นิ่วทอนซิล ทอนซิลโลลิท (Tonsillolith)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 28 พฤษภาคม 2564
- Tweet
- บทนำ: คือโรคอะไร?พบบ่อยไหม?
- นิ่วทอนซิลเกิดได้อย่างไร? มีอะไรเป็นปัจจัยเสี่ยง?
- นิ่วทอนซิลมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยนิ่วทอนซิลได้อย่างไร?
- รักษานิ่วทอนซิลได้อย่างไร?
- นิ่วทอนซิลรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- ป้องกันนิ่วทอนซิลได้ไหม?
- บรรณานุกรม
- ต่อมทอนซิลอักเสบ(Tonsillitis)
- กลิ่นปาก(Bad breath)
- ไซนัสอักเสบ(Sinusitis)
- โรคทางเดินหายใจ โรคระบบหายใจ (Respiratory tract disorder)
- โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease)
- โรคหูคอจมูก(ENT disease)
- การตรวจทางหูคอจมูก(Clinical examination of Ear Nose Throat or Clinical ENT examination)
- การผ่าตัดต่อมทอนซิล(Tonsillectomy)
- เจ็บคอ (Sore throat)
บทนำ: คือโรคอะไร?พบบ่อยไหม?
นิ่วทอนซิล หรือบางคนเรียกว่า ‘ขี้ทอนซิล’ (Tonsillolith หรือ Tonsillith หรือ Tonsil stone) คือโรคที่มี ก้อนสีขาวขุ่น หรือ สีออกเหลืองขุ่น เกิดอยู่บนต่อมทอนซิล โดยเกิดในร่องต่างๆบนตัวตอมทอนซิล ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นมักเป็นสาเหตุให้เกิด ‘กลิ่นปาก’ ทั้งนี้นิ่วทอนซิลอาจพบได้ในช่องคอหอย หรือ ช่องคอส่วนอื่นๆ เช่น โพรงหลังจมูก แต่ที่พบบ่อยที่สุดคือที่ ต่อมทอนซิล
นิ่วทอนซิล เป็นโรคพบไม่บ่อย พบเรื่อยๆ ประมาณ 10% ของคนทั่วไป มักพบในผู้ใหญ่วัยต้นๆ พบน้อยมากในเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) เพศหญิงและเพศชายเกิดใกล้เคียงกัน ทั้งนี้อาจเกิดกับต่อมทอนซิลเพียงด้านเดียวหรือทั้งซ้าย - ขวาพร้อมๆกัน และโอกาสเกิดในต่อมด้านซ้ายและด้านขวาก็ใกล้เคียงกัน
นิ่วทอนซิลมัก มีสีขาวหรือสีออกเหลืองขุ่น อาจออกสีเทา บางครั้งเป็นสีน้ำตาล หรือสีดำ อาจเป็นเพียงก้อนเล็กๆก้อนเดียวหรือมีหลายๆก้อน เมื่อมีก้อนเล็กๆมักพบได้หลายก้อนพร้อมกัน แต่เมื่อมีขนาดใหญ่มักพบมีเพียงก้อนเดียว ขนาดก้อนพบได้ตั้งแต่เพียง 1 มิลลิเมตร หรือ 2 - 3 มิลลิเมตร (พบบ่อย) จนถึงประมาณ 3 - 4 เซนติเมตร (พบน้อย) โดยน้ำหนักของก้อนมีรายงานตั้งแต่ 0.56 กรัมจนถึง 42 กรัม ทั่วไปมักมีลักษณะกลมหรือรูปไข่ (แต่พบรูปร่างได้ต่างๆ เช่น ทรงกระบอก) ลักษณะเป็นก้อนแข็งหยุ่นๆ ไม่แข็งเป็นหิน
นิ่วทอนซิลมักมีส่วนประกอบของเกลือแร่แคลเซียม (ดังนั้นจึงเห็นได้จากภาพเอกซเรย์ช่องคอ)ร่วมกับสารคาร์บอเนท (Carbonate) แต่อาจพบมีส่วนประกอบของเกลือแร่อื่นๆได้ เช่น แมกนีเซียม (Magnesium), โซเดียม (Sodium), โพแทสเซียม (Potassium), และ แมงกานีส (Manganese)
นิ่วทอนซิลเกิดได้อย่างไร? มีอะไรเป็นปัจจัยเสี่ยง?
สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเกิดนิ่วทอนซิล:
- สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบ
- แต่เชื่อว่าเกิดจากมีการสะสมของแบคทีเรียหลายชนิดทั้งชนิดที่ใช้ออกซิเจนและชนิดไม่ใช่ออกซิเจนในร่องต่างๆของต่อมทอนซิล จนก่อให้เกิดคราบแบคทีเรียที่เรียกว่า
‘ไบโอฟิล์ม (Biofilm)’ เกิดเป็นแก่นให้เกิดการสะสมหมักหมมของซากแบคทีเรียที่ตายแล้ว, เศษอาหาร, สารคัดหลั่งต่างๆจากโพรงหลังจมูก, ภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรัง,
คออักเสบเรื้อรัง, กรดไหลย้อน, และจากต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรัง, และมีเกลือแร่/ แร่ธาตุต่างๆดังกล่าวมาร่วมจับสะสมจนเกิดเป็นนิ่วทอนซิลขึ้น ซึ่งจากการย่อยสลายของแบคทีเรียและ ซากหมักหมมต่างๆ จึงก่อให้เกิดกลิ่นขึ้นจนเป็นสาเหตุสำคัญสาเหตุหนึ่งของกลิ่นปากโดย เฉพาะในผู้ที่มีต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรัง
ทั้งนี้: ปัจจัยเสี่ยงเกิดนิ่วทอนซิลยังไม่ทราบชัดเจน แต่พบเกิดได้สูงขึ้นใน
- คนที่มีต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรัง และ/หรือ
- เจ็บคอ/คออักเสบ/คอหอยอักเสบ เรื้อรัง
อนึ่ง: นิ่วทอนซิลไม่มีความสัมพันธ์กับนิ่วในตำแหน่งอื่นๆของร่างกาย เช่น นิ่วในไต, นิ่วในถุงน้ำดี, หรือ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ, และกลไกการเกิดโรคก็ต่างกัน เป็นเพียงมีลักษณะเป็นก้อนเหมือนกันจึงเป็นการเรียกว่า’นิ่ว’พ้องกัน
นิ่วทอนซิลมีอาการอย่างไร?
อาการของนิ่วทอนซิล ได้แก่
ก. นิ่วทอนซิลที่มีขนาดเล็ก: มักไม่มีอาการ แต่ถ้าก่ออาการคือ การมีกลิ่นปาก
ข. เมื่อก้อนนิ่วใหญ่ขึ้นจะก่ออาการได้ ซึ่งอาการที่พบ เช่น
- มีกลิ่นปาก
- เจ็บคอ/คออักเสบเรื้อรัง
- ไอเรื้อรัง
- รู้สึกคล้ายมีอะไร/ก้างติดคอ
- กลืนอาหาร/ดื่มน้ำแล้วรู้สึกเหมือนติดคอ
- มีรสชาติอาหารผิดไป อาจรู้สึกว่าได้รับรสโลหะ(ความรู้สึก/รสเหมือนขณะอมช้อนโลหะ เช่น สังกะสี)
- เมื่อก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่ เมื่ออ้าปากจะมองเห็นก้อนนิ่วได้ โดยเห็นมีก้อนสีขาวๆ หรือเหลืองๆ หรือสีต่างๆในต่อมทอนซิลซึ่งก้อนจะมีลักษณะดังได้กล่าวแล้วในหัว ข้อ ‘บทนำฯ’
แพทย์วินิจฉัยนิ่วทอนซิลได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยนิ่วทอนซิลได้จาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น อาการเจ็บคอ/คออักเสบเรื้อรัง การมีกลิ่นปาก
- การตรวจร่างกาย รวมถึง การตรวจในช่องคอ ซึ่งเมื่อเห็นนิ่วก็วินิจฉัยได้เลย ไม่ต้องมีการตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติม
- แต่ถ้าไม่เห็นนิ่วและแพทย์คิดว่าอาการน่าเกิดจากมีนิ่วทอนซิล การสืบค้นเพิ่มเติม เช่น
- การเอกซเรย์ภาพช่องคอ หรือ
- การตรวจภาพช่องคอด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) เพราะดังกล่าวแล้วว่า นิ่วทอนซิลมีส่วนประกอบเป็นแคลเซียมซึ่งจะตรวจพบได้จากการเอกซเรย์/เอกซเรย์คอมพิวเตอร์
รักษานิ่วทอนซิลได้อย่างไร?
แพทย์รักษานิ่วทอนซิลได้หลายวิธี ทั้งนี้ขึ้นกับอาการของผู้ป่วย, ขนาด, และตำแหน่งของนิ่ว, รวมทั้งโรคที่เป็นสาเหตุที่รวมถึงโรคของต่อมทอนซิลเอง, ดังนั้นการรักษาจึงมีได้ตั้งแต่
- ไม่จำเป็นต้องมีการรักษาเมื่อ
- ผู้ป่วยไม่มีอาการ
- ก้อนนิ่วมีขนาดเล็กมาก และ
- ต่อมทอนซิลมีลักษณะปกติ
- แพทย์ใช้นิ้วดุนนิ่วออกในขณะทำการตรวจช่องคอ
- การใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีสารละลายบางชนิด
- การขูดนิ่วออกด้วยเครื่องมือทางการแพทย์
- การเอานิ่วออกโดยใช้เลเซอร์
- การผ่าตัดต่อมทอนซิลเมื่อเกิดร่วมกับต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรัง
- นอกจากนั้นคือ
- การรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง เช่น ไซนัสอักเสบเรื้อรัง, ต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรัง, เจ็บคอ-คออักเสบ คอหอยอักเสบ เรื้อรัง, กรดไหลย้อน
นิ่วทอนซิลรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?
