นิโลตินิบ (Nilotinib)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยานิโลตินิบ หรือ นิโลทินิบ (Nilotinib) เป็นยาเคมีบำบัดชนิดรับประทาน (Oral chemotherapy) ซึ่งกลไกของยานิโลตินิบสามารถออกฤทธิ์ตรงกับกลไกการเกิดโรค เรียกว่า เป็นการรักษาแบบพุ่งเป้า/ยารักษาตรงเป้า (Targeted therapy) ยามีข้อบ่งใช้สำหรับรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวซีเอ็มแอล (Chronic Myelogenous Leukemia:CML)ระยะคงที่เรื้อรัง(Chronic stable) และระยะเร่ง(Accelerated phase) โดยต้องได้รับการตรวจยีนยืนยันจากแพทย์ว่า ผู้ป่วยมีโครโมโซมชนิดฟิลาเดลเฟีย(Philadelphia chromosome +)ให้ผลบวก อีกทั้งยานิโลตินิบยังสามารถใช้ในผู้ป่วยที่มีการดื้อต่อยาอิมมาตินิบ(Imatinib)มาแล้ว

ยานิโลตินิบเป็นยาเคมีบำบัดที่มีข้อบ่งใช้และขนาดยาที่จำเพาะต่อบุคคล และต่อสภาวะโรค ทั้งนี้ยานี้สามารถเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาชนิดอื่นๆได้หลายชนิด การใช้ยานี้จึงจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลจากแพทย์ผู้รักษา ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้ ควรให้ความใส่ใจเป็นพิเศษในการใช้ยานี้ โดยติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากยานี้ที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดการรักษา รวมถึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาอื่นๆร่วมกับยานิโลตินิบ

ยานิโลตินิบมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)อย่างไร?

นิโลตินิบ

ยานิโลตินิบมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้สำหรับการรักษามะเร็งเม็ดขาวชนิดเรื้อรัง (มะเร็งเม็ดเลือดขาวซีเอ็มแอล)ในโรคระยะคงที่เรื้อรังชนิดที่ผู้ป่วยมีโครโมโซมฟิลาเดลเฟีย (Philadelphia chromosome +) และในโรคระยะเร่ง รวมถึงในผู้ป่วยที่มีการดื้อยาอิมมาตินิบมาแล้ว

ยานิโลตินิบมีมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยานิโลตินิบเป็นยากลุ่มยับยั้งไทโรซีนไคเนส หรือ Tyrosine kinase inhibitors(TKTs) มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่มีชื่อว่า Abl tyrosine kinase ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งจำเพาะต่อการเพิ่มจำนวนเซลล์ และสามารถทำให้เกิดการตายขึ้นของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว

ยานิโลตินิบถูกนำมาใช้ในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวซีเอ็มแอล ซึ่งเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งซึ่งจะมีการแบ่งตัวของเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีชื่อว่ามัยอีลอยด์เซลล์ (Myeloid cell) เพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติในไขกระดูก จนมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นในเลือด ซึ่งเป็นมะเร็งชนิดแรกที่พบความเชื่อมโยงกับความผิดปกติทางพันธุกรรม กล่าวคือ เกิดการสลับที่ของชิ้นส่วนของโครโมโซม (เรียกการสลับชิ้นส่วนนี้ว่า Bcr-abl fusion) เกิดขึ้นโดยยีน/จีน(Gene)ของโครโมโซมที่ 22 (ถูกเรียกว่า Bcr) ย้ายไปเชื่อมต่อกับยีนของโครโมโซมที่ 9 (ถูกเรียกว่า Abl) จึงเรียกโครโมโซมที่ผิดปกตินี้ใหม่ว่า โครโมโซมฟิลาเดลเฟีย (Philadelphia chromosome) ยีนที่ผิดปกติบนโครโมโซมนี้จะทำการสร้างสารโปรตีนที่มีชื่อว่า ไทโรซีนไคเนส(Tyrosine kinase) ซึ่งจะทำงานโดยปราศจากการควบคุม และจะกระตุ้นการแบ่งตัวของเซลล์จนเกิดเป็นมะเร็ง โดยช่วงแรกจะเป็นระยะคงที่เรื้อรัง ผู้ป่วยมักไม่แสดงอาการ แต่จะตรวจพบความผิดปกติของเม็ดเลือดขาวจากการตรวจความสมบูรณ์ของเลือด(การตรวจCBC) ต่อมาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวซีเอ็มแอลจะมีการดำเนินโรคเข้าสู่ระยะเร่ง และระยะ บลาสติก(Blastic phase,ระยะรุนแรงที่สุดของโรคนี้)ที่มีความรุนแรงโรคสูงขึ้นตามลำดับ โรคมะเร็งนี้พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งยานิโลตินิบเป็นยารักษามะเร็งที่ออกฤทธิ์ตรงกับกลไกการเกิดโรค (Targeted therapy) โดยการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซีนไคเนส จึงทำให้โรคนี้สงบลงได้

ยานิโลตินิบมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ที่มีจำหน่ายของยานิโลตินิบ คือ ยาเม็ดแคปซูลชนิดแข็ง (Hard capsules) มีขนาดยา 150 และ 200 มิลลิกรัมต่อเม็ด

ยานิโลตินิบมีวิธีใช้ยาอย่างไร?

ยานิโลตินิบเป็นยาเคมีบำบัด มีรูปแบบเม็ดสำหรับรับประทาน เป็นยาควบคุมพิเศษที่มีใช้เฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น ดังนั้นไม่สามารถหาซื้อยานิโลตินิบได้จากร้านยาทั่วไป ขนาดยาและวิธีการบริหารยานี้สำหรับผู้ใหญ่อยู่ภายใต้การพิจารณาจากแพทย์ที่มีประสบการณ์รักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวเท่านั้น โดยขนาดยาและระยะเวลาที่จะได้รับยานี้นั้น แพทย์จะพิจารณาจากข้อบ่งใช้ของยาต่อโรคหรือต่อภาวะโรคที่ต้องการรักษา ทั้งนี้การปรับขนาดยานี้มีปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง เช่น น้ำหนักตัวผู้ป่วย อายุ ค่าความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด(ปริมาณเม็ดเลือดขาว, ปริมาณเม็ดเลือดแดง และปริมาณเกล็ดเลือด ฯลฯ) รวมถึงยาชนิดอื่นๆที่ผู้ป่วยกำลังได้รับอยู่ ยานี้ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาในผู้ป่วยที่มีภาวะการทำงานของไตหรือของตับ บกพร่อง สามารถใช้ยานี้ขนาดเดิมได้ตามปกติ

วิธีรับประทานยานิโลตินิบ คือ รับประทานวันละ 2 ครั้ง โดยอาหารมีผลเพิ่มการดูดซึมของยานิโลตินิบ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยในการใช้ยานี้ ผู้ป่วยควรรับประทานยานี้ในขณะท้องว่าง คือ รับประทานยาก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง หรือหลังรับประทานอาหารไปแล้ว 2 ชั่วโมง และควรกลืนยาทั้งเม็ดพร้อมน้ำเปล่า

กรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถกลืนยานิโลตินิบได้ทั้งเม็ด บริษัทผู้ผลิตยาแนะนำว่าสามารถถอดฝาครอบแคปซูลออกจากกันได้ แล้วนำผงยาภายในแคปซูลละลายด้วยน้ำผลไม้ปริมาณน้อยๆหรือซอสผลไม้ปริมาณ 1 ช้อนชา แล้วรับประทานทันที โดยต้องจำกัดปริมาณน้ำ/ซอสผลไม้ เช่น ซอสแอ๊ปเปิ้ลไม่เกิน 1 ช้อนชา ทั้งนี้ไม่แนะนำอาหารชนิดอื่นๆนอกจากซอสผลไม้ เพราะต้องการให้สภาวะในกระเพาะอาหารว่างเพื่อให้ยาสามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ในปริมาณปกติ เนื่องจาก อาหารมีผลเพิ่มการดูดซึมของยานี้

หากท่านกำลังได้รับยานี้อยู่ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร อย่างเคร่งครัด ที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตนระหว่างได้รับยานี้ และควรสังเกตอาการต่างๆ ซึ่งหากท่านมีอาการไม่พึงประสงค์จากยานี้ที่รุนแรง ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเกิดขึ้น ท่านควรต้องไปพบแพทย์ก่อนกำหนด เพื่อรับการรักษาอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าว

