นโยบายด้านสุขภาพ ตอน การรักษาของแพทย์ด้วยยาหลัก

นโยบายด้านสุขภาพ-14

      

นโยบายด้านสุขภาพ ตอน การรักษาของแพทย์ด้วยยาหลัก

ผมเล่าเรื่องนี้ก็เพราะอยากให้ผู้อ่านทุกคนเข้าใจว่า การที่หมอตามโรงพยาบาลต่างๆ ให้ยาผู้ป่วยไม่มากชนิด มีแต่ยาหลักๆ นั้น ด้วยเหตุผลใด เพราะส่วนหนึ่งคิดว่าหมอจะประหยัดค่ายาบ้าง เพราะรักษาฟรีจะให้ยาอะไรมากมาย หรือหมอจะเลี้ยงไข้ ผมขอเล่าเรื่องเลยนะครับ

เช้าวันหนึ่งผมออกตรวจที่ห้องตรวจผู้ป่วยโรคระบบประสาท มีผู้ป่วยจำนวนมากในแต่ละวัน ซึ่งผมก็ตรวจไปเรื่อยๆ ไม่รู้สึกเบื่อ หรือเหนื่อยอะไร เนื่องจากการตรวจแบบนี้ก็ทำมานานมากกว่า 20 ปีแล้ว ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผู้ป่วยก็มีจำนวนมากเหมือนเดิม ซึ่งผมก็แปลกใจว่าทำไมไม่ลดลงเลย แล้วก็มาถึงผู้ป่วยรายหนึ่งเป็นหญิงสูงวัยมากับลูกชาย ผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันสูง ทานยาประมาณ 7 ชนิด ซึ่งผมก็พยายามให้ยาครอบคลุมทุกปัญหา และพยายามให้ยาน้อยชนิดที่สุด อาการของผู้ป่วยวันนี้ก็ไม่มีปัญหาอะไรเพิ่มเติม ปกติดี พอตรวจเสร็จผมก็ถามผู้ป่วยและญาติว่า “วันนี้ปกติดีนะครับ ผลตรวจร่างกาย ความดัน ระดับน้ำตาลก็ปกติดี ไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ ครับ ยินดีด้วยครับ มีอะไรจะถามหมอเปล่าครับ” เมื่อผมพูดจบ ลูกชายผู้ป่วยก็สอบถามผมว่า

“ผมรู้สึกว่าแม่ผมมีหลายโรค แต่ยาที่ได้นั้นมีเพียง 7 ชนิดเท่านั้น ผมเลยไม่ค่อยสบายใจ จึงได้พาแม่ไปตรวจที่คลินิกแห่งหนึ่งในจังหวัดที่ผมอยู่ ผมได้นำยาที่แม่ทานอยู่ทั้งหมดไปให้หมอท่านนั้นดูด้วย เมื่อตรวจเสร็จหมอก็สั่งยาให้แม่ผมเพิ่มอีก 5 ชนิดครับ แม่ผมก็ทานตามที่แนะนำ ผมสอบถามแม่ผมว่า อาการดีขึ้นหรือไม่เมื่อได้ทานยาเพิ่มอีก 5 ชนิด แม่บอกว่าดีขึ้นมากเลย วันนี้ผมจึงมากับคุณแม่ด้วย เพื่อมาสอบถามกับคุณหมอที่รักษาแม่ผมประจำว่า ยาที่แม่ผมทานตอนนี้ พอหรือไม่ ต้องเพิ่มยาอะไรอีกหรือเปล่า แล้วทำไมหมอที่คลินิกถึงให้ยาแม่ผมมาเพิ่มอีกตั้ง 5 ชนิด”

ผมฟังจบก็งงนิดหน่อย จึงขอดูยาที่ผู้ป่วยได้เพิ่มมาอีก 5 ชนิด พบว่าทั้งหมด คือ ยาวิตะมินกับยาบำรุงสมอง ยาคลายเครียด ยากระตุ้นอาหาร ผมจึงได้อธิบายให้ลูกชายผู้ป่วยฟังว่า “หมอได้ดูยาที่ได้เพิ่มมาทั้ง 5 ชนิดแล้วนะครับ เป็นยาที่ไม่ได้ใช้รักษาหรือแก้โรคหลักที่คุณแม่เป็นครับ ยาที่ได้มานั้นเป็นยาวิตะมิน ยาบำรุงสมอง ยาคลายเครียด และยากระตุ้นอาหาร ซึ่งถ้าผู้ป่วยไม่ได้มีปัญหาอะไร หมอก็ไม่ได้สั่งยาเหล่านี้ให้ครับ ยาบำรุงสมอง กับยาวิตะมินนั้นเป็นยาที่อยู่นอกบัญชียาหลักแห่งชาติเพราะประโยชน์ที่ได้รับจากนั้นไม่ชัดเจน ไม่มีความคุ้มค่าในการรักษา ส่วนยาคลายเครียดก็ไม่ได้สั่งให้ เพราะผมประเมินแล้วผู้ป่วยไม่ได้เครียด และก็ทานอาหารได้ไม่ค่อยดีนั้น ก็เพราะยาเบาหวานที่ผมสั่งให้นั้นมีฤทธิ์ทำให้เบื่ออาหารบ้างครับ ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลที่ทำไมผมถึงสั่งยาเพียง 5 ชนิดครับ” เมื่อผมอธิบายจบ ลูกชายผู้ป่วยได้ตอบขอบคุณผมว่า “ผมต้องขอบคุณหมอนะครับ ที่ได้อธิบายให้ผมเข้าใจอย่างดี ผมเป็นห่วงแม่ผมครับ เห็นท่านป่วยหลายโรค แต่ได้ยาไม่มาก กลัวว่าเป็นเพราะรักษาฟรี หมอก็เลยไม่ให้ยาทีดีกับแม่ผม ผมพร้อมที่จะจ่ายค่ายาเพิ่มเติมครับ แต่ถ้ายาทั้งหมดนั้นไม่ได้มีความจำเป็น ไม่มีประโยชน์ใดๆ ผมก็ไม่อยากให้แม่ผมทานหรอกครับ เดี่ยวจะได้โรคไตเพิ่มขึ้นมาอีกโรค”

ดังนั้นการรักษาของแพทย์ในโรงพยาบาล และยิ่งเป็นโรงเรียนแพทย์ การใช้ยาแต่ละชนิดต้องมีความเหมาะสม หรือการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ผู้ป่วยโปรดไว้ใจ เชื่อใจหมอที่ให้การรักษาด้วยครับ ว่ายาที่จำเป็นนั้น หมอให้การรักษาแน่นอน ไม่ได้เกี่ยวกับการรักษาฟรีหรือไม่ แล้วก็หมอไม่มีการเลี้ยงไข้หรอกครับ เพราะคนไข้หมอก็เยอะมากๆ แล้วครับ เชื่อผมเถอะครับ