นิโมดิปีน Nimodipine

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยานิโมดิปีน(Nimodipine) เป็นยาในกลุ่มแคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ (Calcium channel blocker) วัตถุประสงค์ของการพัฒนายานิโมดิปีนก็เพื่อใช้ลดความดันโลหิตสูง แต่ปรากฏว่า ทางคลินิกได้นำยานิโมดิปีนมาใช้เป็นยาป้องกันภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง (Subarachnoid hemorrhage) ยานี้มีกลไกการออกฤทธิ์ต่อหลอดเลือดแดงที่สมองได้ดีกว่าต่อหลอดเลือดแดงบริเวณอื่นๆของร่างกาย โดยป้องกันการหดเกร็งตัวของหลอดเลือดแดงในสมองนั่นเอง

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานิโมดิปีน มีทั้งยารับประทานและยาฉีด ยานิโมดิปีนถูกดูดซึมได้อย่างรวดเร็วจากระบบทางเดินอาหาร ตัวยานี้ที่เข้าสู่กระแสเลือดจะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนได้มากกว่า 95% และสามารถซึมผ่านเข้าสมองได้เป็นอย่างดี ตับจะเป็นอวัยวะที่คอยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของยานิโมดิปีนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งร่างกายต้องใช้เวลาถึงประมาณ 9 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับอุจจาระและปัสสาวะ

มีข้อห้ามใช้และข้อควรระวังบางประการก่อนการใช้ยานิโมดิปีนที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบ เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
  • มียาอ่นๆหลายตัวที่ห้ามใช้ร่วมกับยานิโมดิปีน ด้วยสามารถก่อให้เกิดภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)ได้ เช่นยา Clarithromycin, Delavirdine, Indinavir, Itraconazole, Ketoconazole, Nefazodone, Nelfinavir, Ritonavir, Saquinavir, Telithromycin, และ Voriconazole
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่างอาจได้รับผลกระทบ/ผลข้างเคียงจากยานิโมดิปีน โดยทำให้อาการของโรคเหล่านั้นกำเริบหรือรุนแรงมากขึ้น เช่น โรคตับ โรคความดันโลหิตต่ำ ผู้ที่มีภาวน้ำท่วมปอด/ปอดบวมน้ำ โรคหัวใจ หรือมีประวัติเป็นโรคหัวใจล้มเหลวมาก่อน
  • สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เป็นกลุ่มเสี่ยงที่สามารถได้รับผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยาหลายๆประเภทซึ่งรวมยานิโมดิปีนด้วย

นอกจากนี้ การใช้ยานิโมดิปีนยังต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ และควรปฏิบัติตามคำแนะนำการใช้ยาอย่างเคร่งครัดจากแพทย์ พยาบาล เภสัชกร เช่น

  • กรณียานี้เป็นยารับประทาน ต้องรับประทานยาในช่วงท้องว่าง คือ ก่อนมื้ออาหารประมาณ 1 ชั่วโมง หรือหลังอาหารประมาณ 2 ชั่วโมง และต้องรับประทานยาตรงตามเวลาเดิมในแต่ละวัน
  • ระหว่างที่ใช้ยานี้หากพบอาการวิงเวียนคล้ายจะเป็นลม ต้องหลีกเลี่ยงการใช้ ยวดยานพาหนะใดๆ รวมถึงหลีกเลี่ยงการทำงานกับเครื่องจักรต่างๆ ด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ ด้วยจะทำให้เกิดอาการวิงเวียนอย่างรุนแรง และทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ
  • ระหว่างการใช้ยานี้ผู้ป่วยต้องเฝ้าระวังเรื่องความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจ หากพบอาการผิดปกติไม่ว่าจะเป็นเรื่องความดันโลหิตหรือการเต้นของหัวใจก็ตาม ให้รีบแจ้งแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ควรทำความเข้าใจด้วยว่า ยานี้สามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่พบเห็นได้โดยทั่วไปได้ด้วย เช่น ท้องเสีย หน้าแดง ปวดศีรษะ และคลื่นไส้
  • *กรณีที่ผู้ป่วยได้รับยานี้เกินขนาด สังเกตได้จากมีอาการความดันโลหิตต่ำจากหลอดเลือดขยายตัว หัวใจเต้นเร็วหรือไม่ก็เต้นช้า พร้อมกับพบอาการคลื่นไส้ ร่วมด้วย กรณีเช่นนี้ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน ซึ่งแพทย์จะทำการบำบัดรักษาตามอาการ เช่น อาจต้องใช้ยากระตุ้นความดันโลหิตให้สูงขึ้นกับผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำ

