นโยบายด้านสุขภาพ ตอน แปลกแต่จริงของสังคมไทย

นโยบายด้านสุขภาพ-5

      

นโยบายด้านสุขภาพ ตอน แปลกแต่จริงของสังคมไทย

ก่อนอื่นผมขอบอกสาเหตุที่ผมพูดเรื่องนี้ เพราะอยากเสนอมุมมองอีกด้านหนึ่งให้คนในสังคมไทยตอนนี้ที่ผมอยากใช้คำว่า สังคมแห่งความเชื่อ และหวังในสิ่งที่ยังไม่มีการพิสูจน์ แต่คนส่วนหนึ่งก็ตัดสินใจไปแล้วว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดี ใครไม่เห็นด้วย จะถูกมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามทันที ผมขอยกตัวอย่างเฉพาะที่เกี่ยวกับสุขภาพ ดังนี้

1. กัญชากับการแพทย์ ซึ่งข้อมูลทางการแพทย์นั้นยังไม่มีการศึกษาอย่างเป็นระบบถึงผลดี หรือผลเสียของการนำมาใช้ในการรักษาโรคต่างๆ แต่คนในสังคมรวมทั้งพรรคการเมืองก็นำมาสร้างกระแส ทำให้คนในสังคมมีความเชื่อว่ามีประโยชน์จริงๆ และมีความหวังว่าจะต้องสามารถนำมาใช้ได้จริง แล้วยังมีการอนุญาตให้ครอบครองได้อีก โดยให้คนที่ต้องการครอบครองมาขอใบรับรองแพทย์ เพื่อยืนยันว่าเป็นโรคนั้นจริง ซึ่งโรคที่ผู้ป่วยมาขอนั้นหลากหลายมากๆ ตั้งแต่นอนไม่หลับ วิตกกังวล เครียด ปวดศีรษะ อัมพาต พาร์กินสัน ลมชัก ทั้งๆ ที่บางคนก็ไม่มีอาการผิดปกติอะไรแล้ว แต่พอถามลงลึกไปจริงๆ ว่าต้องการใบรับรองแพทย์เพื่อมีสิทธิ์ครอบครองกัญชา เพื่อไปให้คนอื่นใช้ ผมว่ามันไปกันใหญ่แล้วครับ มีแต่การพูดถึงข้อดีของกัญชา แต่ข้อเสียที่ต้องระวังนั้น แทบไม่มีการพูดถึงเลย เพราะถ้าใครแสดงความเห็นไม่สนับสนุน ก็จะกลายเป็นคนที่เป็นตัวประหลาดในสังคมไปเลย ดังนั้น นักวิชาการจำนวนมากก็อยู่เงียบๆ ดีกว่า ผมอยากให้สังคมมีการทบทวนกันให้ดีๆ ครับ อย่ามีความเชื่อ แล้วนำความเชื่อนั้นมาสร้างความหวัง โดยที่ไม่ศึกษาให้ได้ข้อมูลก่อน ย้ำ ผมไม่ได้คัดค้าน แต่อยากจะให้คิดดีๆ คิดให้รอบครอบ คิดหลายๆ รอบครับ

2. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ชื่อก็บอกว่าเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ไม่ใช่ยา แต่คนส่วนหนึ่งก็มีความเชื่อว่า สิ่งนี้ดีมาก หวังว่ามันจะทำให้หายจากอาการเจ็บป่วยได้ ยอมจ่ายค่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้ แต่พอมาโรงพยาบาล มีค่ายานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ หรือยาที่เบิกค่ารักษาพยาบาลไม่ได้ กลับร้องเรียนโรงพยาบาล หรือโวยวายไม่ยอมจ่ายค่ายา ค่ารักษาพยาบาลส่วนเกิน น่าฉงนใจยิ่งนัก

3. กรณีผู้ป่วยอาการป่วยหนัก รุนแรงไม่น่าจะรักษาหาย แต่แพทย์และทีมให้การรักษาจนผู้ป่วยหายเป็นปกติ ญาติและผู้ป่วยกลับไปทำบุญ บริจาคเงิน สิ่งของให้วัด แก้บนกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ถ้ารักษาไม่หาย กลับมาฟ้องร้องหมอว่ารักษาไม่ดี ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต เพลียมากเลยครับ ประเด็นการร้องเรียน รวมทั้งการฟ้องร้องว่าทำไมหมอรักษาไม่หาย ทำให้ผู้ป่วยตาย

4. กรณีผู้ป่วยอาการหนักมากเข้าขั้นไม่มีทางรักษา เสียชีวิตแน่นอน ญาติตัดสินใจว่าไม่ให้หมอและทีมทำการกู้ชีพ แต่ให้ยารักษาเต็มที่ ให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่นานที่สุด ผมถามว่าทำไปเพื่ออะไรครับ เพราะอย่างไรผู้ป่วยก็เสียชีวิตแน่นอน ญาติทุกคนก็ยอมรับว่าต้องเสียชีวิตแน่ๆ กรณีแบบนี้ก่อให้เกิดการรักษาที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ เลย เป็นการทรมานผู้ป่วยด้วย น่าจะเลิกการตัดสินใจให้หมอทำแบบนี้ได้แล้วครับ

