น้ำมันทีทรี (Tea tree oil)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 21 สิงหาคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- องค์ประกอบของน้ำมันทีทรีมีอะไรบ้าง?
- ประโยชน์ของน้ำมันทีทรีมีอะไรบ้าง?
- ผลข้างเคียงจากน้ำมันทีทรีมีอะไรบ้าง?
- ใช้น้ำมันทีทรีอย่างปลอดภัยทำอย่างไรดี?
- เก็บน้ำมันทีทรีอย่างไร?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เครื่องสำอาง (Cosmetics) และเครื่องประทินผิว (Toiletry)
- น้ำมันหอมระเหย (Essential oil/Volatile oil/Ethereal oil)
- ยาไล่แมลง (Insect repellent/Bug spray)
- ยาฆ่าเชื้อ (Antimicrobial drug) ยาแก้อักเสบ (Anti inflammatory drug)
- สารระงับกลิ่นกาย หรือ สารระงับกลิ่นตัว (Deodorant)
- น้ำยาบ้วนปาก ยาบ้วนปาก (Gargle)
บทนำ
น้ำมันทีทรี หรือ ทีทรีออยล์(Tea tree oil)เป็นน้ำมันหอมระเหยที่สกัดได้จากใบของต้นพืชที่มีชื่อว่า Melaleuca alternifolia ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในแถบ Southeast Queensland และชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของ New South Wales ประเทศออสเตรเลีย น้ำมันหอมระเหยชนิดนี้มีกลิ่นเหมือน การบูร(Camphoraceous) มีสีเหลืองซีดหรือแทบจะไม่มีสีเลย
น้ำมันทีทรี มีความเป็นพิษ จึงไม่สามารถนำมารับประทานได้ แต่มีคุณสมบัติต่อต้านเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้นมนุษย์จึงใช้น้ำมันทีทรีที่ความเข้มข้นต่ำ มาทำเป็นยาพื้นบ้านสำหรับรักษาโรคผิวหนัง เช่น รังแค สิว เหา เริม รวมถึงบรรเทาพิษจากแมลงกัดต่อย นอกจากนี้น้ำมันทีทรีสามารถใช้ในสูตรตำรับยาแผนปัจจุบันที่ยาทาภายนอก และมีจำหน่ายในประเทศภายใต้ชื่อการค้าว่า คือ Fungicon cream
องค์ประกอบของน้ำมันทีทรีมีอะไรบ้าง?
องค์ประกอบของน้ำมันทีทรีตามมาตรฐานสากล หรือที่เรียกกันว่า ISO 4730 (2004) จะต้องมีสารประกอบสำคัญๆดังต่อไปนี้
Terpinen-4-ol เป็นสารประกอบที่พบมากที่สุดในน้ำมันทีทรี มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อรา และแบคทีเรียก็จริง แต่ด้วยความเป็นพิษประกอบกับผลข้างเคียง การนำมาผลิตเป็นยา จึงต้องใช้น้ำมันทีทรีที่ความเข้มข้นต่ำ
อย่างไรก็ตาม ทางคลินิก
- ไม่แนะนำให้ใช้น้ำมันทีทรีมารักษาการติดเชื้อราที่เล็บด้วยมีหลักฐานทางการแพทย์แสดงว่ามีประสิทธิผลน้อย นอกจากนี้
- ห้ามใช้รักษาการติดเชื้อเหาในเด็กเนื่องจากเสี่ยงต่ออาการระคายเคืองหรือ ทำให้มีอาการแพ้เกิดขึ้นได้
ประโยชน์ของน้ำมันทีทรีมีอะไรบ้าง?