ยานิโมดิปีนเป็นอีกหนึ่งรายการยาที่บรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย โดยถูกระบุให้อยู่ในหมวดยาอันตราย และถูกระบุวัตถุประสงค์ของการใช้ยาตามเงื่อนไขที่ว่า “ ใช้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาและประสาทศัลยศาสตร์สำหรับป้องกันพยาธิสภาพของระบบประสาทที่อาจดำเนินต่อไปจากการหดตัวของหลอดเลือดภายหลังการเกิด Subarachnoid hemorrhage ”

หากผู้บริโภค/ผู้ป่วยต้องการทราบข้อมูลการใช้ยานิโมดิปีนเพิ่มเติม สามารถ สอบถามได้จากแพทย์ผู้ที่ทำการรักษา หรือจากเภสัชกรโดยทั่วไป

นิโมดิปีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

นิโมดิปีน

นิโมดิปีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ บำบัดและป้องกันภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง (Subarachnoid hemorrhage)

*หมายเหตุ: ในทางปฏิบัติ มีบางสถานพยาบาลนำยานิโมดิปีนมาใช้รักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน รวมถึงใช้เป็นยาป้องกันการเกิดไมเกรนด้วย

นิโมดิปีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยานิโมดิปีนคือ ตัวยามีคุณสมบัติละลายได้ดีในเนื้อเยื่อชั้นไขมัน จึงส่งผลให้ตัวยานี้ซึมผ่านเข้าสมองและออกฤทธิ์ต่อเส้นเลือด/หลอดเลือดในบริเวณสมองได้ดี ตัวยานี้จะยับยั้งการขนย้ายประจุแคลเซียมเข้าสู่เซลล์ของกล้ามเนื้อเรียบของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดเกิดการขยายตัว จึงมีผลทำให้ การไหลเวียนของเลือดสะดวกขึ้น ช่วยลดภาวะและความเสี่ยงของการแตก-ตีบ-ตัน ของหลอดเลือดจนเป็นที่มาของสรรพคุณ

นิโมดิปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยานิโมดิปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ประกอบด้วยตัวยา Nimodipine ขนาด 30 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาฉีดชนิดหยดเข้าทางหลอดเลือดที่ประกอบด้วยตัวยา Nimodipine ขนาด 10 มิลลิกรัม/50 มิลลิลิตร

นิโมดิปีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขอยกตัวอย่างขนาดรับประทานยานิโมดิปีนสำหรับบำบัดป้องกันเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 60 มิลลิกรัม ทุกๆ 4 ชั่วโมง ในช่วงท้องว่าง โดยใช้ยาต่อเนื่อง 21 วัน หรือ ตามแพทย์สั่ง
  • เด็ก: ยังไม่พบเห็นข้อบ่งใช้ทางคลินิกของยานี้กับผู้ป่วยเด็ก

อนึ่ง:

  • ควรใช้ยานี้ภายใน 96 ชั่วโมง หลังจากตรวจพบอาการหรือสัญญาณบ่งบอกถึงความเสี่ยงของหลอดเลือดในสมองแตก
  • สำหรับผู้ป่วยโรคตับ แพทย์จะลดขนาดการรับประทานลงมาครึ่งหนึ่ง คือ 30 มิลลิกรัม/ครั้ง
  • ในบางประเทศแถบซีกโลกตะวันตก การใช้ยานิโมดิปีนเป็นยาป้องกัน หลอดเลือดที่สมองตีบหรือใช้ป้องกันการเกิดไมเกรนยังมิได้ถูกรับรองเป็นทางการในทางคลินิก

