นโยบายด้านสุขภาพ ตอน ต้องปล่อยให้ตายต่อหน้าต่อตา
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 12 กุมภาพันธ์ 2564
- Tweet
เหตุการณ์ของเรื่องนี้ที่เกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้นในช่วงเวลาก่อนที่จะมีหลักประกันสุขภาพ คือ ตอนปี 2534 ช่วงที่ผมเป็นแพทย์ฝึกหัดชั้นปีที่ 1 ผมจำเหตุการณ์นี้ได้เป็นอย่างดี และจำมาเล่าให้นักศึกษาแพทย์ฟังเมื่อมีโอกาสที่ต้องการเล่าให้รุ่นน้องๆ หรือรุ่นลูกได้รับรู้ว่า หลักประกันสุขภาพนั้นมีประโยชน์กับประชาชนอย่างไร ถึงแม้จะมีผลกระทบต่อการทำงานของเราบ้าง แต่ประชาชนนั้นได้ประโยชน์อย่างเต็มๆ ทำให้คนทุกคนมีคุณค่าของความเป็นคนอย่างแท้จริง ไม่เหมือนกับเรื่องที่ผมจะเล่าให้ฟังนี้ ที่รู้สึกว่า ไม่มีเงินก็ต้องปล่อยให้เสียชีวิตต่อหน้าต่อตา ผมเศร้าใจมากครับ
“อาจารย์ครับ ผู้ป่วยรายนี้เป็นผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย ต้องให้การรักษาด้วยการฟอกไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่องครับ เพราะเมื่อเดือนก่อนผู้ป่วยก็เพิ่งมานอนรักษาด้วยปัญหาน้ำท่วมปอด ต้องทำการรักษาด้วยการล้างไตทางช่องท้องแบบชั่วคราวไปแล้ว แต่เนื่องจากไม่ทราบสาเหตุของไตวาย อาการก็ทรุดลงอีก ปัญหาคือว่า ผู้ป่วยไม่มีสิทธิ์การรักษาครับ ต้องออกค่ารักษาพยาบาลเอง ซึ่งผู้ป่วยและญาติไม่สามารถรับผิดชอบค่ารักษาได้ เนื่องจากไม่มีงานทำ และฐานะยากจนครับ ผมแก้ปัญหานี้ไม่ได้ ถึงแม้จะปรึกษาไปที่งานสังคมสงเคราะห์แล้ว ทางเจ้าหน้าที่ก็บอกว่า เป็นภาวะที่เรื้อรัง ค่าใช้จ่ายสูงมาก ไม่มีกองทุนใดๆ ที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยในระยะยาวได้ครับ อาจารย์มีคำแนะนำอย่างไรบ้างครับ”
อาจารย์ก็บอกกับผมว่า “เราก็ทำได้เท่านี้จริงๆ เราสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้เพียงหนึ่งครั้ง ถ้าครั้งที่ 2 ผู้ป่วยมีอาการทรุดลง เราก็ไม่สามารถช่วยเหลือเขาได้อีก เพราะข้อจำกัดอย่างที่หมอบอกมาแล้ว ประเทศเรายังไม่มีงบประมาณที่มากพอในการช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยโรคไตวายระยะสุดท้าย และโรคมะเร็งที่ค่ารักษาพยาบาลสูงๆ ได้ เราต้องพยายามหาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดภาวะไตวาย แต่ก็เป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะคนอีสานมีปัจจัยเสี่ยงมากมาย แล้วก็ยังมีปัญหาด้านค่ารักษาพยาบาลอย่างที่เป็นในผู้ป่วยรายนี้” เมื่อผมฟังจบ ก็เกิดคำถามขึ้นอีกว่า “อาจารย์ครับ แล้วเราจะทำอย่างไรครับ ผมให้ยาขับปัสสาวะแล้ว ปัสสาวะก็ไม่ออก ปัญหาน้ำเกินในปอดก็ยังเป็นมากขึ้น มากขึ้น ผู้ป่วยก็หอบหายใจเองไม่ไหวแล้ว ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ใช้เครื่องช่วยหายใจ ยิ่งนานวันอาการก็ยิ่งทรุดลง ค่าใช้จ่ายก็ยิ่งมากขึ้น ผู้ป่วยก็ทรมาน ญาติก็ไม่สามารถช่วยเหลือด้านค่ารักษาพยาบาลได้เลยครับ”
อาจารย์ก็ได้แต่ส่ายหน้า แล้วบอกกับผมว่า “สมศักดิ์ เราก็ทำหน้าที่ของเราดีที่สุดแล้ว เราไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทุกปัญหาหรอกครับ เช่นเดียวกันกับปัญหาผู้ป่วยรายนี้ และรายอื่นๆ อีกมาก เราก็คงทำได้เพียงให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมานน้อยที่สุด ถ้าผู้ป่วยเหนื่อยหอบมาก เราก็ให้ยาที่ทำให้ผู้ป่วยสงบ ไม่ทุกข์ทรมาน เราทำได้เท่านี้จริงๆ ผมรู้ว่าสมศักดิ์รู้สึกไม่ดี ที่เรารู้ว่าจะสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยรายนี้อย่างไร แต่ก็ไม่สามารถทำได้ตามที่รู้ เพราะติดขัดเรื่องค่าใช้จ่าย แต่ทั้งหมดนี้ก็คือความจริงที่เกิดขึ้นในสังคมของประเทศเรา ระบบสาธารณสุขเราคงต้องมีอะไรให้แก้ไขอีกมาก ทำใจให้สบายขึ้น อย่าทุกข์ เก็บพลังไว้ในการรักษาผู้ป่วยรายต่อไป เราจะได้ช่วยเหลือคนไข้รายอื่นๆ ได้อีกมาก”
สุดท้ายผู้ป่วยรายนี้ก็เสียชีวิตในที่สุด โดยที่เราไม่สามารถให้การรักษาเขาได้เลย ผมถึงบอกว่าหลักประกันสุขภาพ หรือที่คนทั่วไปเรียกว่าบัตรทองนั้น สามารถช่วยให้ชีวิตคนไทยดีขึ้นอย่างไร ปัจจุบันสามารถรักษาโรคไตวายระยะสุดท้ายได้ รักษาโรคมะเร็งด้วยยาเคมีบำบัดราคาแพงๆ ได้ ทำให้คนเรามีคุณค่าของความเป็นคนมากยิ่งขึ้น ผมมองย้อนหลังไปในอดีตที่ผ่านมาแล้วนำมาเทียบกับในปัจจุบัน ผมต้องขอบคุณผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน คนไทยทุกคนที่สนับสนุนโครงการหลักประกันสุขภาพนี้ให้เกิดขึ้น และคงอยู่ตลอดไปกับประเทศไทย กับคนไทย