น้ำต้มผ้าอนามัย (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

น้ำต้มผ้าอนามัย-2

      

      สำหรับผ้าอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งแบ่งออกได้เป็นหลายชนิด ได้แก่

  • แผ่นรองตกขาว (Panty liner) – ออกแบบมาให้บางเบาเพื่อซึมซัมประจำเดือนเพียงเล็กน้อย หรือซึมซับปัสสาวะเล็ด (Urinary incontinence) หรือเป็นตัวเสริมของแทมปอนและถ้วยอนามัย
  • ผ้าอนามัยแบบบางเฉียบ (Ultra-thin) – ที่สามารถใช้ซึมซับประจำเดือนปกติ
  • ผ้าอนามัยวันปกติ (Regular) – เป็นแผ่นซึมซับปานกลาง
  • ผ้าอนามัยวันมามาก (Maxi / Super) – เป็นแผ่นซึมซับที่มีขนาดใหญ่กว่า มักใช้สำหรับวันมามาก
  • ผ้าอนามัยกลางคืน (Overnight) – เป็นแผ่นซึมซับขนาดยาวที่ให้การปกป้องขณะนอนหลับตอนกลางคืน
  • ผ้าอนามัยสำหรับคุณแม่ (Maternity) – เป็นแบบที่มีความยาวกว่าผ้าอนามัยแบบวันมามากเล็กน้อย และถูกออกแบบให้ซึมซับทั้งน้ำคาวปลา (Lochia) และปัสสาวะ

      ทั้งนี้ รูปร่าง การซึมซับ และความยาว อาจแตกต่างกันไปแล้วแต่ผู้ผลิต นอกจากนี้ยังมีผ้าอนามัยแบบมีปีกที่ช่วยป้องกันการรั่วซึมด้านข้าง ทั้งยังมีผ้าอนามัยที่ดับกลิ่นไม่พึงประสงค์ด้วย

      บางคนอาจใช้ผ้าอนามัยแบบซักได้หรือนำกลับมาใช้ซ้ำ ซึ่งทำจากผ้าหลายชนิด ส่วนใหญ่ได้แก่ ผ้าสำลี หรือ ผ้าป่าน และมักจะทำเป็นแบบมีปีกเพื่อปกป้องการไหลซึม หรือ บางครั้งอาจทำแบบไม่มีปีก หรือบางทีก็ใช้เป็นแบบผ้าอนามัยมีห่วงแบบโบราณ ซึ่งสามารถซักและนำกลับมาใช้งานได้ ทำให้ประหยัดและใช้ได้ดีกับผู้ที่แพ้ผ้าอนามัยแบบใช้แล้วทิ้ง

      สำหรับผ้าอนามัยที่ใช้แล้วทิ้ง ภายในจะมีวัสดุประเภท Superabsorbent polymers (SAP) หรือโพลิเมอร์ที่สามารถดูดซับของเหลว ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่ม Hydrogel หรือ Nanogel โดยเปลี่ยนจากสภาพน้ำที่เป็นของเหลวให้เก็บอยู่ภายในเจล (Gel) โดยปริมาตรยังคงเดิมอยู่แต่ทำให้ไม่เปื้อน

      SAP เป็นสิ่งที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (Biodegradable) ทำจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงเป็นสารโพลีเมอร์ (Polymerization) ของ กรดอะคริลิก (Acrylic acid) ผสมกับโซดาไฟ (Sodium hydroxide) และอื่นๆ

      SAP มีคุณสมบัติในการใช้ซึมซับน้ำได้ตั้งแต่ 50-500 เท่าของน้ำหนักตอนแห้ง ขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ซึมซับ (ในขณะที่ฝ้ายและใยสามารถซึมซับได้เพียง 20 เท่า) และไม่ละลายในน้ำหรือสารละลาย โดยตัวอย่างสิ่งที่นำ SAP ไปใช้ เช่น

  • ผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น ผ้าอ้อมเด็ก ผ้าอนามัย
  • แผ่นไว้ใช้เลี้ยงสัตว์ (Pet sheets)
  • ซึมซับของเสียทางการแพทย์ โดยใช้เป็นแผ่นปิดแผลช่วยดูดซับของเหลว เช่น น้ำเหลืองที่ไหลออกมาจากแผลและสามารถให้ออกซิเจนแพร่ผ่านได้ ทําให้บริเวณที่เกิดแผลสามารถสร้างเนื้อเยื่อได้ดีกว่าปกติ
  • ใช้เป็นสารนําส่งยา (Drug delivery)
  • ด้านการเกษตร จะนํามาประยุกต์เป็นวัสดุอุ้มน้ำเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นในดินทําให้พืชสามารถเจริญเติบโตได้ในสภาวะที่ขาดแคลนน้ำ โดยไฮโดรเจลจะค่อยๆ ปล่อยน้ำที่ดูดซับไว้ออกมา นอกจากนี้ไฮโดรเจลยังช่วยป้องกันการสูญเสียแร่ธาตุในดิน เนื่องจากสามารถดูดซับแร่ธาตุต่างๆ ได้
  • การนํามาทําคอนแทคเลนส์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นและลดการระคายเคืองแก่ดวงตา

แหล่งข้อมูล:

  1. Sanitary napkin. https://en.wikipedia.org/wiki/Sanitary_napkin [2018, December 7].
  2. Super Absorbent Polymer AQUA KEEP. https://sanyocorp.com/materials/sap [2018, December 7].
  3. What Are Super Absorbent Polymers (And Are They Safe?). http://blog.hellocharlie.com.au/what-are-super-absorbent-polymers-and-are-they-safe/ [2018, December 7].
  4. Superabsorbent polymer. https://en.wikipedia.org/wiki/Superabsorbent_polymer [2018, December 7].