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยานิโลตินิบ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยา / แพ้อาหาร / แพ้สารเคมีทุกชนิด
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยานิโลตินิบอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
  • ประวัติสุขภาพหรือภาวะโรคที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบสำหรับแพทย์ในการพิจารณาใช้ยานี้
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เนื่องจาก ยังไม่มีข้อมูลการใช้ยานี้ในสตรีมีครรภ์ แต่มีรายงานความเป็นพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)ของยานี้ต่อตัวอ่อนขณะที่แม่ได้รับยานี้ขนาดสูง ดังนั้นแพทย์จะพิจาณาใช้ยานี้เฉพาะกรณีที่มีประโยชน์เหนือความเสี่ยงเท่านั้น
  • หากผู้ป่วยได้รับยานี้ และกำลังให้นมบุตรอยู่ แนะนำให้หยุดการให้นมบุตร เพราะยังไม่มีข้อมูลว่ายานี้สามารถขับผ่านทางน้ำนมได้หรือไม่ แต่เพื่อความปลอดภัยและหลีกเลี่ยงการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยานี้ที่รุนแรงแก่บุตร ไม่ควรให้นมบุตรขณะได้รับยานี้

หากลืมรับประทานยานิโลตินิบควรทำอย่างไร?

กรณีลืมรับประทานยานิโลตินิบ โดยมีวิธีการรับประทานยาวันละ 2 ครั้งต่อวัน หากผู้ป่วยลืมรับประทานยานี้ ให้รับประทานยานี้ทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทานยานี้มื้อถัดไป(เกินกว่าครึ่งหนึ่งของระยะห่างระหว่างมื้อ คือ เกิน 6 ชั่วโมง จากเวลารับประทานยาปกติ) ให้ข้ามมื้อยานี้ที่ลืมไป รอรับประทานยานี้มื้อถัดไปเลยโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยานี้เป็น 2 เท่า เช่น ปกติรับประทานยานี้วันละ 2 ครั้ง เวลา 7.00 น. และ 19.00 น. หากผู้ป่วยนึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยานี้มื้อ 7.00 น. ตอนเวลา 10.00 น. ก็ให้รับประทานยานี้มื้อ 7.00 น. ทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากนึกขึ้นได้ในช่วงที่ใกล้กับช่วงเวลาของยานี้มื้อถัดไป (หมายถึงเกินกว่า ครึ่งหนึ่งของช่วงห่างจากเวลารับประทานยานี้ปกติถึงมื้อถัดไป) เช่น นึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยานี้มื้อ 7.00 น. ตอนเวลา 16.00 น. ให้รอรับประทานยานี้มื้อถัดไป คือ เวลา 19.00 น. ในขนาดยาปกติ โดยไม่ต้องนำยามื้อที่ลืมรับประทานมารับประทานเพิ่ม อย่างไรก็ตามควรรับประทานยาเม็ดที่ลืมในช่วงท้องว่าง คือ รับประทานในช่วงหลังรับประทานอาหารไปแล้ว 2 ชั่วโมง หรือกรณีที่รับประทานยาแล้วต้องการรับประทานอาหารต่อจากยา ควรรับประทานอาหารห่างจากยาอย่างน้อย 1 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการเกิดอันตรายจากการดูดซึมของยานิโลตินิบเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าปกติ

ยานิโลตินิบมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ของยานิโลตินิบที่พบได้บ่อย เช่น การคั่งของสารน้ำจนเกิดการบวมน้ำ โดยมักจะบวมน้ำที่ ปลายมือ ปลายเท้า เกิดท้องมาน ความดันโลหิตสูง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ รู้สึกอ่อนเพลีย ซึมเศร้า วิตกกังวล มึนงง ผื่นผิวหนัง คัน ผมร่วง เหงื่อออกกลางคืน เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ท้องร่วง/ท้องเสีย อาเจียน ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ระดับฟอสเฟตในเลือดสูง เม็ดเลือดขาวต่ำซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อ ทั้งเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา เกล็ดเลือดต่ำ เลือดจาง ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดออก่ายผิดปกติ เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น

