นูโรเฟน (Nurofen)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 11 เมษายน 2560
- Tweet
- บทนำ
- นูโรเฟนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- นูโรเฟนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- นูโรเฟนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- นูโรเฟนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- นูโรเฟนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้นูโรเฟนอย่างไร?
- นูโรเฟนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษานูโรเฟนอย่างไร?
- นูโรเฟนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาฆ่าเชื้อ (Antimicrobial drug) ยาแก้อักเสบ (Anti inflammatory drug)
- กลุ่มยาแก้ปวดและยาพาราเซตามอล (Analgesics and Paracetamol)
- ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)
- โรคหวัด (Common cold)
- โรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)
- สะตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome)
บทนำ
ยานูโรเฟน(Nurofen) เป็นยาชื่อการค้าของยาแก้ปวดและยาลดไข้ที่มียาชื่อสามัญว่าไอบูโพรเฟน(Ibuprofen) ซึ่งอยู่ในกลุ่มยา NSAIDs มีข้อบ่งใช้ทางคลินิกในการบำบัดอาการปวดต่างๆ เช่น ปวดศีรษะ ปวดไมเกรน ปวดฟัน ปวดประจำเดือน นอกจากนี้ยังใช้เป็นยาลดไข้จากโรคหวัด ลดอาการอักเสบของข้อกระดูก(ข้ออักเสบ) การอักเสบของกล้ามเนื้อ(กล้ามเนื้ออักเสบ)และเส้นเอ็น
ยานูโรเฟนมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็น ยาชนิดเม็ด และยาน้ำ สำหรับรับประทาน โดยยาเม็ดเหมาะกับผู้ใหญ่ ส่วนยาน้ำจะเหมาะกับเด็ก และยังมียานูโรเฟนประเภทยาเจลที่เหมาะกับการทาผิวภายนอกเมื่อเกิดการบาดเจ็บหรือฟกช้ำของพวกนักกีฬา
จากการศึกษาเภสัชจลนศาสตร์ของตัวยาสำคัญของยานูโรเฟน พบว่านี้ชนิดรับประทาน สามารถถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร เข้าสู่กระแสเลือดได้ประมาณ 87–100% และจะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 30 นาที ยานี้ในกระแสเลือด จะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนได้ถึงประมาณ 98% ตับจะใช้เอนไซม์ที่มีชื่อว่า Cytochrome P450 2C9 (CYP2C9) ทำลาย/ทำการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของยาชนิดนี้ ซึ่งร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 1.3–3 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ กลไกการทำงานของนูโรเฟนเพื่อระงับความเจ็บปวดจะคล้ายกับยากลุ่ม NSAIDsหลายๆตัวคือ ไปชะลอหรือยับยั้งการสังเคราะห์สารสื่อประสาทในเนื้อเยื่อต่างๆที่เป็นต้นเหตุของการเกิดไข้และการปวดอักเสบที่มีชื่อเรียกว่า โพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) โดยการรักษาอาการปวดของยานูโรเฟน เหมาะกับอาการปวดที่ไม่รุนแรง จนถึงการปวดระดับกลาง
สำหรับผลข้างเคียงที่อาจพบเห็นจากการใช้ยานูโรคเฟนแบบรับประทาน ได้แก่ มีอาการ คลื่นไส้ อาหารไม่ย่อย ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก รวมถึงมีอาการเป็นแผลหรือก่อให้เกิดเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร
ข้อควรระวังบางประการที่ควรทราบคือ ยาหลายตัวในกลุ่ม NSAIDsรวมถึงยานูโรเฟน สามารถทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง และพัฒนาไปถึงขั้นหัวใจล้มเหลวได้ จึงต้องใช้ยานี้ด้วยความระมัดระวัง
*กรณีที่รับประทานยานูโรเฟนเกินขนาด อาจมีอาการที่สังเกตได้ง่ายๆ เช่น ปวดท้องมาก คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน ปวดศีรษะ หนังตากระตุก อาการที่รุนแรงมากเท่าที่มีรายงานทางคลินิก คือ มีเลือดออกในทางเดินอาหาร เกิดอาการชัก มีภาวะความดันโลหิตกลับมาต่ำ หัวใจเต้นช้าหรือไม่ก็เต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ เกิดอาการโคม่า มีอาการกดการหายใจของร่างกาย เป็นต้น ซึ่งหากพบอาการดังกล่าวหลังใช้ยานี้ ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน โดยแพทย์สามารถช่วยเหลือผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาดโดยการล้างท้อง และใช้ยาถ่านกัมมันต์เพื่อดูดซับพิษของยาไอบูโพรเฟน นอกจากนี้ยังต้องตรวจสภาพการทำงานของไต พร้อมกับต้องควบคุมสัญญาณชีพของร่างกายผู้ป่วยให้เป็นไปปกติเสมอ
