ทำงานออนไลน์ ทำตาอ่อนล้า (ตอนที่ 1)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 2 ตุลาคม 2564
- Tweet
นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้มีความจำเป็นต้องทำงานแบบ Work from Home มีผลให้ชีวิตส่วนตัว และงานถูกรวมเข้าด้วยกัน จนอาจทำให้ต้องเผชิญกับปัญหาทำงานเกินเวลา โดยอาจจะใช้เวลาเกือบทั้งวันจ้องแต่หน้าจอคอมพิวเตอร์ รวมไปถึงแท็บเล็ต และสมาร์ทโฟนทำให้ต้องใช้สายตาในการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน จึงอาจเป็นปัญหาต่อดวงตาที่พบจากการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ ได้แก่ ปวดศีรษะ ปวดตา ตาแห้ง เคืองตา ตามัว หากเกิดอาการเหล่านี้ ควรพบจักษุแพทย์
นายแพทย์เกรียงไกร นามไธสง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กล่าวเพิ่มว่า ในสถานการณ์ที่ต้อง Work from home ทำงานอยู่บ้าน ปัจจุบัน คอมพิวเตอร์ แทบเล็ท สมาร์ตโฟน เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น เชื่อว่าหลายคนอาจเคยประสบปัญหาในอาการเหล่านี้ เช่น ทำให้ปวดเมื่อยตา ตาแห้ง ตาล้า แสบตา เคืองตา ตาพร่ามัว โฟกัสได้ช้าลง ตาสู้แสงไม่ได้ ปวดกระบอกตา ปวดศีรษะ หรือบางครั้งมีอาการปวดหลัง ปวดไหล่ หรือปวดต้นคอร่วมด้วย และส่งผลต่อการนอนหลับได้ หากมีอาการที่กล่าวข้างต้น ร่วมกับการใช้งานคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานานในแต่ละวัน อาจบ่งบอกว่าอาจอยู่ในกลุ่มอาการที่เรียกว่า computer vision syndrome แม้ว่ากลุ่มอาการนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อดวงตาหรือการมองเห็น แต่มักก่อให้เกิดความไม่สบายตา และอาจเป็นปัญหารบกวนการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวันได้
แพทย์หญิงกนกทิพย์ มันตโชติ นายแพทย์ชำนาญการ กล่าวเสริมว่า ภาวะ computer vision syndrome คือกลุ่มอาการทางตา ที่เกิดจากการใช้สายตากับคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน โดยจะมีอาการดังกล่าวข้างต้น มีการศึกษาพบว่าประมาณร้อยละ 90 ของผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ต่อเนื่องมากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน มักเคยประสบกับกลุ่มอาการนี้ ทั้งนี้อาจเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น การกระพริบตาลดลงขณะใช้คอมพิวเตอร์ทำให้ตาแห้ง แสงสว่างภายในห้องไม่เหมาะสม รวมทั้งการมีแสงสะท้อนจากจอคอมพิวเตอร์ และการที่ตัวอักษรบนจอคอมพิวเตอร์ไม่คมชัดจึงทำให้ต้องใช้ความพยายามในการโฟกัสมากขึ้นจึงก่อให้เกิดอาการตาเมื่อยล้าได้ และระยะห่างจากหน้าจอที่ไม่เหมาะสม รวมถึงระดับสายตาในการมองจอคอมพิวเตอร์ และท่าทางในการนั่งที่ไม่เหมาะสม
ภาวะ computer vision syndrome (CVS / digital eye strain) เป็นลักษณะอาการของกลุ่มปัญหาทางตาที่เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์ จอดิจิทัล แท็บเล็ต หรือสมาร์ทโฟนเป็นระยะเวลานาน โดยอาการจะยิ่งมากขึ้นหากมีระยะเวลาการใช้สายตาที่มากขึ้น ทั้งนี้มีงานวิจัยที่ระบุว่าร้อยละ 50-90 ของผู้ที่ใช้จอเหล่านั้นจะมีภาวะ CVS
โดยปกติทั่วไปคนเราจะมีการกระพริบตาประมาณ 15-20 ครั้งต่อนาที เพื่อให้น้ำตากระจายไปทั่วตาทำให้ตาไม่แห้งและคัน แต่นักวิจัยพบว่ากรณีที่มีการอ่านหนังสือ ดูหรือเล่นหน้าจอคอมพิวเตอร์ คนทั่วไปจะมีการกระพริบตาน้อยกว่าปกติ นอกจากนี้ตัวหนังสือหน้าจอคอมพิวเตอร์จะจ้าและไม่คมชัดเท่ากับตัวหนังสือที่พิมพ์บนกระดาษ ดังนั้นการอ่านหรือดูจากหน้าจอ จะทำให้ตามีการเพ่งมากกว่าการอ่านจากหนังสือ
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะ CVS
- หน้าจอไม่ชัด
- เนื้อความและพื้นหลังไม่แตกต่างกัน
แหล่งข้อมูล:
- ภาวะ Computer Vision Syndrome ช่วง Work From Home http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9570000128793 [2021, September 25].
- Computer Vision Syndrome. https://www.aoa.org/healthy-eyes/eye-and-vision-conditions/computer-vision-syndrome?sso=y [2021, September 25].
- What to know about computer vision syndrome. https://www.medicalnewstoday.com/articles/computer-vision-syndrome [2021, September 25].
- What Is Computer Vision Syndrome? https://www.webmd.com/eye-health/computer-vision-syndrome [2021, September 25].