จากคุณสมบัติของสารที่เป็นองค์ประกอบจึงเกิดแนวคิดที่จะนำน้ำมันทีทรีมาทำประโยชน์ดังนี้ เช่น
1 ใช้น้ำมันทีทรีมาทำเป็นยาฆ่าเชื้อชนิดเจลที่ใช้ทำความสะอาดมือที่มีโอกาสสัมผัสกับเชื้อโรคต่างๆ เช่นเชื้อแบคทีเรีย E. coli , S. pneumonia, และ H. influenzae
2 ใช้ผลิตเป็นยาไล่แมลงที่ก่อความรำคาญ ให้อยู่ห่างออกไป จากการศึกษาในงานปศุสัตว์พบว่า วัวที่ได้รับน้ำมันทีทรีทาที่ผิวหนังจะทำให้การรบกวนจากแมลงวันน้อยลงถึง ประมาณ 61%
3 จากฤทธิ์ที่สามารถต้านเชื้อแบคทีเรียของน้ำมันทีทรี อาจนำมาผลิตเป็นยาระงับกลิ่นตัว/สารระงับกลิ่นกาย หรือกลิ่นใต้รักแร้ ที่เกิดจากเหงื่อผสมร่วมกับแบคทีเรียบนผิวหนัง
4 น้ำมันทีทรี สามารถนำมาใช้ในการรักษาบาดแผลเล็กๆที่เกิดจากของมีคม หรือรอยถลอก โดยมีผู้เสนอแนวคิด/ขั้นตอนดังต่อไปนี้
- ทำความสะอาดบาดแผลด้วยน้ำและสบู่
- ผสมน้ำมันทีทรีหนึ่งหยดกับน้ำมันมะพร้าว 1 ช้อนชา
- นำไปทาบาดแผลเพียงบางๆวันละ 1-2 ครั้งแล้วปิดทับด้วยผ้าพันแผล
- เฝ้าติดตามจนกว่าบาดแผลดีขึ้น
อาจกล่าวได้ว่าน้ำมันทีทรีมีคุณสมบัติเร่งการสมานบาดแผลบนผิวหนัง
5 มีการศึกษาการใช้เจลที่มีส่วนผสมของน้ำมันทีทรี 5% ทาแต้มสิว พบว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาสิวมากกว่ายาหลอกถึง 3 เท่า
6 สามารถเจือจางน้ำมันทีทรีด้วยน้ำ เพื่อทำเป็นน้ำยาบ้วนปากที่ช่วยดับกลิ่นปากโดยหยดน้ำมันทีทรี 1 หยด ลงน้ำอุ่นผสมให้เข้ากันแล้วอมกลั้วปากประมาณ 30 วินาที
7 ใช้น้ำมันทีทรี 10 หยด ผสมกับน้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ 1 ช้อนโต๊ะ ใช้ทาผิวหนังเพื่อลดการอักเสบจากแมลงกัดต่อย
8 น้ำมันทีทรีผสมกับน้ำและน้ำส้มสายชู เพื่อทำเป็นน้ำยาทำความสะอาดอเนกประสงค์ โดยใช้สูตรง่ายๆดังนี้
- หยดน้ำมันทีทรี 20 หยด+ น้ำ 3/4 ถ้วย + น้ำส้มสายชู 1/2 ถ้วยลงในขวดสเปรย์
- เขย่าให้เข้ากันดี ใช้ฉีดพ่นลงบนพื้นผิววัสดุอุปกรณ์โดยตรง แล้วเช็ดถูด้วยผ้าแห้ง ที่สะอาด
ผลข้างเคียงจากน้ำมันทีทรีมีอะไรบ้าง?
คนส่วนใหญ่สามารถใช้น้ำมันทีทรีโดยไม่มีปัญหาอะไร แต่มีผู้บริโภคบางกลุ่มอาจเกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ดังต่อไปนี้ เช่น ระคายเคืองต่อผิวหนัง มีผื่นคันแดง ผื่นผิวหนังอักเสบ ผิวแห้ง อาจมีอาการแสบร้อน
*กรณีรับประทานน้ำมันทีทรี จะทำให้มีอาการ รู้สึกสับสน เดินเซ และการควบคุมสติสัมปชัญญะทำได้น้อยลง กรณีนี้ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว/ทันที
ใช้น้ำมันทีทรีอย่างปลอดภัยทำอย่างไรดี?
เพื่อสุขภาพและประโยชน์ต่อร่างกาย การเลือกใช้น้ำมันทีทรีอย่างปลอดภัย อาจใช้หลักง่ายๆในการพิจารณาดังนี้
- ก่อนซื้อผลิตภัณฑ์น้ำมันทีทรี ต้องตรวจสอบ เลขที่ผลิต วัน-เดือน-ปีที่ผลิต วันหมดอายุ
- ห้ามรับประทาน ห้ามมิให้เข้าตา หรือใช้เป็นยาหยอดหู
- ไม่ใช้น้ำมันทีทรีที่หมดอายุ หรือมีกลิ่นเหม็นหืน
- หยุดใช้น้ำมันทีทรีทันทีเมื่อเกิดอาการแพ้ ซึ่งสามารถทดสอบว่าตนเองแพ้น้ำมันทีทรีหรือไม่ โดยใช้น้ำมันทีทรี 1 หยดทาบริเวณท้องแขน แล้วสังเกตอาการ หากพบผื่นแดงหรือมีอาการบวมของผิวหนัง ก็แสดงว่าร่างกายแพ้น้ำมันทีทรีเข้าแล้ว จากนั้นให้รีบล้างออกโดยเร็วด้วยน้ำสะอาด
เก็บน้ำมันทีทรีอย่างไร?
ควรเก็บน้ำมันทีทรี ดังนี้ เช่น
- สามารถเก็บน้ำมันทีทรีภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งตู้เย็น
- เก็บน้ำมันทีทรีในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- เก็บน้ำมันทีทรีให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บน้ำมันทีทรีที่หมดอายุแล้ว
- ไม่ทิ้งน้ำมันทีทรีลงพื้นดินหรือในแหล่งน้ำคูคลองตามธรรมชาติ