นาราทริปแทน (Naratriptan)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยานาราทริปแทน(Naratriptan หรือ Naratriptan hydrochloride)เป็นยาในกลุ่มทริปแทน(Triptan) ทางคลินิกนำมาใช้รักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนแบบเฉียบพลัน แต่ไม่สามารถใช้เป็นยาป้องกันการเกิดไมเกรน และยังไม่ได้รับการยืนยันว่ายานี้ช่วยบำบัดอาการปวดศีรษะคลัสเตอร์ (Cluster headache) รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยานี้ เป็นยาชนิดรับประทาน

หลังการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร ตัวยานาราทริปแทนในกระแสเลือดจะเข้าจับตัวกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 29% ตับจะใช้เอนไซม์ที่มีชื่อว่า Cytochrome P450 isoenzymes เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของยานี้อย่างต่อเนื่อง ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง เพื่อกำจัดยานาราทริปแทนออกจากกระแสเลือดโดยผ่านที้งไปกับปัสสาวะ

โดยทั่วไป ทางคลินิกจะใช้ยานี้กับผู้ใหญ่เท่านั้น ด้วยยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยของการใช้ยานี้กับผู้ป่วยเด็ก

ยังมีข้อควรระวังบางประการที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบก่อนใช้ยานาราทริปแทน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานาราทริปแทนกับผู้ที่มี ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือมีประวัติหัวใจวาย ผู้ที่มีภาวะมีคลื่นไฟฟ้าฟาใจผิดปกติที่เรียกว่า ภาวะ Wolff-parkinson-white syndrome ผู้ที่มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ยังไม่สามารถควบคุมอาการได้รวมถึงผู้ที่มี ปัญหาของหลอดเลือดตีบ หรือเป็นเส้นเลือดขอด/หลอดเลือดดำขอด
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วย โรคไต โรคตับ ในระยะรุนแรง
  • ยานี้ไม่เหมาะกับผู้สูงอายุ ด้วยเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)จากยานี้ได้มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น อย่างเช่น หัวใจทำงานผิดปกติ ความดันโลหิตสูง
  • ยังมีโรคประจำตัวบางอย่างที่ต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษเมื่อจะใช้ยา นาราทริปแทน เช่น โรคเบาหวาน เนื้องอกสมอง ผู้ที่เป็นโรคอ้วน รวมถึงผู้ที่สูบบุหรี่จัด
  • การใช้ยานาราทริปแทนร่วมกับยาอื่นๆหลายรายการ อาจก่อให้เกิดภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา) เช่นกับยา กลุ่ม MAOIs กลุ่มSSRIs กลุ่มTCAs โดยการใช้ยาร่วมกันอาจนำมาซึ่งอาการมีไข้ มีอาการทางกล้ามเนื้อ(เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง) ความดันโลหิตสูง อารมณ์แปรปรวน รู้สึกสับสน และอาจถึงขั้นโคม่า

โดยทั่วไป หลังใช้ยานาราทริปแทนบำบัดอาการปวดศีรษะไมเกรน เมื่ออาการปวดดีขึ้น ก็สามารถหยุดการใช้ยาได้ กรณีที่ผู้ป่วยรับประทานยามื้อแรกแล้วยังมีอาการปวดอยู่ ห้ามมิให้รับประทานยาครั้งที่ 2 ตามโดยทันที ควรต้องเว้นระยะเวลาของการรับประทานห่างกันประมาณ 4 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ และกรณีผู้ป่วยรับประทานยานี้เกินขนาด ส่งผลเสียทำให้อาการปวดศีรษะแย่ลงมากกว่าเดิม

ยานาราทริปแทนอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ตามมา ได้เช่นกัน อาทิเช่น วิงเวียน ง่วงนอน หน้าแดง อาการชาตามผิวหนัง และเหนื่อยง่าย โดยทั่วไป เมื่อหมดฤทธิ์ของยานี้ อาการข้างเคียงดังกล่าวก็จะทุเลาลงไปเอง

การใช้ยานาราทริปแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ ห้ามผู้ป่วยปรับขนาดการรับประทานหรือแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้ด้วยตนเอง ทั้งนี้ ในต่างประเทศ เราจะพบเห็นการจำหน่ายยานาราทริปแทนภายใต้ชื่อการค้าว่า “Amerge หรือ Naramig” และหากผู้บริโภคมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับยานี้ ผู้บริโภคสามารถสอบถามข้อมูลการใช้ยานี้ได้จากแพทย์ผู้รักษา หรือจากเภสัชกรได้โดยทั่วไป

นาราทริปแทนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

นาราทริปแทน

ยานาราทริปแทนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ บำบัดอาการปวดศีรษะไมเกรนชนิดเฉียบพลัน

นาราทริปแทนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

การปวดศีรษะไมเกรนมีกลไกจากการขยายตัวของหลอดเลือดในสมอง พร้อมกับมีการกระตุ้นและส่งสัญญาณความรู้สึกปวดศีรษะออกมา ยานาราทริปแทนเป็นยาที่ที่มีกลไกการออกฤทธิ์บริเวณตัวรับ(Receptor)ที่มีชื่อว่า 5-HT1B/1D receptors หรือ 5-Hydroxytryptamine1B/1D receptor ส่งผลให้หลอดเลือดในสมองหดตัว และลดการกระตุ้นความรู้สึกเจ็บปวด จนมีผลให้อาการปวดศีรษะไมเกรนบรรเทาลง

นาราทริปแทนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยานาราทริปแทนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Naratriptan HCl/Hydrochloride ขนาด 1และ2.5 มิลลิกรัม/เม็ด

นาราทริปแทนมีขนาดรับประทานยาอย่างไร?

