นอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์ (Norepinephrine releasing agent)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 25 มกราคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- นอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- นอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- นอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- นอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- นอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้นอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์อย่างไร?
- นอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษานอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์อย่างไร?
- นอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาลดความอ้วน (Diet pill or Weight loss drug)
- โรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity disorder: ADHD)
- ความเครียด ภาวะซึมเศร้า และโรคซึมเศร้า (Stress, Depression and Depressive disorder)
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- โรคหวัด (Common cold)
- โรคหืด (Asthma)
บทนำ
ยานอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์ (Norepinephrine releasing agent เขียนย่อว่า NRA) หรือจะเรียกว่า อะดรีเนอร์จิก รีลีสซิ่ง เอเจนท์ (Adrenergic releasing agent)ก็ได้ กลุ่มยาประเภทนี้มีฤทธิ์กระตุ้นให้สมองและต่อมหมวกไตเกิดการหลั่งสารสื่อประสาท 2ตัวคือ นอร์อิพิเนฟริน(Norepinephrine)และอิพิเนฟริน(Epinephrine) ที่มีอิทธิพลต่อการทำงานของอวัยวะต่างๆในร่างกายดังนี้ เช่น
ก. นอร์อิพิเนฟริน อาจเรียกว่า นอร์อะดรีนาลีน(Noradrenaline)ก็ได้ ตามธรรมชาติ นอร์อิพิเนฟรินจะถูกสังเคราะห์ที่สมองตรงบริเวณเส้นประสาทที่เรียกว่า Axon เมื่อร่างกายได้รับยาบางชนิด จะทำให้มีการปลดปล่อยนอร์อิพิเนฟริน สารสื่อประสาทชนิดนี้จะเดินทางข้ามไปยังเซลล์ประสาทที่อยู่ถัดไป ทำให้เซลล์ประสาทดังกล่าวสั่งให้ อวัยวะที่อยู่ในการควบคุม ทำงาน นอร์อิพิเนฟรินยังมีการสังเคราะห์จากต่อมหมวกไต ได้เช่นกัน ทั้งสมองและต่อมหมวกไตจะใช้สารโดพามีน(Dopamine) เป็นสารตั้งต้น ในการสังเคราะห์นอร์อิพิเนฟริน กลไกการออกฤทธิ์ของสารสื่อประสาทต่างๆนั้น จำเป็นต้องเข้าจับกับตัวรับ(Receptor)ที่อยู่ตามอวัยวะของร่างกายเสียก่อนจึงจะ ออกฤทธิ์สั่งการให้อวัยวะเหล่านั้นเกิดการตอบสนอง/การทำงานขึ้น เช่น
1 ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตสูงขึ้น
2 กระตุ้นให้น้ำตาลกลูโคสถูกปลดปล่อยและนำมาใช้เป็นพลังงาน
3 เพิ่มอัตราการไหลเวียนของเลือดไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อลาย
4 ลดการไหลเวียนของเลือดไปยังระบบทางเดินอาหาร ส่งผลให้การเคลื่อนไหวของอวัยวะในทางเดินอาหารลดลง
5 ยับยั้งการบีบตัวและหยุดการขับถ่ายของกระเพาะปัสสาวะ
ข. อิพิเนฟริน เป็นสารสื่อประสาทอีกหนึ่งตัวที่ผลิตจากต่อมหมวกไตเป็นส่วนมากและมีบางส่วนถูกผลิตจากเซลล์ประสาทในสมองโดยใช้นอร์อิพิเนฟรินเป็นสารตั้งต้น ทั่วไป การหลั่งอิพิเนฟรินมักจะเกิดขึ้นมากเมื่อร่างกายมีภาวะเครียด อิทธิพลของสารสื่อประสาทอิพิเนฟรินมีอยู่หลายประการและคล้ายกับนอร์อิพิเนฟริน เช่น
1 ทำให้หลอดลมคลายตัว ส่งผลให้หายใจสะดวกขึ้น
2 กระตุ้นให้หลอดเลือดหดตัว จึงมีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น
3 มีผลต่อการส่งผ่านน้ำตาลกลูโคสเข้าสมองและหัวใจได้มากยิ่งขึ้น
4 ส่งผลให้หัวใจเต้นเร็ว มีแรงบีบตัวมากขึ้น
เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจอาจเปรียบเทียบข้อเหมือนและข้อแตกต่างของสารสื่ประสาททั้งสองตัวได้ดังนี้
