นอร์อิพิเนฟริน-โดพามีน รีลีสซิ่ง เอเจนท์ (Norepinephrine-dopamine releasing agent)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยานอร์อิพิเนฟริน-โดพามีน รีลีสซิ่ง เอเจนท์ (Norepinephrine-dopamine releasing agent ย่อว่า NDRA) เป็นกลุ่มยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นให้ร่างกายหรือสมองมีการหลั่งสารสื่อประสาทชนิดนอร์อิพิเนฟริน(Norepinephrine) และชนิดโดพามีน(Dopamine) ซึ่งสารสื่อประสาทเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะต่างๆในร่างกาย

กรณีสาร”นอร์อิพิเนฟริน” จะทำให้อัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตสูงขึ้น กระตุ้นให้น้ำตาลกลูโคสให้ถูกปลดปล่อยจากแหล่งสะสม เช่น ตับ และร่างกายนำมาใช้เป็นพลังงาน เพิ่มอัตราการไหลเวียนเลือดไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อลาย แต่จะลดการไหลเวียนของเลือดไปยังระบบทางเดินอาหาร ยับยั้งการขับถ่ายของกระเพาะปัสสาวะและลดการเคลื่อนไหวของอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร

กรณีของสาร “โดพามีน”มีหน้าที่อยู่หลายประการเช่นกัน อาทิ ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย ทำให้ความจำดีขึ้น ทำให้มีสมาธิ รู้สึกสงบสุข มีความตื่นตัว ตลอดจนควบคุมความอยากอาหารของร่างกาย (We get little dopamine rewards when we eat)

จากกลไกของสารสื่อประสาททั้ง 2 ตัวนี้ ทำให้วงการแพทย์ได้คัดเลือกยาที่แสดงฤทธิ์อย่างโดดเด่น และนำมาใช้เป็นยารักษาโรคต่างๆ เช่น โรคอ้วน โรคสมาธิสั้น โรคลมหลับ โรคซึมเศร้า อาการปวดเรื้อรังจากสาเหตุต่างๆ อาการน้ำมูกมาก ช่วยให้ความจำดีขึ้น และทำให้เคลิบเคลิ้มเป็นสุข

ทั้งนี้ กลุ่มยา NDRA มีมากมายหลายรายการ อาทิ Acridorex, Adderall, Alfetamine, Amfecloral, Amfepentorex, Amfepramone, 2-Aminoindane, Amfetaminil, Aminorex, Amphetamine, Barbexaclone, Benzphetamine 4,-Benzylpiperidine, Buphedrone, Camfetamine, Cathine, Cathinone, Clobenzorex, Clofenciclan, Clominorex, Cyclazodone, Cyclopentamine, Cypenamine, Deoxyepinephrine, D-Deprenyl, Dextroamphetamine, Dimethoxymethamphetamine, Dimethylamphetamine, Dopamine, Ethcathinone, N-Ethylbuphedrone, Etilamfetamine, Famprofazone, Fenbutrazate, Fencamine, Fenethylline, Fenozolone, Fenmetramide, Fenproporex, Fluminorex, 2-Fluoroamphetamine, 3-Fluoroamphetamine Furfenorex, 2-Fluoromethamphetamine, 3-Fluoromethamphetamine, 3-Fluoromethcathinone, 3-Fluorophenmetrazine, Formetorex, Gepefrine, Pholedrine, 4-Hydroxyamphetamine, Indanorex, Isopropylamphetamine, Levoamphetamine, Levopropylhexedrine, Lisdexamfetamine, Mefenorex, Metamfepramone, Methamphetamine, Methcathinone, Methylbenzylpiperazine, 4-Methylbuphedrone, 4-Methylethcathinone, N-Methylphenethylamine , Morazone, Morforex, Norfenefrine, Norpropylhexedrine, Octopamine, Ortetamine, Oxifentorex, Pemoline, Pentorex, Phendimetrazine, Phenethylamine, Phenmetrazine, Phenpromethamine, Prenylamine, Propylhexedrine, Propylamphetamine, Pseudophenmetrazine, Thozalinone, Tranylcypromine, Tyramine, และZylofuramine

