต้อกระจก
หลังการผ่าตัดต้อกระจกให้หยอดยาต่อเนื่องอีก 14 วัน โดยแบ่งเป็น 2 กรณี
- กรณีใช้ยาขนาดความเข้มข้น 0.07% ให้หยอดยา 1 หยด วันละ 1 ครั้ง
- กรณีใช้ยาขนาดความเข้มข้น 0.09% ให้หยอดยา 1 หยด วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
- ผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี: ทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยและขนาดการใช้ยานี้ที่แน่นอน
อนึ่ง:
- ต้องใช้ยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด และห้ามปรับขนาดการใช้ยาด้วยตนเอง
- *กรณีมีอาการแพ้ยาชนิดนี้อย่างรุนแรง เช่น เกิดอาการ เจ็บ/ปวด บวม มีอาการระคายเคือง หรือคันตาอย่างรุนแรง ต้องหยุดใช้ยานี้ แล้วรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาบรอมฟีแนค ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาบรอมฟีแนคอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมหยอดตาควรทำอย่างไร?
หากลืมหยอดยาบรอมฟีแนค สามารถใช้ยาได้ทันที กรณีที่เวลาหยอดตาใกล้กับการใช้ยาในครั้งถัดไป ห้ามเพิ่มขนาดการใช้ยาเป็น 2 เท่า ให้ใช้ยาที่ขนาดปกติ
อนึ่ง ในผู้ป่วยแต่ละรายแพทย์อาจแนะนำวิธีใช้ยาเมื่อลืมหยอดตาในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นกับอาการบาดเจ็บของตา จึงควรปรึกษาแพทย์ล่วงหน้าไว้ก่อนว่าควรทำอย่างไรเมื่อตนเองลืมใช้ยาบรอมฟีแนค
อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรหยอดยาบรอมฟีแนค ตรงเวลาตามแพทย์สั่งเสมอ
บรอมฟีแนคมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ด้วยเป็นยาหยอดตาที่ใช้เพียงระยะเวลาสั้นๆ และใช้ภายนอก เราจึงพบเห็นผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ที่เกิดขึ้นหลังใช้ยาบรอมฟีแนค คือ เกิดอาการตาแดง การเห็นภาพไม่ชัดเจน คันตา หรือรู้สึกระคายเคือง อาจพบอาการปวดศีรษะได้บ้างตลอดจนกระทั่งอาจมีภาวะม่านตาอักเสบ(Iritis)
มีข้อควรระวังการใช้บรอมฟีแนคอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาบรอมฟีแนค เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาชนิดนี้
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยด้วยโรคหืด หรือผู้ที่เป็นลมพิษ หรือเกิดอาการเยื่อจมูกอักเสบ แบบเฉียบพลัน ด้วยยาบรอมฟีแนคอาจทำให้อาการดังกล่าวรุนแรงมากขึ้น
- ห้ามหยอดตาด้วยยาบรอมฟีแนคขณะใส่คอนแทคเลนส์
- หลังหยอดตาแล้วเกิดอาการตาพร่ามัว ห้ามขับขี่ยานพาหนะ หรือ ทำงานกับ เครื่องจักรใดๆเพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- ระหว่างใช้ยาชนิดนี้ ต้องหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่มีแสงแดดจัดหรือมีลมพัดแรง
- เรียนรู้วิธีการหยอดตา รวมถึงขั้นตอนการใช้ยาแบบลดการปนเปื้อนจากเชื้อโรคและ ฝุ่นหรือสิ่งสกปรกต่างๆ
- ระหว่างหยอดตาด้วยยาบรอมฟีแนคแล้วมีอาการแย่ลง เช่น ตาพร่ามัวมากขึ้น ต้องหยุดการใช้ยานี้ แล้วรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที
- การใช้ยาอื่นใดหยอดตาร่วมกับยาบรอมฟีแนคจะต้องอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์แต่เพียงผู้เดียว ผู้ป่วยต้องเรียงลำดับและเว้นช่วงระยะเวลาห่างของยาหยอดตาทั้ง 2 ชนิดตามที่ แพทย์กำหนดอย่างเคร่งครัด
- หยอดตาด้วยยาชนิดนี้อย่างต่อเนื่องตามคำแนะนำของแพทย์ และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาบรอมฟีแนคด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
บรอมฟีแนคมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ด้วยเป็นยาหยอดตา จึงยังไม่พบเห็นภาวะยาตีกัน/ปฏิกิริยาระหว่างยาของยาบรอมฟีแนคกับยารับประทานชนิดใด
ควรเก็บรักษาบรอมฟีแนคอย่างไร?
สามารถเก็บยาหยอดตาบรอมฟีแนคดังนี้ เช่น
- เก็บยานี้ภายใต้อุณหภูมิ 15-25 องศาเซลเซียส(Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- ไม่เก็บยาที่หมดอายุแล้ว
- ห้ามทิ้งยาลงในแม่น้ำลำคลองหรือในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ
บรอมฟีแนคมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาบรอมฟีแนค มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Bromday (บรอมเดย์) | ISTA Pharmaceuticals, Inc. |
Prolensa (โพรเลนซา) | Bausch and Lomb Incorporated |
Xibrom (ไซบรอม) | ISTA Pharmaceuticals, Inc. |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Bromfenac[2018,Aug25]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/bromfenac/?type=brief&mtype=generic [2018,Aug25]
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2013/203168s000lbl.pdf [2018,Aug25]
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2009/021664s010lbl.pdf [2018,Aug25]
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2010/021664s013lbl.pdf [2018,Aug25]