ผลข้างเคียงอื่นจากยานี้ที่พบได้ เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด การเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งส่งผลทำให้การนำไฟฟ้า/คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดร้ายแรง

หากท่านกำลังใช้ยานิโลตินิบอยู่ และเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา ดังต่อไปนี้ เช่น มีการคั่งของสารน้ำและรู้สึกบวมน้ำบริเวณใบหน้า, รู้สึกแน่นหน้าอก/ หายใจลำบาก, อาเจียนอย่างหนัก, ปวดท้องอย่างรุนแรง, ท้องเสียหรือถ่ายท้องอย่างมากจนอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำรุนแรง และมีภาวะสมดุลเกลือแร่ผิดปกติ (อาการที่สังเกตได้ เช่น เหนื่อย สับสน อ่อนเพลีย อ่อนแรง หัวใจเต้นเร็ว) มีปัญหาภาวะเลือดออก เช่น อุจจาระมีสีดำ/อุจจาระเป็นเลือด, ปัสสาวะมีสีแดง/ปัสสาวะเป็นเลือด, มีจ้ำแดงๆตามผิวหนัง, มีสัญญาณของภาวะติดเชื้อ เช่น มีไข้ (สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส) หนาวสั่น ไอ เจ็บคอ มีอาการปวดหรือร้อนเวลาถ่ายปัสสาวะ ปวด บวม แดง และเจ็บตามร่างกาย หากท่านมีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้น ควรรีบไปพบแพทย์/ไปยังโรงพยาบาลใกล้บ้านที่สะดวกทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้ยานิโลตินิบอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยานิโลตินิบ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ยานี้อาจทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้ จึงต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางโรคมะเร็งเท่านั้น
  • ยานิโลตินิบมีผลทำให้การนำไฟฟ้าของหัวใจผิดปกติ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดร้ายแรง จนอาจทำให้หัวใจหยุดเต้นได้ที่เรียกว่า ภาวะตอร์ซาดเดอปวงต์ (Torsades de pointes) ดังนั้นแพทย์ที่วางแผนการรักษาผู้ป่วยด้วยยานิโลตินิบ จึงจะทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ก่อนเริ่มใช้ยานี้ หากเริ่มใช้ยาไปแล้ว แพทย์จะพิจารณาตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจหลังได้รับยานี้ไปแล้วประมาณ 7 วัน และเป็นระยะๆหลังจากนั้น รวมทั้งเมื่อมีการปรับขนาดยา หรือได้รับยาชนิดอื่นๆที่มีผลต่อการนำไฟฟ้าหัวใจ
  • ไม่ควรใช้ยานิโลตินิบในผู้ป่วยที่มีระดับโปแตสเซียมในเลือดต่ำ ระดับแมกนีเซียมในเลือดต่ำ หรือผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ แพทย์จำเป็นต้องแก้ไขระดับโปแตสเซียมและระดับแมกนีเซียมในเลือดต่ำก่อนการให้ยานิโลตินิบ และจะเฝ้าระวังภาวะทั้งสองเป็นระยะๆ
  • ระมัดระวังการใช้ยานิโลตินิบคู่กับยาชนิดอื่นๆที่มีผลทำให้การนำไฟฟ้าของหัวใจผิดปกติ เพราะจะยิ่งทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดร้ายแรง
  • ผู้ป่วยที่ได้รับยานิโลตินิบ อาจเกิดสารสลายตัวของเซลล์มะเร็งอย่างมากพร้อมๆกัน(Tumor lysis Syndrome)ได้ ดังนั้นควรระมัดระวังภาวะขาดน้ำในผู้ป่วยที่ได้รับยานี้ รวมถึงควรตรวจระดับกรดยูริก/กรดยูริคก่อนการใช้ยานี้ และพิจารณารักษาภาวะระดับกรดยูริกในเลือดสูงก่อนเริ่มใช้ยานิโลตินิบ
  • อาหารต่างๆมีผลทำให้การดูดซึมยานิโลตินิบเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าปกติ จน อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยานี้ได้รุนแรง ดังนั้นแนะนำให้รับประทานยานี้ขณะท้องว่าง หลีกเลี่ยงการรับประทานยานี้คู่กับอาหารเด็ดขาด
  • ทุกครั้งที่มีการใช้ยานิโลตินิบคู่กับยาชนิดอื่นๆ จะมีการตรวจสอบปฏิกิริยาระหว่างยานิโลตินิบกับยาอื่นๆเพี่อความปลอดภัยของผู้ป่วย หรือหากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะพิจารณายาทางเลือกอื่นที่มีโอกาสในการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาลดลง หรือติดตามผลอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
  • การได้รับวัคซีนชนิดเชื้อเป็น (Live vaccine)ในช่วงที่กำลังได้รับยานิโลตินิบ ถือเป็นข้อห้าม เนื่องจากวัคซีนเชื้อเป็นที่ได้รับอาจมีผลกระทบต่อภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย จนอาจเพิ่มโอกาสเกิดภาวะติดเชื้อได้ (อ่านเพิ่มเติมในในหัวข้อ “ยานิโลตินิบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?”)
  • การใช้ยานิโลตินิบในเด็ก ยังไม่ได้รับการรับรองให้ใช้ยานี้ได้ในผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี
  • การใช้ยานิโลตินิบในผู้สูงอายุ ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยานิโลตินิบ ดังนั้นพิจารณาขนาดยาตามขนาดยาผู้ป่วยผู้ใหญ่ได้ปกติ
  • ยานิโลตินิบมีผลพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)ต่อระบบเลือด ส่งผลทำให้เกิดปริมาณเม็ดเลือดขาวต่ำ(Neutropenia) หรือเกล็ดเลือดต่ำ(Thrombocytopenia) ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะติดเชื้อ ทั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส หรือเชื้อรา แพทย์อาจพิจารณาเลื่อนตารางเวลาการให้ยานี้ของผู้ป่วย โดยพิจารณาตามความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด สภาวะร่างกายผู้ป่วย และอาการทางคลินิกของผู้ป่วย
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยานิโลตินิบ) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยานิโลตินิบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยานิโลตินิบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