อนึ่ง ยาบางตัวดังกล่าว ก็ยังมีใช้ทางคลินิก ยาบางตัวก็ถูกระงับด้วยมีฤทธิ์ทำให้เสพติด และก่อให้เกิดผลข้างเคียงอย่างรุนแรง

อย่างไรก็ตามทางการแพทย์ระบุให้กลุ่มยา NDRA มีข้อจำกัดการใช้ที่ควรทราบดังนี้

  • ห้ามใช้กับผู้มีประวัติแพ้ยาดังกล่าว
  • ผู้ที่มีประวัติป่วยเป็นโรคหัวใจ เช่น ผู้ป่วยหัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ผู้ที่มีภาวะ/โรคความดันโลหิตสูงที่ยังไม่สามารถควบคุมอาการได้ รวมถึงผู้ที่มีความดันโลหิตของหลอดเลือดในปอดสูง
  • ห้ามใช้กับผู้ที่เพิ่งได้รับยากลุ่มMAOI ภายใน 14 วันที่ผ่านมา ด้วยจะทำให้มีภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)อย่างรุนแรงตามมา
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนสูง/ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน/ ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ผู้ป่วยโรคต้อหิน
  • ผู้ที่มีประวัติติดยาเสพติด สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
  • ห้ามใช้ร่วมกับยาลดน้ำหนักตัวอื่นๆ นอกจากมีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้เป็นเวลายาวนานกว่าคำสั่งแพทย์ เพราะจะทำให้เกิดอาการทาง ระบบประสาท เช่น นอนไม่หลับ ตัวสั่น วิงเวียน ปวดศีรษะ ตาพร่า รวมถึงทำให้ ความดันโลหิตสูง ลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติ/โรคลิ้นหัวใจ ความดันโลหิตในปอดสูง หัวใจเต้นเร็ว ปัสสาวะขัด เป็นต้น

กลุ่มยาNDRA มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทและระบบการทำงานของหัวใจตลอดจนกระทั่งหลอดเลือด การใช้ยานี้อย่างไม่ถูกต้องโดยแอบลักลอบซื้อยามาใช้เองหรือแม้แต่การรับประทานหรือใช้ยานี้ตามคำบอกเล่าโดยไม่ได้ผ่านการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ล้วนแต่ก่อให้เกิดผลเสีย/ผลข้างเคียงของยานี้อย่างรุนแรง เพื่อความเหมาะสมปลอดภัยต่อสุขภาพ ผู้ป่วย/ผู้บริโภคควรต้องใช้ยาNDRAตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น

นอร์อิพิเนฟริน-โดพามีน รีลีสซิ่ง เอเจนท์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

นอร์อิพิเนฟรินโดพามีนรีลีสซิ่งเอเจนท์

ยานอร์อิพิเนฟริน-โดพามีน รีลีสซิ่ง เอเจนท์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้เป็นยาลดน้ำหนัก เช่นยา Phendimetrazine, Phenmetrazine
  • ใช้รักษาโรคสมาธิสั้น เช่นยา Amphetamine
  • ช่วยทำให้ความจำดีขึ้น เช่นยา Lisdexamfetamine
  • ใช้ลดน้ำมูก บำบัดอาการโรคหวัด เช่นยา Prophylhexedrine
  • บำบัดอาการซึมเศร้า เช่นยา Amphetamine
  • ระงับอาการปวดเรื้อรัง เช่นยา Amphetamine
  • บำบัดอาการโรคลมหลับ เช่นยา Pemoline

นอร์อิพิเนฟริน-โดพามีน รีลีสซิ่ง เอเจนท์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยานอร์อิพิเนฟริน-โดพามีน รีลีสซิ่ง เอเจนท์/NDRAมีกลไกการออกฤทธิ์ เช่น