5. เลือกการผ่าตัดคลอดลูกตามฤกษ์ที่ไปดูมา แทนที่จะเป็นไปตามความเหมาะสม เป็นความเชื่อที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตทารกมากกว่าประโยชน์ที่จะได้จริงๆ ลองไปดูคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต คนที่มีความสุขต่างๆ เขาเลือกเวลาเกิดด้วยหรือเปล่าครับ เลิกเถอะครับการดูฤกษ์การผ่าตัดคลอด อันตรายครับ

6. ไม่ทานยาหมอ แต่ทานสมุนไพรหรืออาหารเสริมแทน แบบนี้ก็พบบ่อยครับ มาพบหมอ อาการไม่ค่อยดีขึ้น หายไม่ทันใจ ก็เลยเชื่อว่ายาหมอไม่ดี หมอรักษาไม่หาย เปลี่ยนใจหรือมีความหวังว่าสมุนไพร อาหารเสริมจะทำให้หายได้ ก็เลยหยุดยาหมอไป กรณีแบบนี้โดยส่วนตัวผม ผมก็ไม่ห้ามนะครับ ถ้าสมุนไพร หรืออาหารเสริมนั้นไม่ได้ส่งผลเสียต่อร่างกาย ไม่เกิดการตีกันระหว่างยาที่หมอให้กับสมุนไพร หรืออาหารเสริมดังกล่าว ผมก็มองว่าเป็นกำลังใจอย่างหนึ่ง แต่ถ้าหยุดยาหมอแล้วไปทานแต่สมุนไพร อาหารเสริม ผมว่าไม่ดีแน่ๆ ครับ

7. ไม่ทำกายภาพบำบัด แต่ไปหาหมอนวด กรณีแบบนี้อาจมีสาเหตุจากการพบหมอนวดพบได้ง่ายกว่าการพบนักกายภาพบำบัด ผมมองว่าถ้าเราสามารถทำให้หมอนวดที่มีอยู่ทั่วไปนั้น ถูกต้องตามมาตรฐานวิชาชีพก็น่าจะดี ร่วมมือกับนักกายภาพบำบัดได้เลย แต่ปัจจุบันหมอนวดส่วนหนึ่งไม่มีมาตรฐานด้านวิชาชีพ ก็เลยทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้

8. ไม่เคยดูแลพ่อ แม่มาก่อน แต่ช่วงวันหยุดยาวมาเยี่ยมบ้าน เห็นพ่อแม่ไม่สบาย ไม่แข็งแรง ก็รีบพาพ่อ แม่มาหาหมอที่ห้องฉุกเฉินในช่วงวันหยุด แล้วบอกหมอว่าต้องตรวจรักษาให้ เพราะเพิ่งว่างพาพ่อ แม่มาช่วงวันหยุดนี้ แบบนี้ก็เรียกว่าลูกกตัญญูดีครับ แต่ไม่มันถูกตามหลักทางการแพทย์ครับ เพราะห้องฉุกเฉินนั้นมีไว้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินเท่านั้น การที่ผู้ป่วยไม่ฉุกเฉินมาใช้บริการ ก็เท่ากับเป็นการเบียดเบียนการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินครับ ควรสอบถามสารทุกข์สุขดิบของพ่อแม่เป็นระยะๆ ครับ ถ้ามีข้อสงสัยว่าท่านจะเจ็บป่วยหรือไม่ ก็ควรแนะนำให้ท่านพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านก่อนครับ

9. ยาโรงพยาบาลไม่ทาน ทานยาคลินิก เพราะมีความเชื่อว่ายาโรงพยาบาลไม่ดี เพราะฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย ยาหมอที่คลินิกดีกว่า ความเชื่อนี้ก็ต้องบอกว่าเกิดจากตัวหมอด้วยที่ไม่ได้อธิบายให้ผู้ป่วยเกิดความมั่นใจว่ายาที่คลินิกและยาโรงพยาบาล ก็ได้ผลในการรักษาเหมือนกัน

10. หมอบอกว่าควรรักษาอย่างไรไม่เชื่อ แต่เชื่อที่หมอผีบอกว่าเป็นโรคอะไร รักษาด้วยการไล่ผีออก ไม่ต้องรับการรักษากับหมอ แล้วยังหวังว่าจะรักษาหายด้วยการรักษากับหมอผี

ผมอยากให้คนไทยที่ยังมีความเชื่อ ความหวังที่ไม่สมเหตุผลอยู่นั้น ลองใช้เวลาทบทวนว่า จริงแล้วที่ตนเองเชื่อ และหวังนั้นมันเป็นสิ่งที่เหมาะสมหรือไม่ อยากให้คิดดีๆ ครับ