น้ำต้มผ้าอนามัย (ตอนที่ 1)

น้ำต้มผ้าอนามัย-1

      

      เมื่อ 11 พ.ย.61 เว็บไซต์ จาการ์ตา โพสต์ และ tempo สื่อในอินโดนีเซีย รายงานข่าวสุดอึ้ง วัยรุ่นในอินโดนีเซีย กำลังหันมาใช้วิธีที่ทำให้เกิดอาการมึนเมาเคลิบเคลิ้ม ด้วยการดื่มน้ำต้มผ้าอนามัยกันมากขึ้น โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมวัยรุ่นได้จำนวนหลายคน ทั้งในกรุงจาการ์ตา จังหวัดชวาตะวันตก และเมืองคูดุส ในจังหวัดชวากลาง ขณะกำลังต้มน้ำผ้าอนามัยและนำน้ำมาดื่มกิน เพื่อทำให้ตัวเองมึนเมา

      ตามรายงานในเว็บไซต์เทมโประบุว่า กรรมการคนหนึ่งในคณะกรรมาธิการด้านคุ้มครองเด็กในอินโดนีเซีย ชี้ว่า การหาวิธีทำให้ตัวเองเมา ด้วยการดื่มน้ำต้มผ้าอนามัยนี้ ถือเป็นวิธีใหม่ของวัยรุ่นในอินโดนีเซียที่ไม่มีเงินมากพอจะซื้อเหล้า หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไปจนถึงยาเสพติดชนิดอื่น ถึงแม้ก่อนหน้านี้ มีรายงานพบเด็กวัยรุ่นในอินโดนีเซียใช้วิธีนี้เพื่อทำให้เกิดอาการมึนเมามาตั้งแต่เมื่อปี 2560 แต่ก็พบไม่กี่คนเท่านั้น

      นักวิจัยทางเคมีของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเมืองบันดุงคนหนึ่งเตือนวัยรุ่นอยากเมาทั้งหลายที่คิดจะใช้วิธีดื่นน้ำต้มผ้าอนามัยว่า ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการซึมซับ อาทิ ผ้าอนามัย ผ้าอ้อมเด็กแบบสำเร็จรูป มีสาร Superabsorbent polymers (SAP) หรือโพลิเมอร์ที่สามารถดูดซับของเหลว ที่สร้างความระคายเคืองเป็นอันตรายต่อดวงตา

      ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีวัยรุ่นอินโดนีเซีย นำผ้าอนามัยมาต้มน้ำดื่ม เพื่อหวังใช้อาการข้างเคียงทำให้มึนเมาว่า จากการตรวจสอบของสถาบันธัญญรักษ์ กรมการแพทย์ พบว่า

      ในผ้าอนามัยมีสารหลายชนิดที่ใช้ในการดูดซับเลือดในผ้าอนามัยหรือวันเดอร์เจล โดยมีสาร 2 ชนิด ที่ก่อให้เกิดอาการมึนเมาเมื่อนำมาต้ม ได้แก่ ไฮโดรคาร์บอน และ โพลีไวนิลแอลกอฮอล์ ทำให้ได้ฤทธิ์คล้ายแอลกอฮอล์บริสุทธิ์

      นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดสารกล่อมประสาทเหมือนตัวยาบางชนิด ทั้งนี้ขอแนะนำว่า ไม่ควรนำมาบริโภค แม้จะเป็นการต้มดื่ม เพราะสารประกอบเหล่านี้เป็นสารที่ใช้ในภายนอกไม่ใช่เพื่อการบริโภค เพราะจะได้รับผลกระทบเกิดอาการทางประสาทในระยะยาว

      ผ้าอนามัย (Sanitary napkin / sanitary towel / sanitary pad / menstrual pad / pad ) เป็นสิ่งที่ใช้ดูดซับเลือดที่ออกจากช่องคลอด เป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพของผู้หญิงที่ใช้วางภายนอกช่องคลอด ต่างจากแทมปอน (Tampons) และถ้วยอนามัย หรือ ถ้วยประจำเดือน (Menstrual cups) ที่ต้องสอดเข้าไปภายในช่องคลอด

      ผ้าอนามัยทำจากวัสดุหลายชนิด แตกต่างกันไปตามสไตล์ ประเทศที่ผลิต และยี่ห้อ แบ่งได้เป็นแบบใช้แล้วทิ้ง (Disposable) และแบบใช้ซ้ำ (Reusable)

      โดยส่วนประกอบหลักๆ ได้แก่

      - ผ้าเรยอนฟอกสี (Bleached rayon)

      - สำลี (Cotton)

      - พลาสติก (Plastics) ที่ใช้รองแผ่นหลัง

      - สารโพลีเมอร์ (Polymer powder) ที่ช่วยเรื่องการดูดซึมโดยเปลี่ยนเป็นเจลเมื่อมีความเปียก

      นอกจากนี้ยังอาจประกอบด้วยน้ำหอม (Fragrance) หรือสารแอนตี้แบคทีเรีย (Antibacterial agents)

แหล่งข้อมูล:

  1. อึ้ง ตร.จับโจ๋อินโดฯ งบน้อย หันดื่มน้ำต้มผ้าอนามัย ทำให้เมา. https://www.thairath.co.th/content/1418148 [2018, December 6].
  2. แพทย์เตือนนำ ‘ผ้าอนามัย’ มาต้มดื่มอันตราย! กระทบระบบประสาท.https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_1223690 [2018, December 6].
  3. Sanitary napkin. https://en.wikipedia.org/wiki/Sanitary_napkin [2018, December 6].