1. หลีกเลี่ยงการใช้ยานิโลตินิบคู่กับยาที่มีคุณสมบัติเป็นเอนไซม์ CYP3A4 อินฮิบิเตอร์ (CYP3A4 inhibitor) เช่น กลุ่มยาลดความดันโลหิต เช่นยา ดิวไทอะเซม(Diltiazem), ไนคาดีปีน(Nicardipine), ไนเฟดดีปีน (Nifedipine), เวอร์ราปามิว(Verapamil); กลุ่มยาต้านเชื้อรา เช่นยา โครไตรมาโซล (Clotrimazole), ฟูโครนาโซล(Fluconazole), อิทราโครนาโซล (Itraconazole), คีโตโครนาโซล(Ketoconaozle), โวลิโครนาโซล (Voriconazole); ยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวีกลุ่มโปรติเอส อินฮิบิเตอร์(Protease inhibitor) เช่นยา โลปินาเวียร์ (Lopinavir), ริโทรนาเวียร์ (Ritonavir) ฯลฯ; ยาปฏิชีวนะกลุ่มแมคโคไลด์(Macrolide) เช่นยา คลาลิโทรไมซิน (Clarithromycin), อิลิโทรไมซิน (Erythromycin); ยากระตุ้นการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้ เช่นยา ซิสซาพาย(Cisapide), เมทโทรโคลพามายด์ (Metoclopramide); ยาโอมีพลาโซล (Omeprazole: ยายับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร; บาแลนโซพลาโซล (Lansoprazole: ยายับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร); และน้ำผลไม้เกร๊ปฟรุท (grapefruit juice); เนื่องจากระดับยานิโลตินิบจะเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยานิโลตินิบมากขึ้น

2.หลีกเลี่ยงการใช้ยานิโลตินิบคู่กับยาที่มีคุณสมบัติเป็นเอนไซม์ CYP3A4 อินดิวเซอร์ (CYP3A4 inducer หรือ Enzyme inducer) เช่น ยากันชัก (เช่นยา ฟีโนบาร์บีทาล/ Phenobarbital , คาร์บามาซีปิน/Carbamazepine , ฟีนีทอย/ Phenytoin); ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย, ยาต้านวัณโรค (เช่นยา ไรแฟมปินซิน/ Rifampicin , ไรฟาบูติน/Rifambutin); และสมุนไพรเซนต์จอห์นเวิร์ธ (St. John's wort: สมุนไพรคลายเครียด); เนื่องจากระดับยานิโลตินิบจะลดลงต่ำกว่าปกติ จึงอาจมีผลต่อประสิทธิภาพในการรักษาด้วยยานิโลตินิบ

3. หลีกเลี่ยงการใช้ยานิโลตินิบกับยากลุ่มต้าน/ยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่นยา อะมิโอดาโรน (Amiodarone), โปรเคนนามายด์(Procainamide), ควินิดีน(Quinidine), ซาตารอล(Satalol)

4. หลีกเลี่ยงการใช้ยานิโลตินิบกับยาอื่นๆที่มีผลทำให้มีคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ เช่นยา คาร์ลิโทรไมซิน (Clarithromycin:ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย), ฮาโลเพอริดอล(Haloperidol:ยาสงบระงับประสาท/ยาสงบประสาท), คลอโรควิน (Chloroquine:ยาต้านมาลาเรีย/ยามาลาเรีย), มอกซิฟอกซาซิน(Moxifloxacin:ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย) เป็นต้น

5. หลีกเลี่ยงการใช้ยานิโลตินิบ คู่กับวัคซีนที่ยังมีชีวิต (Live vaccine หมายถึง วัคซีนเชื้อเป็นที่ถูกผลิตขึ้นโดยใช้เชื้อโรคมาทำให้อ่อนฤทธิ์ลงจนไม่สามารถทำให้เกิดโรค แต่เชื้อยังมีฤทธิ์เพียงพอที่จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ เพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคนั้นๆ เช่น วัคซีนหัด วัคซีนหัดเยอรมัน วัคซีนคางทูม วัคซีนอีสุกอีใส วัคซีนโปลิโอชนิดกิน วัคซีนไวรัสโรตา และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดพ่นจมูก เป็นต้น) แก่ผู้ป่วยที่กำลังใช้ยานี้อยู่ เนื่องจากผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต่ำ การฉีดวัคซีนเหล่านี้ อาจได้ผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกันน้อยลง และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดการติดเชื้อจากวัคซีนชนิดเชื้อเป็นเหล่านี้ได้ โดยทั่วไป แนะนำให้ผู้ป่วยได้รับวัคซีนชนิดเชื้อเป็นก่อนได้รับยากดภูมิคุ้มกันทุกชนิดรวมยานิโลตินิบ หรือภายหลังได้รับยากดภูมิคุ้มกันครบไปแล้ว 3 เดือน

ควรเก็บรักษายานิโลตินิบอย่างไร?

แนะนำเก็บยานิโลตินิบในบรรจุภัณฑ์เดิม เก็บรักษายาที่อุณหภูมิต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส(Celsius) ควรเก็บยาให้พ้นจากแสงแดด และแสงสว่างที่กระทบยาได้โดยตรง หลีกเลี่ยงนำยาสัมผัสกับความร้อนที่มาก เช่น เก็บยาในรถที่ตากแดด หรือเก็บยาในห้องที่มีอุณหภูมิสูง(มีแสงแดดส่องถึงทั้งวันหรือเป็นเวลานาน) ไม่เก็บยาในห้องที่ชื้น เช่น ห้องน้ำ หรือห้องครัว ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัย สำหรับครอบครัวที่มีเด็กเล็ก ควรเก็บยานิโลตินิบให้ในที่ที่พ้นจากมือเด็ก หรือพ้นสายตาของเด็ก และพ้นจากสัตว์เลี้ยง

ยานิโลตินิบมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยานิโลตินิบที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
ทาซิกน่า (Tasigna®) 150 และ 200 มิลลิกรัมNovartis

บรรณานุกรม

  1. Lacy CF. Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 20th ed. Ohio: Lexi-Comp,Inc.; 2011-12.
  2. Micromedex Healthcare Series, Thomson Micromedex, Greenwood Village, Colorado
  3. Product Information: Tasigna, Nilotinib, Novartis, Thailand.