นานาสาระ ตอน การเข้ารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉิน

นานาสาระกับหมอสมศักดิ์-1


      

      การเจ็บป่วยนั้นไม่สามารถเลือกเวลาได้ อาจเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน หรือค่อยเป็นค่อยไปก็ได้ อาจเกิดอาการป่วยกลางวันหรือกลางคืน หรือกลางดึกก็ได้ ไม่สามารถกำหนดเวลาเจ็บป่วยได้ ดังนั้นถ้ามีอาการเจ็บป่วยตอนกลางคืนก็ต้องไปหาหมอที่ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาล พอไปถึงห้องฉุกเฉินก็พบพยาบาลมาสอบถามอาการ แล้วก็บอกว่าอาการเจ็บป่วยนั้นไม่ด่วน ไม่ฉุกเฉิน ให้กลับบ้านไปก่อน ยังไม่ได้พบหมอ ก็ทำให้เกิดปัญหาการร้องเรียนด้านระบบบริการที่ห้องฉุกเฉิน ผมอยากมาพูดคุยเกี่ยวกับการเข้ารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินดังนี้

      1. อาการเจ็บป่วยที่ค่อย ๆ เริ่มมีอาการผิดปกติมาตั้งแต่กลางวัน หรือเป็นมาหลายวันแล้ว ถ้าอาการไม่ดีขึ้นผมอยากแนะนำให้มาโรงพยาบาลพบหมอในช่วงเวลาราชการดีกว่าที่จะมาที่ห้องฉุกเฉิน เพราะการมาที่ห้องฉุกเฉินนั้นจะไม่ได้รับการตรวจประเมินโดยละเอียด และไม่ได้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะการรักษาที่ห้องฉุกเฉินจะให้การรักษาเฉพาะกรณีฉุกเฉินจริง ๆ และเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น

      2. อาการเจ็บป่วยที่เป็นขึ้นมาแบบปัจจุบันทันด่วนนั้น และมีอาการรุนแรง ก็ควรรีบมารักษา ถ้ามาเองไม่สะดวก ก็สามารถโทรศัพท์ที่หมายเลข 1669 เพื่อให้รถพยาบาลฉุกเฉินมารับตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล

      3. อาการเจ็บป่วยที่เพิ่งเป็น แต่ไม่รุนแรง แต่เพิ่งเป็นตอนกลางคืน ถ้าไม่มั่นใจว่าจะดูแลตนเองได้ หรือกังวลใจว่าจะมีอันตราย ก็สามารถไปที่ห้องฉุกเฉินได้ แต่ถ้าไปแล้วทางพยาบาลคัดกรองประเมินแล้วว่าไม่ใช่ภาวะฉุกเฉิน แล้วนัดให้พบแพทย์ในเวลาต่อมา ผู้ป่วยก็ควรยอมรับการประเมินนั้นด้วย เพราะเกณฑ์การประเมินนั้นเป็นมาตรฐานทางการแพทย์ ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับที่ผู้ป่วยคิด

      4. กรณีอื่น ๆ ที่ชัดเจนว่าไม่ใช่กรณีฉุกเฉินแน่ ๆ นั้น เช่น การทำแผล การฉีดวัคซีน การมารับยาเก่า อาการเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ ไข้หวัด ปวดท้อง ปวดหัว ขอรับใบรับรองแพทย์ ก็ควรเข้ารับการรักษาในเวลาราชการดีกว่าครับ

      ห้องฉุกเฉินจัดการรักษาไว้เฉพาะผู้ป่วยที่เจ็บป่วยฉุกเฉินจริง ๆ การที่ต้องมาบริการรักษาผู้ป่วยที่ไม่ฉุกเฉิน เท่ากับเป็นการเบียดบังเวลาของผู้ป่วยฉุกเฉิน อย่าทำเลยครับ