นานาสาระ ตอน จากใจรุ่นพี่ สู่รุ่นน้อง

นานาสาระกับคุณหมอสมศักดิ์-12


นานาสาระ ตอน จากใจรุ่นพี่ สู่รุ่นน้อง

ผมขอแนะนำตัวให้ทุกคนที่อ่านบทความนี้ เพื่อทำความรู้จักตัวตนของผมก่อน ผมเป็นคนนครสวรรค์โดยกำเนิด มาเรียนหนังสือในระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาที่ฉะเชิงเทรา แล้วสอบเข้าเรียนต่อในคณะแพทย์ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตั้งแต่ปี 2527 ผมมาเรียนในสัปดาห์แรก ๆ ก็เริ่มมีความเครียดแล้วครับ เพราะต้องจากบ้านไกลครั้งแรก มาอยู่หอพักเป็นครั้งแรก การเรียนไม่ค่อยเครียดเลยในปีที่ 1 ดังนั้นความเครียดที่เกิดขึ้นเป็นจากการจากบ้านไกล ซึ่งก็ค่อย ๆ ปรับตัวได้ไม่ยาก พอเทอม 2 ของปี 1 มีความเครียดอย่างแรงครับ คือ สอบตกวิชาฟิสิกส์ ต้องลงทะเบียนเรียนซ้ำในภาคการศึกษาฤดูร้อน (summer) แต่ก็ผ่านไปด้วยดี ในการเรียนชั้นปีที่ 1 นั้นได้กลับบ้านประมาณ 2 เดือนครั้งครับ นั่งรถทัวร์จากขอนแก่นมากรุงเทพ แล้วก็ต่อไปที่ฉะเชิงเทรา โดยสรุปปีที่ 1 ของการเรียนแพทย์เรียกว่าผ่านไปได้ด้วยดี ถึงแม้จะมีอุปสรรค คือ คิดถึงบ้านกับสอบตกวิชาฟิสิกส์ ซึ่งพ่อแม่พี่น้องของผมไม่มีใครรับทราบหรอกครับว่าผมสอบตก เพิ่งจะรู้ก็วันนี้ละครับ

พอขึ้นปีที่ 2กับปีที่ 3 การเรียนในชั้นปรีคลินิก เรียกว่ามีความแตกต่างกับปีที่ 1 ราวหน้ามือกับหลังเท้าเลยครับ ต้องมาเรียนตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็นทุกวัน แต่ละวิชาก็ใช้เวลาเรียน 4-6 สัปดาห์ก็ต้องสอบ แต่พอครบเทอมก็ต้องสอบทุกวิชาที่เรียนไปแล้วอีกครั้ง ดังนั้นนักศึกษาแพทย์ก็ต้องอ่านหนังสือกันตลอดทุกวันสำหรับเด็กที่ตั้งใจเรียน ส่วนผมก็จัดอยู่ในเด็กกิจกรรม ก็ต้องใช้เวลาส่วนหนึ่งทำกิจกรรม แล้วพอใกล้สอบก็ต้องเร่งอ่านหนังสือกันทั้งวันทั้งคืน แต่ย้ำว่าไม่เคยโดดเรียนนะครับ ผมเป็นเด็กที่ตั้งใจเรียนมากครับ แต่ไม่ค่อยตั้งใจอ่านหนังสือเท่าไหร่ ผมจำได้มีบางวิชาต้องพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก่อนสอบ ไปไหว้ศาลเจ้าพ่อมอดินแดง เพื่อให้ช่วยผมในการสอบ ซึ่งผมก็โชคดีสอบผ่านมาตลอดด้วยเกรดมหาชน คือ C ครับ ไม่เคยรู้จักเกรด A, B ครับ เพื่อนกลุ่มผมบางคนสอบตกทุกวิชาครับ แต่ก็ซ่อมผ่านมาได้เหมือนกัน แต่กลุ่มเราก็ไม่เครียดครับ แต่ยอมรับว่าเรียนหนักมาก ๆๆๆๆ ผมพยายามแบ่งเวลาทำกิจกรรมกับเรียนให้ควบคู่กันได้ ผมมีความเห็นว่า การทำกิจกรรมควบคู่ไปกับการเรียนอย่างหนักนั้น ทำให้เราลดความเครียดไปได้มากในด้านการเรียน เพราะเรามีประสบการณ์ในการพบปัญหาจากการทำกิจกรรมมามาก ปัญหาเรื่องเรียนก็เลยไม่ค่อยเครียดเท่าไหร่ครับ แต่ก็ต้องไม่กังวลใจกับผลการเรียนนะครับ ผมมีความคิดว่า เรียนเพื่อรู้ครับ แล้วก็ไม่ใช่รู้แค่เรื่องเรียน เราต้องเรียนรู้การใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย และการทำกิจกรรมต่าง ๆ ไปด้วย

