น้ำ (Human body water)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 10 สิงหาคม 2561
- Tweet
- สมดุลของเกลือแร่ สมดุลของน้ำและเกลือแร่ (Fluid electrolyte balance)
- Electrolyte
- ของเหลว/น้ำ (Body fluid) เลือด (Blood) น้ำเลือด (Plasma) น้ำเหลือง (Serum, Lymph) หนอง (Pus)
- ภาวะขาดน้ำ (Dehydration)
- ภาวะน้ำเป็นพิษ (Water intoxication)
“น้ำ” ความหมายจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 คือ สารประกอบซึ่งมีองค์ประกอบเป็นธาตุไฮโดรเจนและออกซิเจนในอัตราส่วน1:8โดยน้ำหนัก เมื่อบริสุทธิ์มีลักษณะเป็นของเหลว ใส ไม่มีสี กลิ่น รส มีประโยชน์มาก เช่น ใช้ดื่ม ชำระล้างสิ่งสกปรก โบราณถือว่าเป็นธาตุ1ในธาตุ4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ
ทางการแพทย์ “น้ำ(Water) ในที่นี้คือ น้ำในร่างกาย(Human body water)” เป็นส่วนประกอบสำคัญมากในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ในผู้ใหญ่ ผู้ชายจะมีน้ำอยู่ประมาณ60%ของน้ำหนักตัว ส่วนผู้หญิงจะเป็นประมาณ 50-55% ทั้งนี้ น้ำจะอยู่ในทุกๆส่วน ทุกๆอวัยวะของร่างกาย ทั้งในเซลล์และภายนอกเซลล์ ซึ่งทุกอวัยวะมีน้ำเป็นส่วนประกอบได้ในช่วง 10-83%ขึ้นกับประเภทของอวัยวะ โดยส่วนใหญ่ อวัยวะต่างๆจะมีน้ำเป็นส่วนประกอบประมาณ 70% อวัยวะที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบต่ำสุด คือ เนื้อเยื่อไขมัน(10%) และอวัยวะที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบสูงสุด(83%)คือ เลือด และไต ทั้งนี้น้ำส่วนใหญ่ประมาณ2/3ของปริมาณน้ำทั้งหมดในร่างกาย จะเป็นน้ำที่อยู่ในเซลล์ ที่เหลืออีก1/3จะเป็นน้ำที่อยู่นอกเซลล์ที่รวมถึงน้ำระหว่างเซลล์/เนื้อเยื่อต่างๆ พลาสมา/น้ำเลือด และน้ำเหลือง ทั้งนี้ น้ำเป็นสารที่ไม่ให้พลังงาน จึงไม่ส่งผลทำให้เกิดการอ้วน หรือ ผอม
เมื่อเราดื่มน้ำ หลังการถูกดูดซึมจากกระเพาะอาหารและลำไส้ซึ่งส่วนใหญ่ การดูดซึมน้ำจะเกิดที่ลำไส้เล็ก น้ำจะเข้าสู่กระแสเลือดภายใน5นาทีหลังการดื่มน้ำ ซึ่งจากเลือด น้ำจะกระจายเข้าสู่น้ำภายนอก/อยู่ระหว่างเซลล์/อยู่ระหว่างเนื้อเยื่อ แล้วจึงเข้าสู่เซลล์
ประโยชน์ของน้ำ
น้ำในร่างกายมีประโยชน์มาก เช่น
- เป็นส่วนประกอบของสารต่างๆในเซลล์ ในเนื้อเยื่อ ในอวัยวะ ต่างๆ
- ช่วยในการทำงาน/ปฏิกิริยาเคมีต่างๆของเซลล์เพื่อการดำรงชีวิตของเซลล์ และเพื่อให้ร่างกายอยู่ในภาวะธำรงดุล
- ช่วยคงสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในเลือด
- ช่วยร่างกายกำจัดของเสียต่างๆออกนอกร่างกาย ที่สำคัญคือ ทางไต/ทางปัสสาวะ รองลงมาคือ ทางผิวหนัง/ทางเหงื่อ ทางปอด/ทางการหายใจ และทางระบบทางเดินอาหาร/ทางอุจจาระที่รวมถึงช่วยการขับถ่ายไม่ให้เกิดท้องผูก
- ช่วยการปรับอุณหภูมิในร่างกายให้อยู่ในภาวะปกติ
- ช่วยหล่อลื่นและรองรับแรงกระแทกระหว่างเซลล์ และตามข้อกระดูก