การพยากรณ์โรคของนิ่วทอนซิล คือ เป็นโรคไม่รุนแรง ไม่ทำให้ตาย เพียงแต่มีผลต่อคุณภาพชีวิตเมื่อเป็นสาเหตุของกลิ่นปาก และเป็นโรคที่กลับเป็นใหม่ได้อีกหลังได้รับการรักษาไปแล้วถ้ากลับมามีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงอีก
ทั้งนี้ยังไม่มีรายงานว่า นิ่วทอนซิลก่อให้เกิดผลข้างเคียงแทรกซ้อนใดๆ ยกเว้นอาจเป็นสาเหตุของการมีกลิ่นปาก และ
อนึ่ง: ยังไม่มีรายงานว่า นิ่วทอนซิล
- เป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งต่อมทอนซิล หรือ
- เป็นอาการของโรคมะเร็งทอนซิล หรือ
- กลายเป็นมะเร็งทอนซิล
ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
การดูแลตนเองเมื่อมีกลิ่นปากเรื้อรังและ/หรือเป็นนิ่วทอนซิล/ที่มีอาการดังได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ คือ การพบแพทย์ อาจเป็นแพทย์ทั่วไปหรือแพทย์ หู คอ จมูก เพื่อการวินิจฉัยหาสาเหตุ เพื่อได้รับการรักษาที่เหมาะสม
ส่วนเมื่อพบว่าเป็นนิ่วทอนซิลแล้ว การดูแลตนเอง เช่น
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- ป้องกันรักษาควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคต่อมทอนซิลอักเสบ
- รักษาความสะอาดของช่องปากและฟันด้วย
- การแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งเมื่อตื่นนอนเช้าและก่อนนอน
- รู้จักใช้ไหมขัดฟัน
- บ้วนปากด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำเกลือเจือจางหลังกินอาหารทุกมื้อ และ
- พบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน หรือบ่อยตามทันตแพทย์แนะนำ
- ป้องกันควบคุมรักษาการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจที่เป็นสาเหตุให้เกิดช่องคอและ/หรือคออักเสบเรื้อรัง เช่น โรคหวัด, โรคไข้หวัดใหญ่, ไซนัสอักเสบ ด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
- ป้องกันและควบคุมโรคภูมิแพ้ที่เกิดกับระบบทางเดินหายใจ
- ป้องกันรักษาควบคุมโรคกรดไหลย้อน (โรคกรดไหลกลับ)
ป้องกันนิ่วทอนซิลได้ไหม?
การป้องกันนิ่วทอนซิลเป็นเรื่องยาก เนื่องจากดังกล่าวแล้วว่ายังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง แต่เนื่องจากพบได้บ่อยขึ้นเมื่อมีต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรังหรือมีการอักเสบเรื้อรังของช่องคอ และของไซนัสดังได้กล่าวแล้ว
ดังนั้นการป้องกันการอักเสบติดเชื้อของช่องปาก ทอนซิล ช่องคอ และระบบทางเดินหายใจ รวมถึงป้องกันควบคุมรักษาโรคกรดไหลย้อน จึงอาจช่วยลดโอกาสเกิดนิ่วทอนซิลลงได้ซึ่งที่สำคัญ เช่น
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
- รักษาความสะอาดของช่องปากและฟัน โดย
- แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งเมื่อตื่นนอนเช้าและก่อนนอน
- รู้จักใช้ไหมขัดฟัน
- บ้วนปากด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำเกลือเจือจางหลังกินอาหารทุกมื้อ และ
- พบทันตแพทย์ทุก 6 เดือนหรือบ่อยตามทันตแพทย์แนะนำ
- ป้องกันการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหวัด, โรคไข้หวัดใหญ่
- ป้องกันรักษาและควบคุมโรคภูมิแพ้ที่เกิดกับระบบทางเดินหายใจ
- ป้องกันรักษาและควบคุมโรคกรดไหลย้อน (โรคกรดไหลกลับ)
บรรณานุกรม
1. Ansai, T., and Takehara, T. (2005). Tonsillolith as a halitosis-inducing factor. Br Dental J. 198, 263-264.
2. Mandel, L. (2008). Multiple bilateral tonsiilliths: case report. J Oral Maxillofac Surg. 66, 148-150.
3. Mesolella, M. et al. (2004). Tonsillolith. Acta Otorhinolaryngol Ital.24, 302-307.
4. De Moura, M. et al. (2007). Tonsillolith. Med Oral Patol Oral Cir Bucal.12, e130-e133.
5. Stoodley, P. et al. (2009). Tonsillolith: not just a stone but aliving biofilm. Otolaryngology-Head and Neck Surgery. 141,316-321.
6. https://en.wikipedia.org/wiki/Tonsil_stones [2021,May22]