ทิชชู พลาสมิโนเจน แอคติเวเตอร์ (Tissue plasminogen activator)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 13 ธันวาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- ทิชชู พลาสมิโนเจน แอคติเวเตอร์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ทิชชู พลาสมิโนเจน แอคติเวเตอร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ทิชชู พลาสมิโนเจน แอคติเวเตอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ทิชชู พลาสมิโนเจน แอคติเวเตอร์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- ทิชชู พลาสมิโนเจน แอคติเวเตอร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ทิชชู พลาสมิโนเจน แอคติเวเตอร์อย่างไร?
- ทิชชู พลาสมิโนเจน แอคติเวเตอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาทิชชู พลาสมิโนเจน แอคติเวเตอร์อย่างไร?
- ทิชชู พลาสมิโนเจน แอคติเวเตอร์มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาสลายลิ่มเลือด หรือยาละลายลิ่มเลือด (Fibrinolytic drugs or Thrombolytic drugs)
- ยาต้านเกล็ดเลือด (Antiplatelet drug)
- ยาต้านการแข็งตัวของเลือด: ยากันเลือดแข็งตัว (Anticoagulants)
- โรคเลือด (Blood Diseases)
- โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)
- โรคอัมพาต โรคอัมพฤกษ์ โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
- โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)
บทนำ
กระบวนการห้ามเลือด(Hemostasis)ของร่างกาย เกิดจากการทำงานของเกล็ดเลือด โดยมีกระบวนการเปลี่ยนแปลงของเกล็ดเลือดไปเป็นลิ่มเลือดที่คอยอุดปิดบริเวณหลอดเลือดที่ฉีกขาด/ที่เกิดบาดแผล ซึ่งการก่อตัวของลิ่มเลือดนี้จะเกิดในปริมาณเพียงเหมาะสมเพื่ออุดรอยฉีกขาดในบริเวณหลอดเลือดเท่านั้น จะไม่มีการขยายตัวของลิ่มเลือดลุกลามจนกลายเป็นการอุดกั้นหลอดเลือด สมดุลการสร้างลิ่มเลือดอย่างเหมาะสมเป็นผลพวงมาจากธรรมชาติของเนื้อเยื่อ(Tissue)ที่อยู่ใกล้เคียงกับรอยบาดแผล จะคอยปลดปล่อยสารโปรตีนชนิดหนึ่งที่คอยยับยั้งการก่อตัวของลิ่มเลือด สารโปรตีนดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า “ทิชชู พลาสมิโนเจน แอคติเวเตอร์(Tissue plasminogen activator)เรียกย่อว่า ทีพีเอ(tPA) หรือ PLAT” และในที่นี้ ขอแปลเป็นไทยและใช้เฉพาะในบทความนี้ว่า “ตัวกระตุ้นพลาสมิโนเจนจากเนื้อเยื่อ หรือตัวกระตุ้นเนื้อเยื่อพลาสมิโนเจน หรือทิชชู พลาสมิโนเจน แอคติเวเตอร์(tPA)” ซึ่งมีกลไกการทำงานโดย tPA จะเข้าจับกับสารโปรตีนอีกชนิดหนึ่งในน้ำเลือดที่เรียกว่า “พลาสมิโนเจน(Plasminogen)” การรวมตัวดังกล่าวจะกระตุ้นให้พลาสมิโนเจนเปลี่ยนไปเป็นสาร “พลาสมิน(Plasmin)”ที่มีคุณสมบัติย่อยสลายลิ่มเลือดได้ หากกลไกการสลายลิ่มเลือดบกพร่องหรือผิดปกติ จะส่งผลให้มีลิ่มเลือดก่อตัวในหลอดเลือดจนอุดกั้นการไหลเวียนของเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆของร่างกายได้ ซึ่งที่สำคัญ เช่น สมอง ปอด และ/หรือ หัวใจ จนอาจส่งผลเป็นอันตรายรุนแรงต่อร่างกายตามมา
นักวิทยาศาสตร์ได้คิดค้นยาสลายลิ่มเลือด(ยาละลายลิ่มเลือด) ที่มีการออกฤทธิ์เลียนแบบตัวกระตุ้นเนื้อเยื่อพลาสมิโนเจน(tPA) และเรียกกลุ่มยานี้ว่า “ทิชชู พลาสมิโนเจน แอคติเวเตอร์(Tissue plasminogen activator)ย่อว่า ทีพีเอ(tPA)”เช่นกัน หรือถ้าเรียกตามวิธีในกระบวนการผลิตจะเรียกว่า “Recombinant tissue plasminogen activator ย่อว่า rtPA ” หรือเมื่อผลิตจากสารโปรตีนที่เหมือนสารโปรตีนในคน จะเรียกว่า “Recombinant human tissue plasminogen activator หรือ Recombinant human tissue –type plasminogen activator”