ยานาราทริปแทนมีขนาดรับประทานยา เช่น

  • ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18ปีขึ้นไป:เริ่มต้นรับประทาน 1 หรือ 2.5 มิลลิกรัม ครั้งเดียว หากอาการยังไม่ดีขึ้น ให้เว้นระยะเวลาจากการรับประทานครั้งแรก 4 ชั่วโมง แล้วรับประทานยาในขนาดเดิมอีก 1 ครั้ง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 5 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กและผู้อายุต่ำกว่า18ปี: ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดถึงผลข้างเคียงและความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มวัยนี้ การใช้ยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มวัยนี้ จึงต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

อนึ่ง:

  • ไม่ควรใช้ยานี้รักษาอาการไมเกรนบางประเภทที่มีอาการทางสมองร่วมด้วย เช่น Basilar migraine หรือ Hemiplegic migraine ด้วยจะเสี่ยงต่อเส้นโลหิตในสมองอุดตัน/โรคหลอดเลือดสมอง(Stroke)
  • ไม่ควรใช้ยานี้เกินกว่า 4 ครั้ง/เดือน การเกิดไมเกรนบ่อยครั้งย่อมรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรพบแพทย์เพื่อรักษาที่ต้นเหตุจะเป็นผลดีมากกว่าการใช้ยาเพียงอย่างเดียว

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยานาราทริปแทน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่าง ความดันโลหิตสูง เส้นเลือดขอด รวมทั้งกำลังกิน ยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยานาราทริปแทนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ และ/หรือกับอาหารเสริม ที่รับประทานอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยานาราทริปแทน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลา ใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า อนึ่งการรับประทานยานี้ในระหว่างวัน ควรเว้นระยะการรับประทานห่างกัน 4 ชั่วโมง เป็นอย่างต่ำ

นาราทริปแทนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยานาราทริปแทนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อหัวใจ: เช่น ชีพจรเต้นผิดปกติ เกิดอาการเจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็วหือไม่ก็ช้า ทำให้หลอดเลือดที่เลี้ยงหัวใจหดเกร็งตัว มีความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจล้มเหลว
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ง่วงนอน ปวดศีรษะ ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้อาเจียน ปากแห้ง ลำไส้ใหญ่อักเสบ
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อหดเกร็งตัว/เป็นตะคริว
  • ผลต่อตา: เช่น ตาแพ้แสงสว่าง ตาพร่า
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ลมพิษ มีอาการใบหน้าบวม

มีข้อควรระวังการใช้นาราทริปแทนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยานาราทริปแทน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า18 ปี
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น สียาเปลี่ยน เม็ดยาแตกหัก
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • หยุดการใช้ยานี้ทันที ถ้าพบอาการแพ้ยานี้ เช่น เกิดผื่นคัน ใบหน้าบวม ขึ้นผื่นทั้งตัว แล้วรีบไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยไมเกรนชนิดมีอาการทางสมอง(Basilar/Haemiplegic migraine) ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่ยังไม่สามารถควบคุมอาการได้ ผู้ป่วยด้วยอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดแดงหดเกร็งตัว ผู้มีภาวะหลอดเลือดในสมองตีบ(โรคหลอดเลือดสมอง) ผู้ที่มี โรคตับ หรือโรคไต ในระดับรุนแรง
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ ด้วยเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดอาการข้างเคียงได้มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น
  • ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยานาราทริปแทนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

นาราทริปแทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยานาราทริปแทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานาราทริปแทนร่วมกับยากลุ่ม Ergot alkaloids(เช่น Ergotamine) ยาเม็ดคุมกำเนิด ยา Methysergide (ยารักษาอาการไมเกรนที่ปัจจุบันไม่นิยมใช้แล้วเพราะทำให้เกิดพังผืดรุนแรงในช่องหลังเยื่อบุช่องท้อง/Retroperitoneal fibrosis และพังผืดของช่องหลังปอด/Retropulmonary fibrosis) ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยานาราทริปแทนมากยิ่งขึ้น
  • ห้ามใช้ยานาราทริปแทนร่วมกับยา 5-hydroxytryptophan, Tramadol, ด้วยจะก่อให้เกิดภาวะ Serotonin syndrome ตามมา
  • ห้ามใช้ยานาราทริปแทนร่วมกับยา Almotriptan เพราะจะส่งผลให้มีภาวะหลอดเลือดดำตีบมากยิ่งขึ้น จนก่อให้เกิดภาวะเลือดไหลเวียนไม่สะดวก และเกิดความดันโลหิตสูงตามมา
  • การใช้ยานาราทริปแทนร่วมกับยา Droxidopa อาจทำให้เกิดความดันโลหิตสูงในขณะที่ผู้ป่วยอยู่ในท่านอน หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษานาราทริปแทนอย่างไร?

ควรเก็บยานาราทริปแทนภายใต้อุณหภูมิ 20 – 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

นาราทริปแทนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยานาราทริปแทน ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Amerge (อเมอร์ท)GlaxoSmithKline
Naramig (นารามิก)GlaxoSmithKline

บรรณานุกรม

  1. http://www.mims.com/thailand/drug/info/naratriptan/?type=brief&mtype=generic [2017,Feb25]
  2. https://www.drugs.com/pro/naratriptan.html [2017,Feb25]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Naratriptan [2017,Feb25]
  4. http://www.pharmaline.co.il/images/newsletterregistration/GSK/Naramig/naramig_moh_apr._01.2009.pdf [2017,Feb25]
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/naratriptan-index.html?filter=3&generic_only= [2017,Feb25]