นโยบายด้านสุขภาพ ตอน ต้องขายควายมารักษาแม่

นโยบายด้านสุขภาพ-18

      

นโยบายด้านสุขภาพ ตอน ต้องขายควายมารักษาแม่

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีก่อน ช่วงเวลาที่ผมเริ่มทำงานเป็นอาจารย์แพทย์ใหม่ๆ ซึ่งยังไม่มีระบบหลักประกันสุขภาพของคนไทย เวลาเกิดการเจ็บป่วยเกิดขึ้นในครอบครัวใครก็ตาม สิ่งที่ทุกครอบครัวต้องมองหน้ากัน คือ เราจะมีเงินเพื่อใช้รักษาพ่อ แม่เราหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ไม่กล้าพาพ่อ แม่หรือลูกที่มีอาการเจ็บป่วยไปหาหมอที่โรงพยาบาล เพราะกลัวว่าจะไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาล จนกระทั่งอาการเจ็บป่วยนั้นรุนแรงมากขึ้น จึงพาไปโรงพยาบาล ซึ่งก็ต้องพยายามหาเงินเตรียมไว้จำนวนหนึ่ง เพื่อเตรียมจ่ายค่ารักษาพยาบาล เหตุการณ์ที่ผมจะเล่านี้เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นไม่กี่ปีที่ผ่านมา ย้ำว่าเกิดขึ้นไม่กี่ปีที่ผ่านมา เกิดในช่วงเวลาที่มีหลักประกันสุขภาพแล้ว แต่ทำไมถึงเกิดเรื่องนี้ขึ้น ทั้งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นเลย

“สวัสดีครับผมหมอสมศักดิ์ เป็นหมอที่ดูแลคุณพ่อของน้องนะครับ” ผมแนะนำตัวเองกับลูกชายของผู้ป่วย “คุณพ่อของน้องมีปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรงจากโรคภูมิคุ้มกันไวผิดปกติ ทำให้เส้นประสาทถูกทำลาย เกิดการอักเสบของเส้นประสาททั่วทั้งร่างกาย ทำให้เกิดอาการอ่อนแรง เดินไม่ได้ ต้องให้การรักษาด้วยยาชนิดหนึ่ง ซึ่งราคาสูงมากประมาณ 3 แสนบาท ซึ่งสิทธิ์การรักษานั้นไม่ครอบคลุม” ปัญหาแบบนี้ยังพบได้ ถึงแม้จะไม่บ่อยนักเนื่องจากสิทธิ์การรักษาจะครอบคลุมวิธีการรักษาเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีบางกรณีเท่านั้น ที่ผลการรักษาไม่ชัดเจน และมีความคุ้มค่าด้านการรักษาไม่ชัดเจน ทำให้การรักษาดังกล่าวยังไม่อยู่ในสิทธิ์การรักษา ทำให้ผู้ป่วยต้องรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลเอง แล้วก็เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก เวลาที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ทีไหร ผมจะรู้สึกไม่สบายใจอย่างมาก เพราะตอนอธิบายให้ผู้ป่วยและญาติทราบนั้นเป็นช่วงที่บีบคั้นความรู้สึกมากครับ เหมือนกับว่าถ้าไม่มีเงิน ก็ไม่มีสิทธิ์ในการรับการรักษานั้นๆ ความรู้สึกนั้นค้านกับจรรยาบรรณของหมอที่ต้องให้การรักษาผู้ป่วยทุกคนอย่างเต็มที่

เมื่อผมอธิบายจบ ลูกชายของผู้ป่วยก็ทำหน้าเศร้าๆ แล้วพูดว่า “ผมจะพยายามหาเงินมารักษาพ่อผมให้ได้ครับ” ผมเลยพูดตอบไปว่า “ขอโทษนะน้อง น้องจะหาเงินมาจากไหนครับ เพราะยอดเงินนั้นสูงมาก หมอเข้าใจในความยากลำบากนั้นครับ” ลูกชายผู้ป่วยตอบผมว่า “ผมจะขายควายที่พ่อเลี้ยงไว้ เพื่อนำเงินนั้นมารักษาพ่อผมครับ” ผมฟังแล้วเข่าแทบทรุด จึงได้พูดต่อว่า “น้องครับ การรักษาที่ผมแนะนำไปนั้น ไม่ได้รับรองว่าผลการรักษาจะหายแน่นอนนะครับ อาจได้ผลประมาณ 70% เท่านั้น ถ้าน้องจะขายควายมารักษา แล้วถ้าไม่หาย จะทำอย่างไรครับ ผมต้องขอโทษที่ถามแบบนี้ แต่เพื่อต้องการพูดให้ชัดเจนในทุกประเด็นครับ” ลูกชายผู้ป่วยพูดว่า “การมีโอกาสหาย 70% ผมก็สู้เต็มที่ครับ ถ้าไม่หาย แล้วควายก็ต้องถูกขายไปด้วย ผมก็ไม่เสียดายครับ เพราะเราต้องทำเต็มที่ให้พ่อครับ เหตุการณ์ภายหน้าก็ค่อยว่ากัน ว่าควรจะต้องทำอย่างไรครับ ผมเชื่อว่าพ่อผมต้องหายครับ”

ผมซาบซึ้งกับการตัดสินใจของลูกชายผู้ป่วยอย่างมาก ผมพยายามหาวิธีการรักษาที่จะทำให้ครอบครัวผู้ป่วย ต้องสูญเสียควายไปครับ ผมได้ติดต่อไปยังบริษัทที่จำหน่ายยาชนิดนี้ แล้วก็ประสานไปที่งานสังคมสงเคราะห์ สุดท้ายแล้วผู้ป่วยไม่ต้องขายควายมารักษาครับ แล้วก็โชคดีด้วยครับที่ผู้ป่วยอาการดีขึ้นเรื่อยๆ จนกลับไปทำงานได้ ผมมีความสุขมากครับที่ผลการรักษาดี และไม่ต้องเสียควายไปด้วย หน้าที่ของลูกที่ดี คือ การดูแลพ่อ แม่อย่างสุดกำลัง เท่าที่ทำได้มากที่สุด แสดงถึงความกตัญญูของลูกต่อพ่อ แม่ ส่วนหน้าที่ของหมอนั้นมิใช่เพียงแค่หน้าที่รักษาโรคของผู้ป่วยเท่านั้น แต่ต้องรักษาโรคและความทุกข์ที่ผู้ป่วยและครอบครัวมีด้วย แล้วเราจะมีความสุขในการรักษาผู้ป่วยทุกรายครับ