ยากลุ่ม tPA นี้ถูกนำมาใช้ทางการแพทย์อย่างแพร่หลาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบำบัดรักษาอาการโรคที่มีสาเหตุจากการอุดตันของลิ่มเลือดในหลอดเลือด เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในหลอดเลือดปอด โรค/ภาวะสมองขาดเลือดจากการอุดตันของลิ่มเลือดในหลอดเลือดสมอง ตลอดจนภาวะลิ่มเลือดอุดตันตามหลอดเลือดต่างๆของร่างกาย
ปัจจุบันอาจจำแนกยากลุ่มทีพีเอ(tPA) ออกเป็นรายการย่อยๆ ดังนี้
1. ยา Alteplase: มีคุณสมบัติสลายลิ่มเลือดที่อุดตันในหลอดเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงอวัยวะสำคัญอย่างเช่น สมอง ปอด และหัวใจ ทางคลินิกใช้บำบัดอาการโรคกล้ามเนื้อ หัวใจตาย โรค/ภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นหลอดเลือดปอด หรือ ภาวะสมองขาดเลือดจากลิ่มเลือดอุดกั้นหลอดเลือดสมอง รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยา Alteplase เป็นยาชนิดฉีดที่มีระยะเวลาออกฤทธิ์นานประมาณ 1 ชั่วโมง ยาชนิดนี้ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย และจัดให้อยู่ในหมวดยาอันตราย สามารถพบเห็นการจัดจำหน่ายภายใต้ ชื่อการค้าว่า Actilyse
2. Retelplase: ทางคลินิกใช้บำบัดอาการโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย และยังนำยานี้ มาประยุกต์กับหัตถการในการแทงสายสวนหลอดเลือดดำเพื่อป้องกันมิให้มีการอุดตัน ของลิ่มเลือดที่ตำแหน่งต่างๆของสายสวน(Thrombotic catheter occlusions) ยานี้มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาฉีด และยังไม่พบเห็นการใช้ในประเทศไทย แต่ในต่างประเทศจะมีการจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้า Retavase
3. Tenecteplase ย่อว่า TNK: เป็นยาอีก 1 ตัวในกลุ่ม tPA ที่ผลิตโดยวิธีพันธุวิศวกรรมในการ ตัดต่อสารพันธุกรรมจากเซลล์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำพวกสัตว์ฟันแทะ ตัวยามีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาฉีดเช่นเดียวกับยาในกลุ่ม tPA ตัวอื่นๆ ถึงแม้ยานี้จะยังไม่ได้รับการบรรจุลงในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย แต่ก็สามารถพบเห็นการจัดจำหน่ายในประเทศภายใต้ชื่อการค้าว่า Metalyse
สำหรับข้อจำกัดการใช้ยา/ยากลุ่ม tPA จะมีความเป็นไปในลักษณะเดียวกันทุกตัวยาย่อย คือ
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้ขณะที่มีเลือดออกในสมอง(Acute ischemic stroke) ด้วยตัวยาจะ ทำให้มีเลือดออกมากขึ้นจนอาจเกิดอาการเลือดคั่งในสมอง ซึ่งจะส่งผลเสียร้ายแรง ต่อผู้ป่วยจนถึงขั้นเสียชีวิต
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบด้วยติดเชื้อแบคทีเรีย ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน ผู้ที่มีแผลในระบบทางเดินอาหาร เช่น แผลเปบติค
- ห้ามใช้กับผู้ที่ได้รับการผ่าตัดสมองภายใน 3 เดือนที่ผ่านมา ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อ ภาวะหลอดเลือดในสมองแตก ผู้ป่วยภาวะ/โรคความดันโลหิตสูงที่ยังไม่สามารถควบคุมอาการได้
อนึ่ง การจะเลือกใช้ยาตัวใดในกลุ่มยา tPA ในการรักษาอาการโรคของผู้ป่วยจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์เป็นประเด็นสำคัญ ผู้ป่วยต้องให้ความร่วมมือโดยมารับการรักษา/มาโรงพยาบาลตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
