ทิงเจอร์เมอไทโอเลต (Tincture merthiolate)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 11 สิงหาคม 2564
- Tweet
- บทนำ :คือยาอะไร?
- ทิงเจอร์เมอไทโอเลตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ทิงเจอร์เมอไทโอเลตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ทิงเจอร์เมอไทโอเลตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ทิงเจอร์เมอไทโอเลตมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
- ทิงเจอร์เมอไทโอเลตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ทิงเจอร์เมอไทโอเลตอย่างไร?
- ทิงเจอร์เมอไทโอเลตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาทิงเจอร์เมอไทโอเลตอย่างไร?
- ทิงเจอร์เมอไทโอเลตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- เชื้อรา โรคเชื้อรา (Fungal infection)
- ยาใช้ภายนอก (External Use drug)
- น้ำยาฆ่าเชื้อ หรือ สารระงับเชื้อ (Antiseptics)
บทนำ :คือยาอะไร?
ยาทิงเจอร์เมอไทโอเลต (Tincture merthiolate) เป็นชื่อการค้าของยาทาแผลภายนอกที่ใช้ต้านการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและของเชื้อรา(โรคเชื้อรา) โดยมีตัวยาสำคัญที่ชื่อว่า ‘ไทโอเมอซอล(Thiomersal) หรือไทเมอรอซอล (Thimerosal)’ ซึ่งเป็นสารอินทรีย์ที่มีสารปรอทเป็นองค์ประกอบอยู่ด้วย ทั้งนี้ เริ่มมีการใช้ยานี้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1927 (พ.ศ. 2470) โดยนักเคมีที่มีชื่อว่า Morris Kharasch (เป็นชาวรัสเซียที่ย้ายมาอยู่สหรัฐอเมริกา) และจัดจำหน่ายในเวลาต่อมาโดยบริษัทยาชื่อ Eli Lilly
ปัจจุบันตัวยาไทเมอรอซอลยังถูกนำไปผสมรวมกับผลิตภัณฑ์วัคซีนที่ฉีดกระตุ้นร่างกายเพื่อป้องกันโรคจากพวกเชื้อไวรัสอีกด้วย โดยใช้เพื่อป้องกันการเสื่อมของวัคซีนนั่นเอง
ยาทิงเจอร์เมอไทโอเลต จัดเป็นยาที่มีพิษชนิดหนึ่ง ห้ามสูดดมหรือรับประทาน หรือแม้แต่การใช้ยาทางผิวหนังก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้หากใช้เป็นเวลาติดต่อกันนานๆ นอกจากนี้ส่วนประกอบที่เป็นสารปรอทยังส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม จึงไม่ควรทิ้งยานี้ลงคูคลองตามธรรมชาติ
ยาทิงเจอร์เมอไทโอเลต มีจำหน่ายตามร้านขายยาโดยทั่วไป ผู้บริโภคสามารถขอคำแนะนำการใช้ยาได้จากแพทย์หรือเภสัชกรใกล้บ้าน/ร้านขายยา
ทิงเจอร์เมอไทโอเลตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาทิงเจอร์เมอไทโอเลตมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:
- ใช้ทาผิวหนังผู้ป่วยก่อนเข้ารับการผ่าตัด
- ใช้รักษาบาดแผลในขั้นตอนการปฐมพยาบาล
- ใช้ต่อต้านและยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา
ทิงเจอร์เมอไทโอเลตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของตัวยาไทเมอรอซอลในทิงเจอร์เมอไทโอเลต คือ ตัวยาจะยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและของเชื้อรา โดยตัวยาจะแตกตัวออกเป็นสารที่มีชื่อว่า Ethylmercury และ Thiosalicylate ซึ่งสารดังกล่าวเป็นตัวยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและของเชื้อรา
ทิงเจอร์เมอไทโอเลตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาทิงเจอร์เมอไทโอเลตมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาน้ำทาภายนอก (ยาใช้ภายนอก) ขนาดความเข้มข้น 0.1 กรัม/100 มิลลิลิตร
ทิงเจอร์เมอไทโอเลตมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาทิงเจอร์เมอไทโอเลตมีขนาดการบริหารยา/การใช้ยา เช่น
- ผู้ใหญ่: ทายาบางๆวันละ 1 - 3 ครั้งในบริเวณที่เป็นบาดแผลหรือใช้ตามแพทย์สั่ง
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): เนื่องจากยาทิงเจอร์เมอไทโอเลตมีสารปรอทเป็นส่วนประกอบ ดังนั้น
- การใช้ยานี้ในเด็กโตควรเป็นคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกร
- แต่การใช้ยาในเด็กเล็กโดยเฉพาะที่อายุต่ำกว่า 2 ปีควรแพทย์เป็นผู้สั่งใช้ยาเท่านั้น
*****หมายเหตุ: ขนาดยา/การใช้ยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาทิงเจอร์เมอไทโอเลต ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่น/หายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาทิงเจอร์เมอไทโอเลตอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
หากลืมทายาทิงเจอร์เมอไทโอเลต สามารถทายาเมื่อนึกขึ้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า
ทิงเจอร์เมอไทโอเลตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ส่วนประกอบในตัวยาทิงเจอร์เมอไทโอเลต เช่น แอลกอฮอล์ หรือ อะซีโตน และสารปรอท อาจทำให้
- รู้สึกระคายเคืองทางผิวหนัง
- ก่อให้เกิดอาการผื่นคัน
- การสูดดมยานี้อย่างต่อเนื่อง สามารถทำอันตรายต่อ ระบบประสาท, ระบบทางเดินอาหาร, ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายได้, ดังนั้นจึงควรใช้ยานี้เฉพาะเมื่อเป็นคำแนะนำจากแพทย์ และใช้ยาในระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น
มีข้อควรระวังการใช้ทิงเจอร์เมอไทโอเลตอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาทิงเจอร์เมอไทโอเลต เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน
- ห้ามรับประทาน สูดดม และไม่ให้เข้าตา ด้วยตัวยาเป็นพิษต่อร่างกาย
- ห้ามใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์
- ระวังการใช้ยานี้กับหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- หลีกเลี่ยงการใช้ยากับเด็กเล็กด้วยสารปรอทที่เป็นองค์ประกอบอาจส่งผลต่อสมองเด็กได้
- หลังทายานี้ควรผึ่งให้ยาแห้งก่อนที่จะปิดทับด้วยผ้าพันแผล
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาทิงเจอร์เมอไทโอเลตด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ทิงเจอร์เมอไทโอเลตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาทิงเจอร์เมอไทโอเลตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาไทเมอรอซอล/ทิงเจอร์เมอไทโอเลต ทาร่วมกับ ยาทาประเภทยูเรีย เช่น Urea cream จะทำให้ฤทธิ์ในการรักษาของยากลุ่มยูเรียลดน้อยลงไป จึงควรเลี่ยงการใช้ร่วมกัน
- การใช้ยาไทเมอรอซอล/ทิงเจอร์เมอไทโอเลต ทาร่วมกับ ยาทาภายนอกที่ช่วยขัด/ย่อยผิวหนังที่ตายแล้ว เช่น Collagenase topical จะทำให้ฤทธิ์ของการย่อย/ขัดผิวหนังด้อยประสิทธิภาพลงไป จึงควรเลี่ยงการใช้ร่วมกัน หรือไม่ก็ต้องใช้ตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด
ควรเก็บรักษาทิงเจอร์เมอไทโอเลตอย่างไร?
ควรเก็บยาทิงเจอร์เมอไทโอเลต:
- เก็บยาในอุณหภูมิห้องที่เย็น
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ทิงเจอร์เมอไทโอเลตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาทิงเจอร์เมอไทโอเลต มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Merthiolate (เมอไทโอเลต) | Apracure |
Pyrad Thimero Sahakarn (ไพเรด ไทเมอโร สหการ) | The United Drug (1996) |
Thimerosal Putchubun (ไทเมอรอซอล พุธชุบัน) | Putchubun Dispensary |
Thincture Merthiolate Srichand (ทิงเจอร์ เมอไทโอเลต ศรีจันทน์) | Srichand |
บรรณานุกรม
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/tincture%20merthiolate%20srichand [2021,Aug7]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/thimerosal-topical-index.html?filter=2&generic_only= [2021,Aug7]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Thiomersal [2021,Aug7]
- https://go.drugbank.com/drugs/DB11590 [2021,Aug7]
- http://www.robholland.com/Nursing/Drug_Guide/data/monographframes/T029.html [2021,Aug7]
- https://www.colorado.gov/pacific/sites/default/files/HHW_Mercury_Hg-and-Health-FS.pdf [2021,Aug7]