นินเทดานิบ (Nintedanib)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 4 สิงหาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- นินเทดานิบมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- นินเทดานิบมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- นินเทดานิบมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- นินเทดานิบมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- นินเทดานิบมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้นินเทดานิบอย่างไร?
- นินเทดานิบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษานินเทดานิบอย่างไร?
- นินเทดานิบมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคปอด โรคของปอด โรคทางปอด (Pulmonary disease)
- ปอดบวม ปอดอักเสบ (Pneumonia)
- โรคตับ (Liver disease)
บทนำ
ยานินเทดานิบ(Nintedanib) เป็นยาที่ใช้รักษาการอักเสบของปอดที่เกิดพังผืดโดยที่ไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic pulmonary fibrosis/IPF) และยังนำมาใช้รักษาอาการของโรคมะเร็งปอดประเภทเซลล์ตัวโต(Non-small-cell lung cancer) ตัวยานี้จะออกฤทธิ์รักษาโรคโดยเข้าจับกับตัวรับ(Receptor)ของยานี้ได้ใน 3 ลักษณะ คือ
- เข้ายับยั้งการทำงานของตัวรับที่มีชื่อเรียกว่า Platelet-derived growth factor receptor ตัวรับชนิดนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่คอยควบคุมการแบ่งตัวของเซลล์ต่างๆของร่างกาย
- เข้ายับยั้งการทำงานที่ตัวรับประเภท Fibroblast growth factor receptor ส่งผลให้ลดการสร้างพังผืดที่เกิดขึ้นตามอวัยวะต่างๆในร่างกายโดยเฉพาะที่ปอด
- ยับยั้งการทำงานที่ตัวรับประเภท Vascular endothelial growth factor receptor ส่งผลลดการสร้างหลอดเลือดที่จะไปหล่อเลี้ยงพังผืดที่เป็นรอยโรค
ด้วยกลไกการออกฤทธิ์ดังกล่าว ทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้นำยานินเทดานิบมารักษาอาการ IPF ซึ่งรูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยานี้จะมีทั้งชนิดรับประทานและในต่างประเทศอาจพบเห็นนินเทดานิบแบบยาฉีดด้วย
การดูดซึมยานินเทดานิบจากระบบทางเดินอาหารมีเพียงประมาณ 4.7% และยานินเทดานิบในกระแสเลือดจะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 97.8% ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 10-15 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับอุจจาระเสียเป็นส่วนมาก
ข้อจำกัดและข้อควรระวังบางประการที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบก่อนใช้ยานินเทดานิบ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับที่มีความรุนแรงตั้งแต่ระดับกลางขึ้นไป
- ผู้ที่ติดบุหรี่ขณะที่ได้รับยานี้ต้องหยุดสูบบุหรี่ ด้วยกลไกของสารเคมีในบุหรี่จะต่อต้านประสิทธิภาพการรักษาของยานินเทดานิบ
- การใช้ยานี้ต้องมีความต่อเนื่อง โดยทั่วไป ผู้ป่วยต้องรับประทานยานี้วันละ 2 ครั้ง เวลารับประทานควรตรงตามเวลาในแต่ละวัน ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ โดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์โดยเด็ดขาด
- การใช้ยานี้อาจทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ ท้องเสีย เบื่ออาหาร อาเจียน ปวดท้อง กรณีที่อาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)เหล่านี้เกิดไม่รุนแรง ร่างกายจะปรับตัวทำให้อาการค่อยๆลดลงไปเอง
- การรับประทานยานี้พร้อมอาหาร จะช่วยลดอาการข้างเคียงจากยานี้ เช่น คลื่นไส้ ปวดท้อง เป็นต้น
- ควรเฝ้าระวังอาการข้างเคียงจากการใช้ยานินเทดานิบที่อาจเกิดกับตับ หากพบเห็นภาวะตัวเหลืองตาเหลือง ปัสสาวะมีสีคล้ำจัด ต้องหยุดการใช้ยานี้ทันที แล้รีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
- ผู้ป่วยต้องมารับการตรวจร่างกายจากแพทย์เพื่อยืนยันผลการรักษาตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
ในประเทศไทยเราจะพบเห็นการจัดจำหน่ายยานี้ภายใต้ชื่อการค้าว่า Ofev และ Vargatef คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้กำหนดให้ยานินเทดานิบเป็นยาควบคุมพิเศษ ซึ่งยานี้ต้องถูกสั่งจ่ายโดยแพทย์ผู้ที่ทำการรักษาผู้ป่วยเท่านั้น
นินเทดานิบมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยานินเทดานิบมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษาอาการปอดอักเสบที่มีสาเหตุจากการเกิดพังผืดในปอดชนิดเกิดโยไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic pulmonary fibrosis)
นินเทดานิบมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยานินเทดานิบ มีกลไกการออกออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะลดการแบ่งตัวของเซลล์พังผืดที่เกิดขึ้นในปอด โดยยับยั้งการทำงานในบริเวณตัวรับ(Receptor)ที่มีชื่อว่า Platelet-derived growth factor receptor, Fibroblast growth factor receptor และ Vascular endothelial growth factor receptor เป็นผลให้ลดการสร้างพังผืดในปอด และจากกลไกนี้ จึงทำให้มีสรรพคุณในการรักษาโรค IPF
นินเทดานิบมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ในประเทศไทย ยานินเทดานิบมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Nintedanib 100 และ 150 มิลลิกรัม/แคปซูล
นินเทดานิบมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยานินเทดานิบ มีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานยาขนาด 150 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ทุกๆ 12 ชั่วโมง พร้อมอาหาร ขนาดรับประทานสูงสุดอยู่ที่ 300 มิลลิกรัม/วัน
- เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
อนึ่ง:
- กรณีผู้ป่วยมีอาการข้างเคียงจากการใช้ยานี้มาก แพทย์อาจปรับลดขนาด รับประทานยาลงมาเป็น 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง
- การรับประทานยานี้พร้อมอาหารจะช่วยลดอาการข้างเคียงอย่างเช่น คลื่นไส้และลดอาการวิงเวียน
- รับประทานยนี้ตรงตามขนาดและเวลาของแต่ละวันตามแพทย์สั่ง
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยาอื่นใดร่วมกับยานินเทดานิบ ผู้ป่วยต้องแจ้ง แพทย์/พยาบาล/เภสัชกรทุกครั้งว่า ตนเองมีการใช้ยาประเภทใดอยู่บ้าง
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยานินเทดานิบ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่เพราะยานินเทดานิบอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยานินเทดานิบ สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานขนาดปกติ
แต่อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ผู้ป่วยต้องใช้ยานินเทดานิบ อย่างต่อเนื่องตรงเวลาตามแพทย์สั่ง การลืมรับประทานยานินเทดานิบ จะทำให้การรักษาขาดประสิทธิภาพ
นินเทดานิบมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยานินเทดานิบสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น มีอาการ ท้องเสีย คลื่นไส้ ปวดท้อง อาเจียน
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปลายเส้นประสาทอักเสบ ปวดศีรษะ
- ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น เกิดภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดบวม
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคันตามผิวหนัง
- ผลต่อระบบการเผาผลาญของร่างกาย: เช่น เบื่ออาหาร
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีภาวะเลือดออกง่าย
- ผลต่อตับ: เช่น ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น ค่าบิลิรูบินในเลือดสูง
- ต่อการระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตสูง หัวใจวาย
มีข้อควรระวังการใช้นินเทดานิบอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยานินเทดานิบ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเองและใช้ยานี้ตามที่แพทย์แนะนำ
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น แคปซูลแตกหัก แคปซูลเปียกชื้น
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
- รับประทานยานี้ตรงตามคำสั่งแพทย์
- กรณีที่ใช้ยานี้แล้วไม่ได้ผล ให้รีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล ไม่ต้องรอจนถึงวันแพทย์นัด
- มาพบแพทย์ตามนัดหมาย เพื่อการตรวจร่างกาย และการตรวจเลือดดูสภาพการทำงานของตับว่ายังเป็นปกติหรือไม่
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยานินเทดานิบด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่องข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
เทดานิบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเทดานิบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยานินเทดานิบร่วมกับยา Erythromycin หรือ Ketoconazole ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงจากยานินเทดานิบสูงขึ้น
- หลีกเลี่ยงการใช้นินเทดานิบร่วมกับยา Aspirin , Warfarin, ด้วยจะทำให้มีภาวะเลือดออกง่ายตามมา
- หลีกเลี่ยงการใช้นินเทดานิบร่วมกับยา Carbamazepine, Phenytoin, และ Rifampin, ด้วยจะทำให้ระดับยานินเทดานิบในเลือดลดลงจนส่งผลต่อประสิทธิภาพของการรักษา
ควรเก็บรักษานินเทดานิบอย่างไร?
ควรเก็บยานินเทดานิบภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
นินเทดานิบมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยานินเทดานิบที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Ofev (โอเฟบ) | Boehringer Ingelheim |
Vargatef (วาร์กาเทฟ) | Boehringer Ingelheim |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Cyendiv
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Nintedanib[2017,July15]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/ofev/?type=brief[2017,July15]
- https://www.drugs.com/cdi/nintedanib.html[2017,July15]
- https://www.drugs.com/sfx/nintedanib-side-effects.html[2017,July15]