  • กรณีใช้เป็นยาลดน้ำหนัก ยา NDRA จะออกฤทธิ์กระตุ้นศูนย์ควบคุมความรู้สึกอิ่มให้ทำงานลดความอยากอาหาร ตลอดจนเร่งการเผาผลาญน้ำตาลกลูโคสที่สะสมในร่างกาย
  • กรณีลดอาการโรคสมาธิสั้น และอาการซึมเศร้า ยา NDRA จะแสดงฤทธิ์ช่วยปลดปล่อยสารสื่อประสาท โดพามีน(Dopamine)อย่างเหมาะสม ทำให้เกิดสมาธิที่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้นและรู้สึกมีความสุข
  • กรณีบำบัดอาการโรคลมหลับ ยา NDRA ที่มีการออกฤทธิ์คล้ายกับสาร Dopamine ส่งผลให้กระตุ้นการเต้นของหัวใจ และทำให้รู้สึกไม่ง่วงนอน

นอร์อิพิเนฟริน-โดพามีน รีลีสซิ่ง เอเจนท์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยานอร์อิพิเนฟริน-โดพามีน รีลีสซิ่ง เอเจนท์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาชนิดรับประทาน
  • ยาฉีด
  • ยาสูดพ่น
  • ยาเหน็บทวาร
  • ยาเหน็บทางช่องคลอด

นอร์อิพิเนฟริน-โดพามีน รีลีสซิ่ง เอเจนท์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

กลุ่มยา NDRA ในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย มักถูกจัดให้อยู่ในประเภท ยาควบคุมพิเศษ ยาออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท และ/หรือ ยาเสพติด การใช้ยาชนิดใดๆในกลุ่มเหล่านี้ จึงต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยา NDRA ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ โรคต่อมไทรอยด์ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยา NDRA อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

การลืมรับประทานยา NDRA อาจไม่ก่อให้เกิดผลเสียรุนแรงเท่าใดนัก แต่เสี่ยง ต่อการทำให้เกิดภาวะถอนยาตามมาได้ อย่างไรก็ตามผู้ที่ลืมรับประทานยา NDRA สามารถรับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ห้ามเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2เท่าให้รับประทานยาในขนาดปกติ

อนึ่ง สำหรับผู้ที่ต้องการหยุดใช้ยากลุ่ม NDRA นี้ ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์เพื่อปรับลดขนาดการใช้ยากลุ่มนี้อย่างเหมาะสมเพื่อช่วยป้องกันภาวะถอนยาตามมา

นอร์อิพิเนฟริน-โดพามีน รีลีสซิ่ง เอเจนท์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

บทความนี้ ขอยกตัวอย่างผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ในภาพรวมของยากลุ่ม NDRA ที่อาจกระทบต่อการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆในร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปากแห้ง คลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องเสียหรือ ท้องผูก การรับรสชาติผิดปกติไป รู้สึกไม่สบายในระบบทางเดินอาหาร
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ความดันโลหิตในปอดสูง หายใจเร็ว
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ซึมเศร้า ความรู้สึกทางเพศต่ำ รู้สึกสับสน
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ประสาทหลอน วิงเวียน ปวดศีรษะ ตัวสั่น ชัก
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติ/โรคลิ้นหัวใจ ชีพจรผิดปกติ หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง หัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ ใบหน้าแดง
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด
  • ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เหงื่ออกมาก

*อนึ่ง การได้รับยาในกลุ่ม NDRA เกินขนาด สามารถส่งผลเสีย/ผลข้างเคียงได้อย่างรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตตามมา อาทิ ทำให้มีอาการช็อก หัวใจไม่สามารถสูบฉีดโลหิตได้ตามปกติ ทำให้ระบบการไหลเวียนเลือดล้มเหลว เกิดเลือดออกในเนื้อสมอง เลือดออกในกะโหลกศีรษะ มีภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย กระตุ้นให้เกิดภาวะ Serotonin syndrome เกิดอาการน้ำท่วมปอด ความดันโลหิตสูงหรือต่ำอย่างมาก ความดันหลอดเลือดในปอดสูงขึ้น ไตวาย ปัสสาวะไม่ออก มีไข้สูง เกลือโปแตสเซียมในเลือดสูงหรือไม่ก็ต่ำ ตลอดจนทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรด กรณีที่ปรากฏอาการเหล่านี้ หากทำการช่วยเหลือผู้ป่วยไม่ทันอาจเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว

