นโยบายด้านสุขภาพเพื่อแก้ปัญหาภาระงานที่หนักเกินมนุษย์ทั่วไป

นโยบายด้านสุขภาพ-23

      

นโยบายด้านสุขภาพเพื่อแก้ปัญหาภาระงานที่หนักเกินมนุษย์ทั่วไป

การทำงานของแพทย์ พยาบาลและทีมสุขภาพในปัจจุบันนั้นอยู่ในภาวะหนักเกินที่มนุษย์ทั่วไปทำได้ เช่น การทำงาน 16 ชั่วโมงต่อวันของพยาบาล การทำงานของแพทย์ 30 ชั่วโมงติดต่อกัน รวมทั้งการทำงานมากกว่า 25 วันต่อเดือน เป็นต้น พรรคการเมืองต่างๆ ในช่วงนี้ก็เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้ ด้วยแนวคิดที่หลากหลาย ผมก็เลยอยากเสนอท่านนายกรัฐมนตรีท่านใหม่ รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และคณะรัฐมนตรีใหม่ทั้งคณะของประเทศไทย ดินแดนแห่งรอยยิ้ม ที่มีนโยบายใหม่ๆ ออกมาทุกวัน ดังนี้

1. พัฒนาระบบการปรึกษา และเครือข่ายการให้บริการที่มีประสิทธิภาพ โดยการพัฒนาศูนย์ส่งต่อในแต่ละเขตสุขภาพ กำหนดให้แต่ละเขตสุขภาพมีโรงพยาบาลที่ต้องมีความพร้อมในการรับผู้ป่วยอาการรุนแรง หรือต้องการการตรวจรักษาเพิ่มเติม โดยการพัฒนาศักยภาพของโรงพยาบาลต่างๆ ให้มีศักยภาพสูงขึ้น เช่น แต่ละโรงพยาบาลจังหวัดควรมีศักยภาพที่สูงขึ้นในแต่ละด้านที่แตกต่างกัน ในปัจจุบันมีเพียงโรงพยาบาลศูนย์ที่มีศักยภาพสูง ส่วนโรงพยาบาลจังหวัดอื่นๆ มีศักยภาพไม่สูง จึงส่งผลให้เกิดปัญหาการแออัดของผู้ป่วยหนักมากเกินไปในบางโรงพยาบาล

2. พัฒนาศักยภาพของโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไปให้สามารถดูแลรักษาผู้ป่วยได้สูงขึ้น เช่น การดูแลผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เป็นต้น

3. สนับสนุนให้โรงพยาบาลมีทีมที่มีศักยภาพสูงขึ้น ทั้งทีมสุขภาพ และอุปกรณ์ต่างๆ

4. เพิ่มอัตรากำลังให้เพียงพอในโรงพยาบาลที่ยังมีปัญหาด้านกำลังคน โดยการสนับสนุนให้คนในชุมชนเข้าทำงานในโรงพยาบาล เพื่อลดโอกาสการย้ายออก

5. ส่งเสริมด้านการป้องกันโรค คัดกรองกลุ่มเสี่ยง และให้การป้องกันการเกิดโรค สร้างความตระหนักอย่างต่อเนื่อง

6. การออกกฎหมายควบคุมความเค็ม ความหวานของอาหาร เครื่องดื่ม ขนมเพื่อแก้ปัญหาโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต และอื่นๆ เพื่อเป็นการส่งเสริม และป้องกันการเกิดโรคต่างๆ

7. ส่งเสริมด้านการฟื้นฟูในชุมชนให้ดียิ่งขึ้น โดยให้ชุมชนนั้นมีส่วนร่วมมากขึ้น ให้ชุมชนมีความตระหนักว่าเป็นเรื่องของชุมชน เป็นเรื่องของทุกคนที่ต้องร่วมมือกัน มากกว่าเป็นเรื่องของโรงพยาบาลเพียงอย่างเดียว

8. ส่งเสริมด้านการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้ทำได้จริง ปัจจุบันขาดการสนับสนุนที่ดีจากภาครัฐอย่างเป็นระบบ เพราะต้องได้รับการบูรณาการทั้งในส่วนของทีมสุขภาพ และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น

9. ความร่วมมือกับภาคเอกชน โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนในการเข้าถึงเทคโนโลยีระดับสูงที่มีการลงทุนแล้วในภาคเอกชน เพื่อให้เกิดความคุ้มค่ามากขึ้น และลดการลงทุนในภาครัฐด้วยตนเอง ซึ่งสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องรอการพัฒนาโดยภาครัฐเองโดยตรง ซึ่งค่ารักษาของโรงพยาบาลเอกชนนั้นต้องมีการต่อรองราคาให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด เพราะโรงพยาบาลเอกชนเองก็มีเทคโนโลยีและบุคลากรที่เพียงพอในการให้บริการเพิ่มมากขึ้นกับโรงพยาบาลของรัฐได้ ก่อให้เกิดความคุ้มค่าของการลงทุนมากขึ้น

10. การพัฒนาให้คนในชุมชนได้เข้าถึงการศึกษาในกลุ่มวิชาชีพสาธารณสุข ได้แก่ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร กายภาพบำบัด แล้วกลับมาทำงานต่อในท้องที่ที่ตนเองอยู่

องค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในการสนับสนุนให้เกิดแนวทางการพัฒนาให้ 8 แนวทางข้างต้นทำได้นั้น ก็คือ งบประมาณที่เหมาะสม และการร่วมมือกับชุมชนอย่างดี แหล่งงบประมาณนั้นก็ได้มาจากการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 0.5 หรือภาษีบาปต่างๆ ซึ่งผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศน้อยมากๆ ผมอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของประเทศไทยครับที่แก้ปัญหาดังกล่าวด้วยนโยบายระดับชาติ