คณะกรรมการอาหารและยาของไทย ได้จัดให้ตัวยาสำคัญในสูตรตำรับนูโรเฟน (ไอบูโพรเฟน/Ibuprofen) ถูกบรรจุลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ จัดเป็นประเภทยาอันตราย โดยมีคำเตือนและข้อควรระวังดังนี้
- ไม่ควรใช้ยา Ibuprofen ระยะยาวในผู้ป่วยที่ใช้ยาแอสไพรินขนาดต่ำๆ(Low dose aspirin)ร่วมด้วย เนื่องจากอาจมีผลต่อต้านประสิทธิภาพในการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจของยาแอสไพริน
- ใช้ในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไปเท่านั้น
- ระมัดระวังการใช้ในผู้ป่วยที่มีเกล็ดเลือดต่ำ เช่น ไข้เลือดออก
อนึ่ง ผู้บริโภค/ผู้ป่วยสามารถพบเห็นการใช้และการจัดจำหน่ายยานูโรเฟนได้ทั้งในสถานพยาบาล รวมถึงร้านขายยาแผนปัจจุบัน และหากมีข้อสงสัยการใช้ยาชนิดนี้สามารถสอบถามข้อมูลการใช้ยานี้เพิ่มเติมได้จากแพทย์ หรือจากเภสัชกรตามร้านขายยาทั่วไป
นูโรเฟนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยานูโรเฟนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ
- บำบัดอาการปวดต่างๆ เช่น ปวดศีรษะ ปวดไมเกรน ปวดประจำเดือน ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดฟัน ปวดข้อรูมาตอยด์ ปวดบาดแผล รวมถึงอาการเคล็ดขัดยอกจากการเล่นกีฬาและ
- ใช้เป็นยาลดไข้จาก โรคหวัด หรือไข้หวัดใหญ่ อีกด้วย
นูโรเฟนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยานูโรเฟนมีกลไกการออกฤทธิ์คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในร่างกาย ที่มีชื่อว่า Cyclooxygenase 1และ2 (COX 1และ2) ทำให้เกิดการยับยั้งการสังเคราะห์สาร Prostraglandins ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นและเป็นสาเหตุหนึ่งของการปวดจากการอักเสบ และอาการไข้ของร่างกาย จากกลไกดังกล่าวทำให้ผู้ที่ได้รับยานี้จะมีอาการทุเลา บรรเทาอาการปวด อาการไข้ และเป็นที่มาของฤทธิ์ในการรักษาได้ตามสรรพคุณ
นูโรเฟนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยานูโรเฟนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ด ชนิดรับประทานที่มีตัวยา Ibuprofen 200 และ 400 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาแคปซูลนิ่ม ชนิดรับประทานที่มีตัวยา Ibuprofen 200 และ 400 มิลลิกรัม/แคปซูล
- ยาน้ำแขวนตะกอน ที่ประกอบด้วยตัวยา Ibuprofen ขนาด 100 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
- ยาเจลทาผิวหนัง ที่ประกอบด้วยตัวยา Ibuprofen เข้มข้น 5% ขนาดบรรจุ 30 และ 50 กรัม/หลอด
นูโรเฟนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยานูโรเฟนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
ก.สำหรับบำบัดอาการปวดต่างๆ
- ผู้ใหญ่: รับประทานยาขนาด 1,200–1,800 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานวันละ 2-4 ครั้ง ตามแพทย์สั่ง ขนาดที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 600–1,200 มิลลิกรัม/วัน ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 2,400 มิลลิกรัม/วัน
ข. สำหรับบรรเทาอาการปวดจากโรคข้อรูมาตอยด์ในเด็กโต/ วัยรุ่น:
- เด็กโตและวัยรุ่น: รับประทานยาขนาด 40 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยแบ่งรับประทานวันละ 2-4 ครั้ง ตามแพทย์สั่ง
ค. สำหรับการใช้ยานี้กับเด็กเพื่อบรรเทาอาการปวด/ลดไข้ โดยใช้อายุเป็นเกณฑ์:
- เด็กอายุ 3–6 เดือน: รับประทานยานูโรเฟนชนิดน้ำ ครั้งละ 2.5 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง
- เด็กอายุ 6–12เดือน: รับประทานยานูโรเฟนชนิดน้ำ ครั้งละ 2.5 มิลลิลิตร วันละ 3–4 ครั้ง
- เด็กอายุ 1–4 ปี: รับประทานยานูโรเฟนชนิดน้ำ ครั้งละ 5 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง
- เด็กอายุ 4–7 ปี: รับประทานยานูโรเฟนชนิดน้ำ ครั้งละ 7.5 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง
- เด็กอายุ 7–10 ปี: รับประทานยานูโรเฟนชนิดน้ำ ครั้งละ 10 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง
- เด็กอายุ 10–12 ปี: รับประทานยานูโรเฟนชนิดน้ำ ครั้งละ 15 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง
- เด็กอายุมากกว่า 12 ปี: รับประทานยานี้ ครั้งละ 200–400 มิลลิกรัม ทุกๆ 4–6 ชั่วโมง ไม่ควรใช้ยาเกิน 1,200 มิลลิกรัม/วัน
ง.สำหรับบรรเทาอาการปวดโดยใช้ยาชนิดเจลทาผิวหนัง:
- ผู้ใหญ่: บีบยามีระยะ 4–10 เซนติเมตร โดยประมาณทาบนผิวหนังที่มีอาการปวด ทาถูเพียงเบาๆวันละ 2–3 ครั้ง และต้องล้างมือทุกครั้งหลังทายา
- เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัด ถึง ความปลอดภัย และประสิทธิผลของยานี้ในเด็ก
*อนึ่ง:
- ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 เดือน รวมถึงเด็กที่มีน้ำหนักตัวต่ำกว่า 7 กิโลกรัมลงมา
- สำหรับยาชนิดน้ำให้เขย่าขวดทุกครั้งก่อนรับประทาน
- ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ไม่ควรใช้ยาเกินจากขนาดรับประทานที่ระบุดังข้างต้น
- กรณีใช้ยานี้ แล้วอาการปวด อาการไข้ ไม่ทุเลาลงเกิน 3 วัน ควรรีบปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว
- ควรรับประทานยานี้พร้อมหรือหลังอาหารทันที เพื่อเป็นการลดอาการ ระคายเคืองในกระเพาะอาหารและลำไส้
- ยานี้ใช้รักษาและบรรเทาอาการในระยะสั้น เมื่ออาการดีขึ้น สามารถหยุดรับประทานยาได้
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยานูโรเฟน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคตับ แผลในทางเดินอาหาร(เช่น แผลในกระเพาะอาหาร) โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยานูโรเฟนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภท สามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิด ผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยานูโรเฟน ก็สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานในขนาดปกติ
นูโรเฟนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยานูโรเฟนซึ่งมีตัวยาสำคัญคือ ยาไอบูโพรเฟน ที่สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะเลือดออกง่าย มีภาวะโลหิตจาง เม็ดเลือดขาวมาก มีภาวะเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิล/Neutrophilต่ำ เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ปริมาณฮีโมโกลบินลดลง
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด ท้องเสียหรือท้องผูก อาหารไม่ย่อย รู้สึกไม่สบายในช่องท้อง แสบร้อนกลางหน้าอก เป็นตะคริวที่ท้อง มีเลือดออกในทางเดินอาหาร เกิดแผลในกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารอักเสบ เหงือกเป็นแผล/เหงือกอักเสบ
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน กระสับกระส่าย ง่วงนอน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน ตัวสั่น เกิดอาการชัก และโคม่า
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ชีพจรเต้นผิดปกติ
- ผลต่อตับ: เช่น มีภาวะตับอักเสบ เกิดดีซ่าน
- ผลต่อไต: เช่น ไตวาย ไตอักเสบ
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน Stevens-Johnson syndrome
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะขัด มีโปรตีนในปัสสาวะ ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะบ่อย ประจำเดือน(ในสตรี)มามากผิดปกติ
- ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น สารโปรตีนในเลือดต่ำ เกลือโปแตสเซียม/โพแทสเซียมในเลือดต่ำ เกลือโซเดียมในเลือดสูง น้ำตาลในเลือดต่ำ
- ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า ตาแห้ง ประสาทตาอักเสบ
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น วิตกกังวล รู้สึกสับสน ซึม ฝันแปลกๆ นอนไม่หลับ ประสาทหลอน
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ปอดบวม ไอ หอบหืด ความดันในปอดสูงขึ้น เยื่อจมูกอักเสบ
- ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น มีภาวะผู้ชายมีเต้านม (ในผู้ชาย)
