นานาสาระ ตอน ทำอย่างไรให้คนในชุมชนรักษาที่โรงพยาบาลชุมชน

นานาสาระกับหมอสมศักดิ์-11


      

      การเจ็บป่วยเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่อยากให้เกิดขึ้นกับตนเอง และคนที่เรารัก แต่มันก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก เพราะทุกคนต้องมีเกิด แก่ เจ็บ และตาย เป็นสัจธรรมของชีวิต เมื่อเจ็บป่วยเราก็ต้องการให้หายเร็วที่สุด เจ็บปวดน้อยที่สุด จึงต้องไปหาหมอที่เราไว้ใจมากที่สุด ดังนั้นเราจะเห็นว่าโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ยิ่งมีผู้ป่วยมาก ยิ่งคลินิกที่มีชื่อเสียง คนไข้ก็ยิ่งเยอะ ผมมานั่งคิดว่าทำไมคนไข้ถึงไม่รับการรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านเป็นหลัก จะทำอย่างไรดีให้โรงพยาบาลใกล้บ้านเป็นที่พึ่งของคนไทยมากที่สุด

      1. การพัฒนาโรงพยาบาลในแต่ละที่ให้สามารถตอบสนองปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยของแต่ละชุมชนให้ได้มากที่สุด มีโรคอะไรที่พบบ่อย ก็ต้องมีแพทย์ และทีมในการแก้ไขปัญหานั้นอย่างเหมาะสม

      2. โรงพยาบาลต้องเป็นส่วนหนึ่งของสังคมชุมชนนั้น ๆ ไม่ใช่เป็นเพียงสถานที่รักษาความเจ็บป่วยเท่านั้น ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรม การพัฒนาชุมชน การเรียนรู้ของคนในชุมชนนั้น ๆ

      3. การสร้างเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยอย่างครบวงจร ได้แก่ การมีเครือข่ายโรงพยาบาลที่ศักยภาพสูงกว่า เพื่อให้การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บป่วยรุนแรง เกินกว่าศักยภาพของโรงพยาบาลชุมชน และต้องมีเครือข่ายการรับผู้ป่วยกลับมาดูแลต่อเนื่อง กรณีมีภาวะเจ็บป่วยเรื้อรัง ต้องมีการฟื้นฟูสมรรถภาพ หรือการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย

      4. การร่วมมือกับชุมชนในการสร้างโรงพยาบาลให้เป็นเสมือนส่วนหนึ่งของชุมชนนั้น เหมือนกับที่คนในชุมชนร่วมกันสร้างวัด ถ้าคนในชุมชนร่วมมือกันพัฒนาโรงพยาบาล ก็จะมีความรัก ความผูกพันกับโรงพยาบาล

      5. เน้นการบริการเชิงรุก ด้วยการส่งเสริม ป้องกันปัญหาสุขภาพมากขึ้น เน้นการลงพื้นที่มากกว่าการตั้งรับในโรงพยาบาล

      6. พยายามค้นหาคนในชุมชนมาทำงานในโรงพยาบาลในทุก ๆ ตำแหน่ง โดยเฉพาะแพทย์ พยาบาล และทีมสุขภาพ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและต่อเนื่องในการทำงานพัฒนาโรงพยาบาล

      7. กรรมการพัฒนาและบริหารโรงพยาบาลควรมีตัวแทนชุมชนร่วมด้วย เพื่อการร่วมมือกันในการคิด ค้น พัฒนาการบริการของโรงพยาบาลให้ดียิ่งขึ้น ตรงกับความต้องการของชุมชน

      ผมมีความเห็นว่าโรงพยาบาลชุมชนต้องเริ่มจากชุมชนจริง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาในชุมชน และช่วยยกคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนนั้น ๆ