นานาสาระ ตอน ความอยู่รอดของบัตรทอง
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 28 กุมภาพันธ์ 2563
- Tweet
นานาสาระ ตอน ความอยู่รอดของบัตรทอง
สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทองเป็นสิทธิการรักษาที่ดูแลคนไทย 3 ใน 4 ของประเทศ แต่ก็อาจเป็นเหตุหนึ่งที่อาจก่อให้เกิดภาวะขาดทุนของโรงพยาบาลต่าง ๆ อย่างถ้วนหน้า และบางกรณีก็อาจถูกนักวิชาการว่าเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตผู้ป่วยบัตรทอง ที่พบว่าผู้ป่วยโรคเดียวกันถ้าใช้สิทธิการรักษาบัตรทอง มีการเสียชีวิตสูงกว่าสิทธิการรักษาอื่น ๆ โดยความเห็นส่วนตัวของผม ปัญหาของการขาดทุนนั้น คงไม่ได้เกิดจากสิทธิการรักษาบัตรทองเพียงสิทธิเดียว เพราะปัจจุบันการจ่ายค่ารักษาพยาบาลจากทั้ง 3 สิทธิการรักษานั้นก็ต่ำกว่าต้นทุนที่แต่ละโรงพยาบาลใช้จ่ายไป ผมเลยมานั่งวิเคราะห์เพื่อหาวิธีที่จะทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทยนั้นสามารถอยู่ดูแลคนไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากขึ้น ดังนี้
1. ส่งเสริมการดูแลสุขภาพเบื้องต้นของคนไทย ทั้งในด้านการส่งเสริม ป้องกัน และรักษาอาการเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่การดูแลตนเองได้ เช่น ไข้หวัด ปวดหัวแบบธรรมดา ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อจากการทำงาน ท้องเสีย วิงเวียนศีรษะ แผลขนาดเล็กที่ไม่ต้องเย็บ เป็นต้น
2. สนับสนุนให้หน่วยบริบาลด้านสุขภาพที่ใกล้ชิดกับประชาชนในชุมชน เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมีความสามารถในการบริบาลด้านสุขภาพ และมีการส่งต่อข้อมูลที่ดี มีประสิทธิภาพ ลดการทำงานด้านข้อมูลที่ซ้ำซ้อนแบบในปัจจุบันที่เจ้าหน้าที่ต้องเสียเวลาอย่างมากในการลงข้อมูล ผมเชื่อมั่นว่าถ้าลดเวลาที่ใช้ในการลงข้อมูลนี้ไปได้ ก็จะทำให้เจ้าหน้าที่มีเวลาในการทำงานให้บรรลุเป้าหมายในการดูแลสุขภาพประชาชนได้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งการทำหน้าที่ด้านการรับยาต่อเนื่อง (refill) เพื่อลดการเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลชุมชน หรือโรงพยาบาลจังหวัดได้
3. หน่วยงานด้านสุขภาพควรทำงานร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มีการตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในชุมชนได้มากยิ่งขึ้น และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นต้องให้การสนับสนุนกิจกรรมด้านสุขภาพมากยิ่งขึ้น เพราะปัญหาด้านสุขภาพควรเป็นหน้าที่ของชุมชนที่ต้องให้การดูแลร่วมกัน ไม่ใช่เป็นเพียงหน้าที่ ความรับผิดชอบของหน่วยงานใด หน่วยงานหนึ่งเท่านั้น
4. การพัฒนาและสร้างระบบแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวให้สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และต้องทำให้ประชาชนมีความมั่นใจในการทำหน้าที่บริบาลของแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว
5. การพัฒนาและสร้างระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดการบริบาลด้านการแพทย์ฉุกเฉินที่มีความคุ้มค่า ลดความแออัดของห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ลดความสูญเสียในบางโรงพยาบาลที่อาจไม่มีความจำเป็นในการเปิดบริการของห้องฉุกเฉินนอกเวลาราชการ
6. สมาคมวิชาชีพของแพทย์แต่ละสาขาหรือแต่ละระบบ เช่น โรคระบบประสาท โรคหัวใจ โรคทางเดินอาหาร ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข และผู้รับผิดชอบจ่ายค่ารักษาพยาบาล ได้แก่ กรมบัญชีกลาง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม และบริษัทประกันชีวิต รวมทั้งโรงพยาบาลเอกชน เพื่อพัฒนาแนวทางการรักษาโรคที่มีความคุ้มค่ามากที่สุดและมีความปลอดภัย เหมาะสมกับฐานะด้านการเงินของประเทศ เน้นย้ำว่าเป็นแนวทางการรักษาที่มีเหมาะสมกับคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศ มิใช่แนวทางการรักษาที่ดีที่สุด เพื่อให้เกิดแนวทางการรักษาของประเทศไทยที่มีความเหมาะสมและยั่งยืน
7. รัฐบาลควรมีการเปิดโอกาสให้ผู้ได้รับผลกระทบจากระบบบริการด้านสุขภาพในปัจจุบันได้แสดงความคิดเห็น ระดมความคิดเพื่อให้เกิดแนวทางการพัฒนาระบบสุขภาพที่ได้มีมุมมองจากผู้เกี่ยวข้องโดยตรง และรอบด้าน เนื่องด้วยระบบในปัจจุบัน ผู้ให้บริบาลนั้นแทบไม่มีโอกาสได้ให้ความเห็นต่อผู้พัฒนาและดูแลระบบบริบาลเลย
8. กระทรวงสาธารณสุขควรร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนด้านสุขภาพสำหรับนักเรียนในทุกระดับชั้น เพื่อให้เกิดความรู้ในการดูแลสุขภาพอย่างถูกต้อง รวมทั้งระบบสุขภาพของประเทศไทย นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขควรบูรณาการด้านสุขภาพกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้านสุขภาพ เช่น กระทรวงไอซีที ควรขอความร่วมมือกับบริษัทด้านการสื่อสาร เช่น บริษัทจำหน่ายโทรศัพท์ให้มีการรวบรวมแอพพลิเคชั่นด้านสุขภาพของประเทศไทย เพื่อให้มีการบรรจุลงในสมาร์ทโฟนของคนไทย เหมือนกับการลงแอพพลิเคชั่นอื่น ๆ ในสมาร์ทโฟนโดยอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงสิ่งที่มีประโยชน์ด้านสุขภาพที่สะดวกขึ้น
9. กระทรวงสาธารณสุขควรร่วมมือกับร้านสะดวกซื้อ เพื่อให้ร้านสะดวกซื้อเป็นสวนหนึ่งของระบบสุขภาพ เช่น การจำหน่ายอาหารเฉพาะโรค จุดประชาสัมพันธ์ข่าวสารด้านสุขภาพ จุดบริการตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจวัดระดับน้ำตาลปลายนิ้ว เป็นต้น