ตัวอย่างยาในกลุ่มนอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์ ซึ่งมีทั้งที่ใช้เป็นยารักษาโรคและบางกลุ่มที่ยังไม่ได้นำมาใช้เป็นยา มีดังนี้ เช่น Bupropion, Cafedrine, Cinnamedrine, Corbadrine, 1,3-Dimethylbutylamine, Ephedrine, Epinephrine, Ethylnorepinephrine, Phenylethanolamine, Levomethamphetamine, Mephentermine, Methylhexanamine , Β-Methylphenethylamine, L-Norpseudoephedrine, Oxilofrine, Phentermine, Phenylisobutylamine, Phenylpropanolamine, Pseudoephedrine,Tuaminoheptane
ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการซื้อหายาเหล่านี้/ยากลุ่มนอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์ มารับประทานเอง การเลือกใช้ยาตัวใดในกลุ่มยานอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์ได้อย่างเหมาะสมปลอดภัยนั้น ต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของแพทย์เท่านั้น และสามารถขอคำปรึกษาข้อมูลการใช้ยากลุ่มนี้ได้จากเภสัชกรตามร้านขายยาทั่วไป
นอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
กลุ่มยานอร์อิพิเนฟรินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ในการรักษาโรคต่างๆ ดังนี้ เช่น
- ใช้เป็นยาลดน้ำหนัก เช่น Norpseudoephedrine, Bupropion, Phentermine
- ใช้รักษาโรคสมาธิสั้น เช่น Bupropion
- รักษาอาการซึมเศร้า เช่น Bupropion
- ใช้รักษาภาวะ/โรคความดันโลหิตต่ำ เช่น Ephedrine
- ใช้ลดน้ำมูกบำบัดอาการโรคหวัด เช่น Pseudoephedrine, Phenylpropanolamine
- ใช้เป็นยาช่วยชีวิตกรณีหัวใจหยุดเต้นโดยกระตุ้นให้หัวใจกลับมาทำงานเป็นปกติ เช่น Epinephrine
- ใช้รักษาโรคหืดขณะที่มีอาการรุนแรง เช่น Epinephrine
นอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยานอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์มีกลไกการออกฤทธิ์ โดย
- กรณีใช้เป็นยาลดน้ำหนัก/ยาลดความอ้วน จะออกฤทธิ์กระตุ้นศูนย์อิ่มอาหารในสมองให้ทำงานและยับยั้งศูนย์หิวในสมอง ทำให้ลดความอยากอาหารตลอดจนเร่งการเผาผลาญใช้น้ำตาลกลูโคสที่สะสมอยู่ในร่างกาย
- กรณีใช้รักษาความดันโลหิตต่ำหรืออยู่ในภาวะช็อก ตัวยานี้จะกระตุ้นให้หลอดเลือดหดตัว และทำให้หัวใจเต้นเร็วและมีแรงบีบตัวเพิ่มขึ้น
- กรณีใช้รักษาอาการแพ้โดยมีอาการหอบหืดร่วมด้วย ตัวยานี้จะช่วยให้หลอดลมคลายตัว จึงทำให้หายใจสะดวกขึ้น
- กรณีใช้รักษาอาการซึมเศร้า ตัวยานี้จะกระตุ้นสมองให้มีการตื่นตัว ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย มีความมั่นใจในตัวเอง
- กรณีใช้รักษาอาการโรคหวัด ตัวยานี้จะช่วยให้หลอดเลือดในโพรงจมูกหดตัว ทำให้ลดการหลั่งน้ำมูก ส่งผลให้อาการคัดจมูกดีขึ้น
นอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยานอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาฉีด
- ยาหยอดจมูก
- ยารับประทาน ทั้งชนิด เม็ด แคปซูล และยาน้ำ
นอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยานอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์ บางตัวถูกจัดให้อยู่ในประเภทยา/วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท สามารถก่อให้เกิดอันตรายและทำให้มีภาวะติดยาเกิดขึ้นได้ เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ป่วย การใช้ยาชนิดใดๆในกลุ่มยานอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์ ควรเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยานอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ โรคต่อมไทรอยด์ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยานอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
การลืมรับประทานยาในกลุ่มนอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์ อาจจะไม่ก่อให้เกิดผลเสียรุนแรงเท่าใดนัก ผู้ที่ลืมรับประทานยานั้นๆ สามารถรับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้หากเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ห้ามเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ
นอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยานอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปากแห้ง กระหายน้ำ คลื่นไส้อาเจียน
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ ตัวสั่น วิงเวียน เกิดภาวะติดยา
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะขัด
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เหงื่อออกมาก
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดเลือด: เช่น หัวใจเต้นเร็ว เจ็บหน้าอก
มีข้อควรระวังการใช้นอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยานอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยากลุ่มนี้
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก สีของยาเปลี่ยนไป
- ห้ามรับประทานยานี้กับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบด้วยจะส่งเพิ่มความรุนแรงจนเกิดอันตรายของผลข้างเคียงจากยานั้นๆ
- หากรับประทานยานี้ต่อเนื่องตามเวลาที่แพทย์กำหนด แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรหยุดการใช้ยา และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อขอคำปรึกษาจากแพทย์อีกครั้ง
- ระวังการเสพติดยาบางตัวในกลุ่มนี้
- มาโรงพยาบาล/มาพบแพทย์ตามนัดหมาย เพื่อรับการตรวจร่างกาย และดูความก้าวหน้าของการรักษา
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่งทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยากลุ่มนอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
นอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยานอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยา Bupropion ร่วมกับยา Aminophylline, Ofloxacin, Amitriptyline ,และPhenylpropanolamine อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดอาการลมชักโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- หลีกเลี่ยงการใช้ ยาEphedrine ร่วมกับยาลดความดันโลหิตสูง เช่นยา Bethanidine และ Guanethidine เพราะจะทำให้ฤทธิ์ของยาลดความดันโลหิตด้อยประสิทธิภาพลงไป
ควรเก็บรักษานอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์อย่างไร?
ควรเก็บยานอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์ภายใต้คำแนะนำในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
นอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยานอร์อิพิเนฟริน รีลีสซิ่ง เอเจนท์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Quomem (คูโอเมม) | GlaxoSmithKline |
Wellbutrin XL (เวลบูทริน เอ็กซ์แอล) | GlaxoSmithKline |
Alergin (อะเลอจิน) | Cipla Limited |
Asthimo (แอสทิโม) | Jagsonpal Pharmaceuticals Ltd |
Binkof (บินคอฟ) | Bini Laboratories Pvt. Ltd |
Ephedrine Nasal Drops (เอฟีดรีน นาซอลดร็อป) | Thornton and Ross Ltd. |
Efipres (อีฟิเพรส) | Neon Laboratories Ltd |
Ephedrine (อีฟีดรีน) | Unicure(India) Pvt.Ltd. |
Ephedrine Hydrochloride (อีฟีดรีน ไฮโดรคลอไรด์) | Cyper Pharma |
Sulfidrin (ซัลไฟดริน) | Samarth Pharma Pvt.Ltd. |
Tedral SA (เทดรัล เอสเอ) | Pfizer Limited |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Norepinephrine_releasing_agent [2018,Jan6]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Category:Norepinephrine_releasing_agents [2018,Jan6]
- https://www.drugs.com/answers/norepinephrine-epinephrine-difference-3132946.html [2018,Jan6]
- file:///C:/Users/apai/Downloads/Hormones%20of%20the%20Adrenal%20Medulla%20(1).pdf [2018,Jan6]