มีข้อควรระวังการใช้นอร์อิพิเนฟริน-โดพามีน รีลีสซิ่ง เอเจนท์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยานอร์อิพิเนฟริน-โดพามีน รีลีสซิ่ง เอเจนท์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยากลุ่มนี้ หรือเคยติดยาเสพติดมาก่อน
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น สียาเปลี่ยนไป
  • ห้ามรับประทานยานี้กับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ ด้วยจะส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงจากยากลุ่มนี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคหัวใจต่างๆ โรคความดันโลหิตสูง โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ด้วยฤทธิ์ของยานี้สามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียงกับผู้ป่วยกลุ่มนี้อย่างมากมายและจนอาจเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้
  • หากใช้ยานี้ต่อเนื่องตามเวลาที่แพทย์กำหนดแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรหยุดการใช้ยานั้นๆ และรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด เพื่อขอคำปรึกษาอีกครั้งจากแพทย์
  • ระวังการเสพติดยาชนิดนี้
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมาย เพื่อรับการตรวจร่างกายและดูความก้าวหน้าของการรักษา
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่งทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยากลุ่มนอร์อิพิเนฟริน-โดพามีน รีลีสซิ่ง เอเจนท์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

นอร์อิพิเนฟริน-โดพามีน รีลีสซิ่ง เอเจนท์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยานอร์อิพิเนฟริน-โดพามีน รีลีสซิ่ง เอเจนท์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ ยาAmphetamine ร่วมกับยากลุ่ม Adrenergic blockers/ Adrenergic antagonists สามารถทำให้ฤทธิ์การรักษาของยา Adrenergic blocker ด้อยประสิทธิ ภาพลงไป จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยา Phendimetrazine ร่วมกับยา Fluvoxamine, Fluoxetine ด้วยยาดังกล่าวสามารถทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงของยาเฟนไดเมตราซีนมากขึ้น สังเกตจากมีอาการ วิตกกังวล กระสับกระส่าย หรือสะดุ้งผวาตามมา
  • ห้ามใช้ยา Phemetazine ร่วมกับ ยา Acebutolol ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยาทั้ง 2 ตัวอย่างรุนแรงตามมา

ควรเก็บรักษานอร์อิพิเนฟริน-โดพามีน รีลีสซิ่ง เอเจนท์อย่างไร?

ควรเก็บยา NDRA ภายใต้คำแนะนำในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยา ในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

นอร์อิพิเนฟริน-โดพามีน รีลีสซิ่ง เอเจนท์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยานอร์อิพิเนฟริน-โดพามีน รีลีสซิ่ง เอเจนท์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Amphetamine aspartate (แอมเฟตามีน แอสปาร์เตท)Mallinckrodt Inc.
Amphetamine sulfate (แอมเฟตามีน ซัลเฟท)Mallinckrodt Inc.
Dextroamphetamine saccharate (เดคโทรแอมเฟตามีน แซคคาเรท)Mallinckrodt Inc.
Dextroamphetamine sulfate (เดคโทรแอมเฟตามีน ซัลเฟท)Mallinckrodt Inc.
Bontril (บอนทริล)Mallinckrodt Inc.
Preludin (พรีลูดิน)Boehringer ingelheim

บรรณานุกรม

  1. https://blog.cognifit.com/functions-of-dopamine-serve-you/[2017,Dec2]
  2. http://nutritionwonderland.com/2009/07/understanding-our-bodies-dopamine-rewards/[2017,Dec2]
  3. http://glossary.feast-ed.org/4-biology-pharmacology/norepinephrine[2017,Dec2]
  4. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/11054588[2017,Dec2]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Norepinephrine[2017,Dec2]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Norepinephrine%E2%80%93dopamine_releasing_agent[2017,Dec2]
  7. https://en.wikipedia.org/wiki/Amphetamine#Medical[2017,Dec2]
  8. https://www.sdrugs.com/?c=firm&s=boehringer%20ingelheim[2017,Dec2]
  9. https://www.drugbank.ca/drugs/DB00830[2017,Dec2]