นานาสาระ ตอน ถึงน้อง ๆที่อยากเป็นหมอ

นานาสาระกับหมอสมศักดิ์-6


      

      ช่วงนี้เป็นช่วงที่มีการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งคณะยอดนิยมที่นักเรียนและผู้ปกครองต้องการให้ลูก ๆ เข้าเรียนคณะหนึ่งก็คือคณะแพทย์ ด้วยหลายเหตุผล เช่น เป็น อาชีพที่มีความมั่นคง ได้รับการยอมรับในสังคม มีเกียรติ มีหน้าตา รายได้ดี สามารถช่วยเหลือพ่อ แม่ ญาติพี่น้องเวลาเจ็บป่วยได้ ผมอยากเล่าอีกมุมหนึ่งเพื่อให้ผู้ปกครอง และน้อง ๆ ที่อยากเรียนหมอ ให้ได้เห็นอีกมุมหนึ่งว่ากว่าที่จะเป็นหมอนั้น น้อง ๆ ต้องพบอะไรบ้างระหว่างที่เรียน 6 ปี และเมื่อต้องเป็นแพทย์ฝึกหัด จะได้เตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมครับ

      1. การเรียนในชั้นปรีคลินิกระหว่างปีที่ 1-3 ไม่ค่อยหนักหนาสาหัสเท่าไหร่ โดยเฉพาะชั้นปีที่ 1 จะเรียกว่าเบาสำหรับนักศึกษาแพทย์ก็ได้ พอขึ้นปีที่ 2 ก็เริ่มมีความหนักขึ้นหน่อยครับ เพราะต้องเรียนเป็นระบบต่าง ๆของร่างกาย การเรียนต่อเนื่องตั้งแต่เช้าถึงเย็นทุก ๆ วัน มีทั้งการเรียนเล็คเชอร์ การเรียนในห้องปฏิบัติการ การเรียนกับครูใหญ่ การเรียนกลุ่มย่อย แล้วก็มีการสอบทุก ๆ 4-6 สัปดาห์ เกรดที่ต้องได้ คือ A-C เท่านั้น ไม่สามรรถได้เกรด D ครับ ถ้าได้ก็คือสอบไม่ผ่าน ยังมีการปิดเทอมช่วงสั้น ๆ ให้สามารถกลับบ้านได้

      2. การเรียนนในชั้นคลินิกระหว่างปีที่ 4-6 ช่วงนี้ครับ ผมเรียกว่าช่วงของจริงของการเรียน เพราะเป็นการเรียนในชั้นคลินิก เรียนกับคนไข้ เรียนหนักจริง ๆ ครับ ต้องเรียนตั้งแต่เช้า คือ การขึ้นมาดูคนไข้ที่เรียกว่า การราวด์วอร์ด (round ward) การเริ่มกิจกรรมนี้ก็อาจแตกต่างกันในแต่ละภาควิชา เวลาส่วนใหญ่ก็ประมาณ 6.30 น. เริ่มกิจกรรมนี้ แล้วก็ยาวต่อไปทั้งวัน ไม่รู้เวลาจบในแต่ละวันที่แน่ชัด แต่ก็ไม่เร็วกว่า 18.00 น. เป็นส่วนใหญ่ แล้วก็มีอยู่เวรกลางคืนต่อด้วย ถ้าปีที่ 4 ก็อยู่เวรถึง 22.00 น. ถ้าปีที่ 5 ก็ถึงเที่ยงคืน ถ้าปีที่ 6 ก็อยู่จนเช้าอีกวันหนึ่ง ถ้าใครเรียนไม่ไหว เพราะไม่ชอบก็มักจะเริ่มในปีที่ 4 เพราะมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการเรียนแตกต่างจากปีที่ 1-3 อย่างชัดเจน

      3. การใช้ชีวิตของนักศึกษาแพทย์จะมีเวลาว่างในการสันทนาการน้อยกว่านักศึกษาคณะอื่น ๆ อย่างแน่นอน ดังนั้นบางส่วนอาจกล่าวได้ว่า ไม่มีชีวิตช่วงวัยรุ่นเหมือนคณะอื่น ๆ ดังนั้นถ้าไม่ชอบการเรียนแพทย์ หรืออยากเป็นหมอจริง ๆ ก็จะเกิดความไม่สนุกในการเรียน ทุกข์กับการเป็นนักศึกษาแพทย์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็จะส่งผลต่อการเรียนและทัศนคติต่อการเป็นหมอที่ดีในอนาคต

      4. การเรียนที่หนัก กิจกรรมการรักษาคนไข้ที่มาก ไม่มีเวลาพักที่แน่นอน บางวันอาจไม่ได้ทานอาหารเช้า อาหารกลางวันเลย ดังนั้นต้องเป็นรีบทานอาหารเช้าที่ง่าย ๆ แต่เช้ามืด ทานด้วยความรวดเร็ว ทานเพื่อให้ท้องอิ่มก็พอ ไม่ได้ดูแลสุขภาพเท่าไหร่นัก อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ง่าย เช่น โรคกรดไหลย้อน โรคกระเพาะอาหาร

      5. การนอนที่ไม่เป็นเวลา การนอนที่ไม่พอ บางวันอาจไม่ได้นอนเลย และต้องทำงานต่อในวันรุ่งขึ้น หรือพูดง่าย ๆ ว่าต้องสามารถทำงานต่อเนื่องได้นานติดต่อกัน 32-34 ชั่วโมง

      6. การเรียนช่วงดูคนไข้ต้องพบกับสิ่งที่เป็นปัญหาของผู้ป่วยจริง ๆ ไม่ใช่สิ่งที่สวยงาม นักศึกษาแพทย์ต้องปรับตัวให้ได้ เช่น บางคนไม่ชอบเลือด เห็นเลือดจะเป็นลม เป็นต้น

      7. บางช่วงเวลาอาจไม่ได้กลับบ้านเลยต่อเนื่องกันหลายต่อหลายเดือน เพราะการเรียนต่อเนื่องไม่มีวันหยุดเสาร์ อาทิตย์หรือวันหยุดราชการ วันหยุดนักขัตฤกษ์เลย เนื่องจากต้องมีกิจกรรมดูแลผู้ป่วยทุกวัน เพราะผู้ป่วยไม่มีวันหยุดครับ

      ดังนั้นถ้าน้อง ๆ ไม่ชอบเรียนหมอจริง ๆ ไม่รักในวิชาชีพหมอจริง ๆ น้อง ๆ ก็จะเรียนแบบไม่มีความสุข อาจไม่ประสบความสำเร็จในการเป็นแพทย์ที่ดีในอนาคต