ทิชชู พลาสมิโนเจน แอคติเวเตอร์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาทิชชู พลาสมิโนเจน แอคติเวเตอร์ มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ในการบำบัดรักษาอาการของโรคที่มีสาเหตุจากลิ่มเลือดอุดตัน/อุดกั้นในหลอดเลือด เช่น
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย(Myocardial infarction)
- อาการลิ่มเลือดอุดกั้นหลอดเลือดปอด (Pulmonary embolism)
- ภาวะสมองขาดเลือด(Ischemic Stroke)
- ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดต่างๆ(Thromboembolic disorder)
ทิชชู พลาสมิโนเจน แอคติเวเตอร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาทิชชู พลาสมิโนเจน แอคติเวเตอร์ มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะกระตุ้นสารประเภทโปรตีนในกระแสเลือด/น้ำเลือด ที่มีชื่อเรียกว่า Plasminogen ทำให้เกิดการเปลี่ยนคุณสมบัติและโครงสร้างไปเป็นสาร Plasmin ซึ่งเป็นสารโปรตีนที่สามารถออกฤทธิ์ย่อยสลายลิ่มเลือดได้ ด้วยกลไกนี้เองจึงทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาได้ตามสรรพคุณ
ทิชชู พลาสมิโนเจน แอคติเวเตอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาทิชชู พลาสมิโนเจน แอคติเวเตอร์ มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาฉีดชนิดผงปราศจากเชื้อ ที่ประกอบด้วยตัวยาดังต่อไปนี้
- ยา Alteplase : มีขนาดบรรจุ 50 และ 100 มิลลิกรัม/ขวด(Vial)
- ยา Reteplase : มีขนาดบรรจุ 10 ยูนิต/ขวด(Vial)
- ยา Tenecteplase: มีขนาดบรรจุ 8,000 ยูนิต/ขวด(Vial)
ทิชชู พลาสมิโนเจน แอคติเวเตอร์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ขนาดการบริหารยา tPA จะมีความแตกต่างกันในแต่ละตัวยาย่อย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับโครงสร้างของตัวยาย่อยแต่ละรายการ/ตัวยาย่อย โดยแพทย์จะเป็นผู้บริหารยาดังกล่าวให้กับผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัยที่สุด
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยา tPA ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา และ/หรืออาหารเสริม อะไรอยู่ เพราะกลุ่มยาทิชชู พลาสมิโนเจน แอคติเวเตอร์/ tPA อาจส่งผลให้อาการของโรค เหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
ทิชชู พลาสมิโนเจน แอคติเวเตอร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาทิชชู พลาสมิโนเจน แอคติเวเตอร์ สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้อาเจียน อุจจาระดำ/อุจจาระเป็นเลือด เลือดออกตามเหงือก เลือดออกในทางเดินอาหาร ลิ้นและปากบวม
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีไข้
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เลือดออกตามผิวหนังเป็นจ้ำ/ห้อเลือด มีผื่นคัน ลมพิษ
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น อาจมีภาวะเลือดออกในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น อาจมีภาวะเลือดออกง่ายตามอวัยวะต่างๆ เกิดโลหิตจาง เกิดภาวะCholesterol embolization syndrome(ลิ่มไขมันอุดตันหลอดเลือด)
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หลอดลมหดเกร็งตัว/หายใจลำบาก