มีข้อควรระวังการใช้นูโรเฟนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยานูโรเฟน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาชนิดนี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะเลือดออก หรือมีแผลในกระเพาะอาหาร-ลำไส้ มีภาวะหอบหืด/ โรคหืด เป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมอง โรคตับ โรคไต และโรคไข้เลือดออก
- ห้ามใช้กับผู้ที่อยู่ในภาวะร่างกายเสียน้ำ/ภาวะขาดน้ำ เช่น มีอาการอาเจียน ท้องเสีย หรือดื่มน้ำไม่เพียงพอในแต่ละวัน
- ห้ามใช้ร่วมกับยาที่มีฤทธิ์เป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือด อย่างเช่นยา Coumarin
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก สียาเปลี่ยนไป
- ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพราะจะทำให้เกิดผลข้างเคียงจากยาที่รุนแรง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยานูโรเฟนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
นูโรเฟนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยานูโรเฟนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ยานูโรเฟนสามารถทำให้ระดับยา Lithium , Methotrexate ในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น จนอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงจากยาทั้ง 2 ตัวนั้นตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานูโรเฟนร่วมกับ ยาขับปัสสาวะ ยากลุ่มBeta-blockers ด้วยยานูโรเฟนอาจทำให้ฤทธิ์การรักษาของยากลุ่มดังกล่าวน้อยลง
- ห้ามใช้ยานูโรเฟนร่วมกับยา Warfarin, Aspirin ด้วยจะทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่ายตามมา
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานูโรเฟนร่วมกับยา ACE inhibitors ด้วยจะทำให้ฤทธิ์ลดความดันโลหิตของยา ACE inhibitors ด้อยลง
ควรเก็บรักษานูโรเฟนอย่างไร?
ควรเก็บยานูโรเฟนภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส(Celsius) กรณียาประเภทแคปซูลนิ่มให้เก็บภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
นูโรเฟนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยานูโรเฟน ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Aprofen (อะโปรเฟน) | Medicine Supply |
Ambufen (แอมบูเฟน) | MacroPhar |
Brufen (บรูเฟน) | Abbot |
Brusil (บรูซิล) | Silom Medical |
Cefen junior (ซีเฟน จูเนียร์) | Pharmasant Lab |
Coprofen (โคโปรเฟน) | Community Pharm PCL |
G-Fen Syrup (จี-เฟน ไซรัป) | General Drugs House |
Gofen 400 Clearcap (โกเฟน 400 เคลียร์แคป) | Mega Lifesciences |
Heidi (ไฮดิ) | Siam Bheasach |
Ibrofen (ไอโบรเฟน) | T. O. Chemicals |
Ibugan (ไอบูแกน) | sanofi-aventis |
I-Profen (ไอ-โปรเฟน) | Osoth Interlab |
Mano-Bruzone (มาโน-บรูโซน) | March Pharma |
Medprofen (เมดโปรเฟน) | Modern Pharma |
P-Fen/P-Fen 400 (พี-เฟน/พี-เฟน 400) | Millimed |
Rheumanox (รูมานอกซ์) | Charoen Bhaesaj Lab |
S-Pro 600 (เอส-โปร 600) | L. B. S. |
Tonifen (ทูนิเฟน) | T. O. Chemicals |
Nurofen (นูโรเฟน) | Reckitt Benckiser |
บรรณานุกรม
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/nurofen-nurofen%20400-nurofen%20for%20children-nurofen%20gel-nurofen%20zavance/?type=brief[2017,March25]
- https://www.drugs.com/tips/ibuprofen-patient-tips#how_it_works[2017,March25]
- file:///C:/Users/apai/Downloads/904210.pdf [2017,March25]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Ibuprofen[2017,March25]
- http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/150#item-8894[2017,March25]
- https://www.drugs.com/uk/nurofen-400-mg-capsule-soft-leaflet.html[2017,March25]
- http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/search?keyword=ibuprofen[2017,March25]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/nurofen-nurofen%20400-nurofen%20for%20children-nurofen%20gel-nurofen%20zavance/dosage[2017,March25]
- https://www.drugs.com/sfx/ibuprofen-side-effects.html[2017,March25]