แต่พอขึ้นปีที่ 4,5 นั้น คราวนี้เรียกว่าเจอของจริงครับ ต้องมาขึ้นวอร์ด ดูผู้ป่วยตั้งแต่ 6 โมงเช้าในแผนกศัลยกรรม แผนกอื่น ๆ ก็ประมาณ 6.30-7.00 น. ต้องปรับตัวในทุก ๆ ด้าน ตั้งแต่การใช้ชีวิตที่ไม่เคยเห็นพระอาทิตย์และพระอาทิตย์ตกเลยครับ ต้องทานง่าย ทานเร็ว นอนง่าย หลับเร็ว สามรรถยืนได้นาน ๆ หลายชั่วโมง สามารถอดข้าวได้ เพราะไม่มีเวลาทานข้าวเลยในบางวัน การเรียนก็เป็นเนื้อหาวิชาที่ไม่เคยรู้มาก่อนเลย ทุกอย่างใหม่หมด แต่ก็เป็นเรื่องที่เราให้ความสนใจ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตคนไข้ทั้งสิ้น เราถูกฝึกให้อดทน ให้รับผิดชอบ ซึ่งวิธีการสอนของอาจารย์แต่ละท่านก็มีความแตกต่างกันมาก บางแผนกนักศึกษาแพทย์ต้องร้องไห้เกือบทุกคน ผมเองยังจำได้ดี ทั้งเห็นประวัติผู้ป่วย แผ่นเอกซเรย์บินผ่านหน้า (อาจารย์เหวี่ยงประวัติ แผ่นเอกซเรย์ผู้ป่วยใส่หน้าเรา) ถูกอาจารย์ไล่ออกจากห้องเรียน ถูกอาจารย์ว่าโง่ ควาย สามล้อก็ตอบได้ เราก็ไม่เครียดครับ เพราะเรารู้ว่าที่อาจารย์ทำสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น เพราะต้องการสอนให้เราเป็นหมอที่ดี มีความรับผิดชอบ ไม่ได้ทำเพราะเกลียดหรือไม่อยากสอนเรา การสอนรูปแบบต่าง ๆ ก็น่าจะขึ้นกับอาจารย์ สถานการณ์ และอารมณ์ที่จะพาไปในตอนนั้น ๆ ผมแนะนำว่าเราก็เลือกจำแต่ในสิ่งที่เราเห็นว่าจะนำมาใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต อะไรที่เรารู้สึกว่าไม่ควรเกิด เราก็ไม่ควรทำในอนาคต

