น้ำหนักเพิ่มหลังเคมีบำบัด (Weight gain post chemotherapy)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 14 มกราคม 2566
- Tweet
สารบัญ
- ทำไมน้ำหนักเพิ่มหลังเคมีบำบัด?
- ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีน้ำหนักเพิ่มหลังเคมีบำบัด?
- ป้องกันน้ำหนักเพิ่มหลังเคมีบำบัดอย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- มะเร็ง (Cancer)
- ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy)
- โรคอ้วน และ น้ำหนักตัวเกิน (Obesity and overweight)
- การออกกำลังกาย: แนวทางการออกกำลังกายเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (Exercise concepts for healthy lifestyle)
- อาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ (Healthy diet)
- ฮอร์โมนเพศ (Sex hormone หรือ Sex steroid หรือ Gonadal steroid)
ทำไมน้ำหนักเพิ่มหลังเคมีบำบัด?
ในผู้ป่วยได้รับยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) เพื่อรักษาโรคมะเร็ง บางคนซึ่งมักพบในเพศหญิงสูงกว่าในเพศชาย ภายหลังครบการรักษาแล้วมักมีน้ำหนักตัวเพิ่ม ขึ้น หรือ อ้วนขึ้น ทั้งนี้เกิดจากหลายสาเหตุ/ปัจจัย เช่น
- ยาเคมีบำบัดบางชนิดอาจมีผลต่อกระบวนการสันดาป/การใช้พลังงานของร่างกาย โดยอาจส่งผลให้ร่างกายใช้พลังงานน้อยลง ดังนั้นเมื่อกินอาหารได้เพิ่มขึ้นหลังครบการรักษาแล้ว ร่างกายจึงนำพลังงานจากอาหารเหล่านั้นไปใช้ไม่หมด จึงเก็บสะสมไว้ในรูปของไขมันจนก่อให้เกิดภาวะ/โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน หรือ อ้วนขึ้น
- ยาเคมีบำบัดมักส่งผลให้ผู้ป่วยเพศหญิงไม่มีประจำเดือน เพราะยาส่งผลกดการทำงานของรังไข่ ซึ่งเมื่อเกิดในวัยใกล้หมดประจำเดือน ผู้ป่วยมักหมดประจำเดือนไปเลย, แต่ในวัยยังสาวอยู่ โดยทั่วไปมักกลับมามีประจำเดือนได้ อาจหลัง 6 เดือน หรือเป็นปี ทั้งนี้ขึ้นกับอายุผู้ป่วย, ชนิด, ปริมาณ, และระยะเวลาในการได้รับยาเคมีบำบัด, ดังนั้น ร่างกายจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงในสมดุลของฮอร์โมนเพศ ซึ่งจะส่งผลถึงการอยากอาหาร, การนำพลังงานจากอาหารไปใช้, และการสะสมพลังงานในรูปของไขมัน, จึงส่งผลให้มีน้ำหนักตัวเกิน และอ้วนขึ้น
- หลังเคมีบำบัด อาจมีการใช้ชีวิตประจำวันที่ผิดไปจากเดิม เช่น การงาน การกินอาหาร การออกกำลังกาย การพักผ่อน จึ่งส่งผลให้เกิดน้ำหนักตัวเพิ่มได้
- อาจได้รับยาฮอร์โมนบางชนิดเพื่อเป็นการรักษาต่อเนื่องซึ่งจะส่งผลให้ อยากอาหาร, และ/หรือมีน้ำคั่งในเนื้อเยื่อต่างๆได้มากขึ้น, น้ำหนักตัวจึงเพิ่มขึ้น เช่น ในบางระยะโรคของ โรคมะเร็งเต้านม หรือ ในโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เป็นต้น
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีน้ำหนักเพิ่มหลังเคมีบำบัด? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
การดูแลตนเอง และการพบแพทย์เมื่อมีน้ำหนักตัวเพิ่มหลังยาเคมีบำบัด ทั่วไป คือ
- กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบทุกวัน แต่จำกัดอาหารให้พลังงาน ได้แก่ แป้ง น้ำตาล ไขมัน และโปรตีน โดยเฉพาะอาหารไขมันและแป้ง
- หลีกเลี่ยงอาหาร ทอด ผัด
- กินผัก ผลไม้ เพิ่มมากขึ้นในทุกมื้ออาหารหลัก, อาหารว่าง, และเมื่อหิว
- ดื่มน้ำสะอาดมากๆ อย่างน้อยวันละ 8- 10 แก้ว เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม
- เคลื่อนไหวร่างกายเสมอทั้งวัน
- มีการออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพ
- รักษาสุขภาพจิต เพราะบางคนถ้าเครียด จะกินมากขึ้น
- จดบันทึกรายการ รวมทั้งปริมาณ อาหาร เครื่องดื่ม ที่บริโภคในทุกๆมื้อ ทุกๆวัน เพื่อปรับลดอาหารที่ไม่จำเป็น
- ปรึกษา แพทย์ พยาบาล เมื่อมีปัญหาเรื่องน้ำหนักตัว บางครั้งแพทย์อาจแนะนำให้พบโภชนากร เพื่อช่วยแนะนำการกินที่ถูกต้อง
ป้องกันน้ำหนักเพิ่มหลังเคมีบำบัดอย่างไร?
การป้องกันน้ำหนักเพิ่มหลังครบยาเคมีบำบัด จะคล้ายกับในการดูแลตนเองเมื่อมีน้ำหนักเพิ่ม ที่สำคัญ เช่น
- กินอาหารมีประโยชน์ให้ครบห้าหมู่ในทุกวัน แต่ต้องจำกัดอาหารให้พลังงาน โดยเฉพาะไขมัน และแป้ง โดยเพิ่ม ผัก ผลไม้ ให้มากๆ โดยเฉพาะเมื่อหิว
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพ
- เคลื่อนไหวร่างกายสม่ำเสมอ
- จดบันทึกรายการอาหาร เครื่องดื่ม ที่บริโภคในทุกๆมื้อ ทุกๆวัน เพื่อปรับลดปริมาณหรืออาหาร/เครื่องดื่มที่ไม่จำเป็น
บรรณานุกรม
- DeVita, V., Hellman, S., and Rosenberg, S. (2005). Cancer: principles& practice of oncology (7th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins.
- https://chemocare.com/chemotherapy/side-effects/weight-changes.aspx [2023,Jan14]
- https://www.cancer.net/coping-with-cancer/physical-emotional-and-social-effects-cancer/managing-physical-side-effects/weight-gain [2023,Jan14]
- https://www.healthline.com/health/cancer/effects-on-body [2023,Jan14]
- https://www.healthywomen.org/content/article/how-chemotherapy-can-affect-your-weight [2023,Jan14]