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยานิโมดิปีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยานิโมดิปีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

การใช้ยานิโมดิปีน มักจะเริ่มที่สถานพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์จะให้ยาผู้ป่วยตามตารางการให้ยาของแพทย์ โอกาสลืมให้ยาผู้ป่วยจึงเป็นไปได้น้อยมาก กรณีที่ผู้ป่วยนำยากลับมารับประทานที่บ้าน หากลืมรับประทานยานี้ให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

นิโมดิปีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยานิโมดิปีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะThrombocytopenia(เกล็ดเลือดต่ำ) มีภาวะโลหิตจาง
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องผูก เกิดตะคริวที่ท้อง
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น เกิดภาวะเส้นเลือดหดเกร็ง ค่าECGผิดปกติ ความดันโลหิตต่ำ เนื้อตัวบวม หัวใจเต้นช้า
  • ผลต่อตับ: เช่น ตับทำงานผิดปกติ
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ซึม
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจลำบาก

มีข้อควรระวังการใช้นิโมดิปีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยานิโมดิปีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ร่วมกับยาต่อไปนี้ เช่น Clarithromycin, Telithromycin, Delavirdine, Indinavir, Nelfinavir, Ritonavir, Saquinavir, Ketoconazole, Itraconazole, Voriconazole, Nefazadone, ด้วยอาจเกิดความเสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตต่ำตามมา
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก สี หรือ กลิ่นเม็ดยาเปลี่ยน
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
  • การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก ต้องเป็นไปตามคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคความดันโลหิตต่ำ โรคหัวใจ ผู้ที่มีภาวะน้ำท่วมปอด/ปอดบวมน้ำ
  • รับประทานยานี้ต่อเนื่องตรงตามขนาดและเวลาในแต่ละวันตามแพทย์สั่ง
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง เพื่อรับการตรวจร่างกายและดูความก้าวหน้าของการรักษาจากแพทย์
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยานิโมดิปีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

นิโมดิปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยานิโมดิปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานิโมดิปีนร่วมกับยา Phenobarbital ด้วยจะทำให้ระดับยา นิโมดิปีนในกระแสเลือดลดต่ำลงจนส่งผลให้ประสิทธิภาพการรักษาด้อลงไป
  • การใช้ยานิโมดิปีนร่วมกับยา Hydrocodone สามารถทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงของยานิโมดิปีนมากขึ้น อย่างเช่น เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ วิงเวียนและเป็นลม
  • ห้ามใช้ยานิโมดิปีนร่วมกับ Clarithromycin, Indinavir, Cobicistat, Conivaptan, เพราะจะทำให้ระดับของตัวยานิโมดิปีนในกระแสเลือดเพิ่มขึ้นจนทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และความดันโลหิตต่ำตามมา
  • การใช้ยานิโมดิปีนร่วมกับยา Amikacin อาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้ไต และเส้นประสาท ได้รับความเสียหายตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป

ควรเก็บรักษานิโมดิปีนอย่างไร?

ควรเก็บยานิโมดิปีนภายใต้อุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์

นิโมดิปีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยานิโมดิปีน ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Nimotop (นิโมท็อป) Bayer HealthCare Pharma

อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Modipin, Nimocer, Nimodip, Nimotide, Vasotop

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/cdi/nimodipine.html [2017,Feb11]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/nimotop/?type=brief [2017,Feb11]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Nimodipine [2017,Feb11]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/nimodipine/?type=brief&mtype=generic [2017,Feb11]
  5. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/38#item-8414 [2017,Feb11]
  6. https://www.drugs.com/dosage/nimodipine.html [2017,Feb11]