การเรียนในชั้นปีที่ 6 หรือ extern นั้นเป็นช่วงชีวิตที่หนักหนาสาหัสมาก เรียกง่าย ๆ ว่า สมองเป็นคนแต่ร่างกายต้องแข็งแกร่งเหมือนควาย 2 วันหนึ่งคืน คือความสามารถของ extern ที่ต้องทำงานได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องนอนนะครับ หนังสือก็ต้องอ่าน งานก็ต้องทำ ดูผู้ป่วยก็ต้องดี ชีวิตเรียกว่าหนักจริง ๆ แต่ทุกคนก็ผ่านไปได้ด้วยดีทั้งนั้น ผมว่าปีที่ 6 เครียดเรื่องเรียนน้อยที่สุดเลย เพราะไม่มีเวลาคิดเรื่องอื่น ๆ นอกจากตื่นขึ้นมาให้ทันเวลาเท่านั้น ไม่มีเวลาคิดเรื่องอื่น ๆ เลย หนังสือก็แทบไม่ได้อ่าน แต่ก็สอบผ่านด้วยประสบการณ์จากการทำงานโดยตรง อาจารย์ก็ไม่ได้มาเคร่งครัดอะไรเรามากเหมือนปีที่ 4,5 แล้ว ที่สำคัญผมได้กำลังใจที่ดี คือ ภาพที่ผู้ป่วยหายกลับบ้าน เห็นภาพที่ญาติมารับผู้ป่วยด้วยความสุข ภาพที่ทุกคนยิ้มแย้ม ขอบคุณทีมผู้ให้การรักษา ซึ่งเราสัมผัสได้ถึงความสุขที่เกิดขึ้น ความเหนื่อยก็หายไปจริง ๆ

ที่ผมเล่ามานั้นคือประสบการณ์ตรงของผมเอง ปัจจุบันผมปฏิบัติงานเป็นอาจารย์แพทย์ที่สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผมพยายามสอนนักศึกษาแพทย์ด้วยความตั้งใจ และไม่ต่อว่านักศึกษาแพทย์เลย ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ผมเคยให้คะแนนนักศึกษาแพทย์ตกเพียง 1 คนตั้งแต่เป็นอาจารย์มา 24 ปี ที่ผมให้ตกเพียง 1 คน เพราะผมเน้นความรับผิดชอบเป็นหลัก ความรู้สามารถสอนให้รู้ทันได้ แต่ความรับผิดชอบเป็นสิ่งที่ต้องมีตลอดเวลา เพราะหมายถึงชีวิตของผู้ป่วย ผมพยายามพูดคุยและสอนนักศึกษาแพทย์ที่มาเป็นนักเรียนที่ปรึกษากับผมด้วยเหตุ ผล ประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านมา เพราะผมเองก็ไม่ค่อยชอบวิธีการดุแบบแรง ๆ จึงไม่นำมาเป็นวิธีการสอนของผม

ผมว่าความเครียดของนักศึกษาแพทย์มีแน่นอนครับ ถ้าไม่มีความเครียดเลยก็คงเป็นไปไม่ได้หรอกครับ เพราะการเรียนที่หนักอย่างที่ผมเล่ามา รวมทั้งการทำงานที่ต้องอดนอน ต้องอ่านหนังสือ ฝึกความรับผิดชอบอย่างมาก เพียงแต่เราจะทำอย่างไรให้น้อง ๆ นักศึกษาแพทย์เข้าใจว่าสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องพบเจอนั้นมันมีประโยชน์อย่างไร ทำไมอาจารย์หรือรุ่นพี่ถึงต้องทำแบบนั้น ผมก็ไม่เห็นด้วยกับการสอนตามแนวคิดที่ว่า no pain, no gain แต่เราจะทำอย่างไรให้ผู้เรียนรู้สึกที่ดีต่อสิ่งที่พบเจอ และต้องปรับตัวอย่างไร มีระบบการให้คำปรึกษาที่ดีพร้อม และทันเวลา ผมไม่อยากให้เกิดการสูญเสียกับรุ่นน้องอีกครับ แต่ก็อยากให้น้อง ๆ ที่จะต้องจบไปเป็นแพทย์ในอนาคต ก็ต้องมีความพร้อมทั้งความรู้ ความอดทน ความรับผิดชอบ และพร้อมในการพบเจอ แก้ปัญหาต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ด้วยความหวังดี รักและผูกพัน แพทย์ขอนแก่น