- ช่วยให้ความชุ่มชื้นกับ ทุกเซลล์ ทุกเนื้อเยื่อ และทุกอวัยวะ
- เป็นตัวช่วยป้องกันการกระแทกของเนื้อเยื่อต่างๆ เช่น น้ำที่อยู่ในโพรงต่างๆของร่างกาย เช่น ระหว่างชั้นของเยื่อหุ้มอวัยวะต่าง เช่น เยื่อหุ้มสมอง เยื่อหุ้มหัวใจ เยื่อหุ้มปอด
- ช่วยป้องกันภาวะขาดน้ำของร่างกาย
ปัจจัยที่ทำให้ร่างกายต้องการน้ำมากขึ้น
น้ำที่ร่างกายได้รับในแต่ละวันจะได้จากน้ำดื่มเป็นหลักโดยรวมถึงเครื่องดื่มด้วย คือรวมกันแล้วประมาณ 70-80%ของน้ำที่ร่างกายได้รับทั้งหมด ที่เหลืออีกประมาณ 20-30%จะเป็นน้ำที่ได้จากอาหาร และร่างกายจะเสียน้ำทางปัสสาวะเป็นหลัก รองลงมาคือ ทางเหงื่อ นอกนั้น จะเป็นทางการหายใจ และทางอุจจาระ
ปัจจัยที่ทำให้ร่างกายต้องการน้ำมากขึ้น ได้แก่
- การออกแรง การออกกำลังกาย
- เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ประเภทที่ทำให้เหงื่อออกมาก
- สิ่งแวดล้อมที่ทำให้เสียเหงื่อมาก เช่น อากาศร้อน ปริมาณความชื้นในอากาศสูง
- การตั้งครรภ์ และการให้นมบุตร
- สุขภาพ เช่น อาการไข้ ท้องเสีย อาเจียน อาการหอบหืด โรคบางโรคที่ทำให้ความเข็มข้นของ สารละลายในเลือดเข้มข้นขึ้น เช่น โรคเบาหวาน ยาบางประเภทที่ขับน้ำออกทางไต เช่น ยาขับปัสสาวะ
- อาหารบางประเภท เช่น เค็ม เผ็ด
- เครื่องดื่มบางประเภทที่ขับน้ำออกทางปัสสาวะได้มากกว่าปกติ เช่น กาเฟอีน แอลกอฮอล์
ปริมาณน้ำที่ร่างกายต้องการใน1วัน
สถาบันที่ดูแลเกี่ยวกับโภชนาการ Food and Nutrition Boards of Institute of Medicine แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ปีค.ศ. 2011 แนะนำปริมาณน้ำ*ที่ควรบริโภคหรือควรได้รับ/วัน (Dietary Reference Intake:DRI) ดังนี้
*****หมายเหตุ:
- *ปริมาณน้ำที่กล่าวในตาราง รวมปริมาณน้ำทั้งหมดที่ได้รับต่อวัน ทั้งจาก น้ำดื่ม เครื่องดื่ม และอาหาร
- ในความเห็นของผู้เขียน ในประเทศเรา ควรปรับใช้ โดยลดปริมาณน้ำดังกล่าวในตารางลง เพราะคนไทยตัวเล็กกว่าคนอเมริกัน
โรคจากการบริโภคน้ำ
โรคจากการบริโภคน้ำ คือ โรค/ภาวะที่เกิดจากการบริโภคน้ำมากหรือน้อยเกินไป เช่น
- ภาวะขาดน้ำ (อ่านรายละเอียดภาวะนี้เพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะขาดน้ำ)
- ภาวะน้ำเป็นพิษ (อ่านรายละเอียดภาวะนี้เพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะน้ำเป็นพิษ)
บรรณานุกรม
- https://www.h4hinitiative.com/hydration-science/hydration-lab/water-and-hydration-physiological-basis-adults/water-body [2018,July21]
- https://www.h4hinitiative.com/hydration-science/hydration-lab/water-intake-and-hydration-physiology-during-childhood/physiology [2018,July21]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK56068/table/summarytables.t4/?report=objectonly [2018,July21]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Body_water [2018,July21]