นีโอเตม (Neotame)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

นีโอเตม(Neotame)เป็นสารให้ความหวานแบบสังเคราะห์ที่มีความหวาน 7,000-13,000 เท่าของน้ำตาล มีโครงสร้างใกล้เคียงกับสารให้ความหวาน แอสปาร์แตม (Aspartame) ในแถบสหภาพยุโรปรู้จักนีโอเตมในรหัสที่ชื่อ E number E961 และเป็นที่ยอมรับว่ามีความปลอดภัยในการนำมาประกอบกับผลิตภัณฑ์อาหาร

นีโอเตมมีลักษณะเป็นผงผลึกสีขาว มีสูตรเคมี คือ C20H30N2O5 ทนความร้อนได้ดีในระดับกลาง เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะถูกเปลี่ยนโครงสร้างโดยกระบวนการทางเคมีของร่างกาย และจะถูกกำจัดออกไปได้อย่างรวดเร็วทางปัสสาวะและอุจจาระภายใน 2-3 ชั่วโมงหลังการบริโภค จึงไม่พบการสะสมของสารนี้อยู่ในร่างกาย นอกจากนี้ นีโอเตมยังเป็นสารให้ความหวานอีกชนิดที่ไม่ให้พลังงานกับร่างกาย จึงตัดข้อกังวลในเรื่องทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง และสารนี้ไม่ก่อให้เกิดภาวะฟันผุ

นีโอเตม ถูกขึ้นทะเบียนและเป็นที่ยอมรับต่อคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศทางตะวันตกเมื่อปี ค.ศ.2002 (พ.ศ.2545) และมีการใช้สารนี้ต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน แต่ก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายในอุตสาหกรรมอาหารเท่าไรนัก สารนี้มีค่าระดับความปลอดภัยของการบริโภค หรือ ADI (Acceptable Daily Intake) ที่แนะนำโดยองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา(U.S. Food and Drugs Administration; U.S. FDA) อยู่ที่ไม่เกิน 0.3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม

การใช้นีโอเตมมาประกอบในอาหาร นักเศรษฐศาสตร์พบว่ามีต้นทุนเทียบเท่า 1% ของน้ำตาล

ในแง่สุขภาพ นีโอเตมอาจเป็นประโยชน์ในการปรุงแต่งรสชาติสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน หากได้รับการสนับสนุน สร้างความเข้าใจอย่างถ่องแท้ นีโอเตมอาจเป็นสารปรุงแต่งทางเลือกของผู้บริโภคที่ดีกว่าแอสปาร์แตม

นีโอเตมมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

นีโอเตม

นีโอเตมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เป็นสารให้ความหวานที่ให้พลังงานต่ำ สามารถใช้กับผู้ป่วยโรคเบาหวาน และไม่ทำอันตรายต่อสุขภาพฟันของผู้บริโภค

นีโอเตมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ด้วยนีโอเตมมีความหวานมากกว่าน้ำตาล 7,000-13,000 เท่า ดังนั้นการใช้นีโอเตม เพื่อบริโภคจะใช้เพียงปริมาณเล็กน้อย แต่ก็สามารถทำให้ลิ้นของผู้บริโภครู้สึกรับรสหวานได้เท่ากับการบริโภคน้ำตาล และนีโอเตมจะปลดปล่อยพลังงานให้ร่างกายได้น้อย จึงไม่ส่งผลเพิ่มน้ำหนักตัวของร่างกาย หรือเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด

นีโอเตมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ในประเทศไทย นีโอเตมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายในรูปวัตถุดิบ ขนาด 25 กิโลกรัม/ถัง

นีโอเตมมีขนาดรับประทานอย่างไร?

นีโอเตมมีขนาดรับประทานโดยอ้างอิงขนาดการรับประทานต่อน้ำหนักตัวจาก U.S. FDA คือ ไม่เกิน 0.3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม

นีโอเตมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ปัจจุบันยังไม่พบรายงานผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)จากการใช้นีโอเตมแต่อย่างใด ด้วยนีโอเตมถูกกำจัดออกจากร่างกายอย่างรวดเร็วและไม่มีการสะสมในร่างกาย

มีข้อควรระวังการใช้นีโอเตมอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้นีโอเตม เช่น

  • ห้ามใช้ในผู้ที่เคยมีอาการแพ้นีโอเตม
  • หากเกิดอาการแพ้ยา/แพ้ผลิตภัณฑ์ที่มีนีโอเตมเป็นส่วนประกอบ เช่น เกิดอาการผื่นคัน ตัวบวม หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ให้หยุดการใช้ทันที แล้วรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ห้ามใช้นีโอเตมกับทารกแรกคลอด/ทารกแรกเกิด
  • ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์นีโอเตมที่หมดอายุ
  • ห้ามเก็บผลิตภัณฑ์นีโอเต็มที่หมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบัน ยาแผนโบราณ สมุนไพร สารปรุงแต่งรสชาติต่างๆอย่างนีโอเตม ด้วยผลิตภัณฑ์ดังกล่าว มีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยา หรือสารปรุงแต่งอาหารทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

นีโอเตมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ด้วยนีโอเตมเป็นเพียงสารให้ความหวานแทนน้ำตาล ที่สามารถถูกกำจัดออกจากร่างกายได้อย่างรวดเร็ว และไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ยา จึงยังไม่มีรายงานการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยารับประทานชนิดใดๆ

ควรเก็บรักษานีโอเตมอย่างไร?

ควรเก็บนีโอเตมในอุณหภูมิห้องที่เย็น หรือตามข้อกำหนดในเอกสารกำกับยา/เอกสารกำกับตัวผลิตภัณฑ์ ควรเก็บนีโอเตมในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็น และเก็บให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

นีโอเตมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

นีโอเตมที่จำหน่ายในประเทศไทย มีชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
HC (เฮชซี) HUNGSUNCHEM

อนึ่ง นีโอเตมที่จำหน่ายในต่างประเทศ มีชื่อการค้า เช่น Newtame

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Neotame [2016,July30]
  2. http://tna.europarchive.org/20130513091226/http://www.food.gov.uk/news-updates/news/2010/nov/additives [2016,July30]
  3. http://www.neotame.com/ [2016,July30]
  4. https://pubchem.ncbi.nlm.nih.gov/compound/Neotame [2016,July30]
  5. http://zzxren.lookchem.com/products/CasNo-165450-17-9-Neotame-2035455.html [2016,July30]
  6. https://www.alibaba.com/product-detail/High-Sweeteness-GMP-Neotame-Sweetener_60330246171.html [2016,July30]
  7. http://www.foodchemadditives.com/side_effects_info/769 [2016,July30]
  8. http://www.fda.gov/Food/IngredientsPackagingLabeling/FoodAdditivesIngredients/ucm397725.htm#Neotame [2016,July30]
  9. https://pubchem.ncbi.nlm.nih.gov/compound/Neotame#section=Evaluations-of-the-Joint-FAO-WHO-Expert-Committee-on-Food-Additives---JECFA [2016,July30]