มีข้อควรระวังการใช้ทิชชู พลาสมิโนเจน แอคติเวเตอร์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาทิชชู พลาสมิโนเจน แอคติเวเตอร์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มนี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่อยู่ในภาวะตกเลือด หลอดเลือดแดงทำงานผิดปกติ เช่น หลอดเลือดแดงโป่งพอง ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงซึ่งยังไม่สามารถควบคุมอาการได้ ผู้ป่วยด้วยตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน ผู้ที่ติดเชื้อในบริเวณเยื่อหุ้มหัวใจ/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดมาเร็วๆนี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีบาดแผลหรือมีเลือดออกในอวัยวะต่างๆของร่างกาย
- ระวังการใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
- ไม่ใช้ยานี้ที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น สียาเปลี่ยนไป
- เฝ้าระวังสัญญาณชีพและอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดขณะที่ใช้ยานี้
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ไม่ใช้ยาหมดอายุ
- ไม่เก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยากลุ่มทิชชู พลาสมิโนเจน แอคติเวเตอร์ด้วย) ยาแผนโบราณอาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ทิชชู พลาสมิโนเจน แอคติเวเตอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาทิชชู พลาสมิโนเจน แอคติเวเตอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยา Alteplase ร่วมกับยา Abciximab , Argatroban(ยาต้านการสร้างลิ่มเลือด) ,Bivalirudin(ยาต้านการสร้างลิ่มเลือด), Warfarin , Heparin , Lepirudin (ยาต้านการแข็งตัวของเลือด) ด้วยจะทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่ายตามมา กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาReteplase ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด หรือ Heparin ด้วยการใช้ยาร่วมกันจะเสี่ยงต่อภาวะตกเลือดจนอาจเกิดอันตรายต่อผู้ป่วยอย่างรุนแรง
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาTenecteplase ร่วมกับ ยาEnoxaparin ด้วยการใช้ยาร่วมกัน จะเสี่ยงต่อภาวะตกเลือดจนอาจเกิดอันตรายต่อผู้ป่วยอย่างรุนแรง
ควรเก็บรักษาทิชชู พลาสมิโนเจน แอคติเวเตอร์อย่างไร
เก็บยาtPAตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ทิชชู พลาสมิโนเจน แอคติเวเตอร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาทิชชู พลาสมิโนเจน แอคติเวเตอร์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Actilyse (แอคทิลีส) | Boehringer Ingelheim |
Activase (แอคทิเวส) | Genentech, Inc. |
Retavase (เรทาเวส) | Cornerstone |
Metalyse (เมทาไลส์) | Boehringer Ingelheim |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นในยากลุ่มนี้ เช่น TNKase, TNK
บรรณานุกรม
- http://www.si.mahidol.ac.th/department/biochemistry/home/md/lecture/hemostasis.pdf [2017,Nov25]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/alteplase/?type=brief&mtype=generic [2017,Nov25]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/reteplase/?type=brief&mtype=generic [2017,Nov25]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/metalyse/?type=brief [2017,Nov25]
- http://www.medicines.org.au/files/bypactil.pdf [2017,Nov25]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Tenecteplase [2017,Nov25]
- https://www.gene.com/download/pdf/tnkase_prescribing.pdf [2017,Nov25]
- https://online.epocrates.com/u/1061620/Retavase/Pricing+Manufacturer [2017,Nov25]