ทาม็อกซิเฟน (Tamoxifen)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: นิยามโรคมะเร็ง และยาทาม็อกซิเฟนคือยาอะไร?

นิยามโรคมะเร็งเต้านม:

มะเร็งเต้านม: เกิดจากเนื้อเยื่อของเต้านมมีการแบ่งตัวเพิ่มปริมาณของเซลล์ที่ผิดปกติ/เซลล์มะเร็งเต้านม โดยการแบ่งตัวของเซลล์ผิดปกติเหล่านั้นจะทำลายเซลล์ปกติของเต้านมและของร่างกาย และสามารถอาศัยการหมุนเวียนของเลือดนำพาเอาเซลล์มะเร็งเต้านมแพร่กระจายไปเจริญเติบโตเป็นก้อนมะเร็งก้อนใหม่ที่อวัยวะอื่นๆนอกเหนือจากเต้านมได้เช่น ปอด กระดูก ตับ สมอง

โดยปกติแล้ว การเจริญเติบโตและการทำงานของเต้านมขึ้นอยู่กับฮอร์โมนเพศภายในร่าง กาย ดังนั้นการเจริญเติบโตของมะเร็งเต้านมจึงมีส่วนขึ้นอยู่กับฮอร์โมนเพศเช่นกัน โดยมะเร็งเต้านมจะเติบโตขึ้นเมื่อได้รับการกระตุ้นจากฮอร์โมนเพศหญิง การลดปริมาณฮอร์โมนเพศหญิงในร่างกายลงหรือการขัดขวางการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนเพศหญิงในร่างกายที่จะไปกระตุ้นเซลล์มะ เร็งเต้านมจึงเป็นวิธีหนึ่งที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งเต้านม อย่างไรก็ตามผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่สามารถรับการรักษาทางด้านฮอร์โมนได้ต้องเป็นผู้ที่ผลตรวจชิ้นเนื้อมะเร็งพบเซลล์ที่มีตัวรับ ฮอร์โมน (Hormone receptor) ของฮอร์โมนเพศหญิงนี้อยู่ได้แก่ ตัวรับของเอสโตรเจน (Estrogen receptor ย่อว่า ER) และตัวรับของโพรเจสเทอโรน (Progesterone receptor ย่อว่า PR)

ทาม็อกซิเฟนคือยาอะไร?

ยาทาม็อกซิเฟน (Tamoxifen) คือ ยาที่มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศหญิงคือ เอสโตรเจน (Estrogen) แต่ในขณะเดียวกันก็มีฤทธิ์ต้านฮอร์โมนเอสโตรเจน(Antiestrogenic)โดยขึ้นอยู่กับอวัยวะหรือเซลล์เป้าหมายที่ยาไปออกฤทธิ์ ได้แก่

  • บริเวณกระดูกและมดลูก ยาทาม็อกซิเฟนมีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน
  • แต่สำหรับเต้านม ยาทาม็อกซิเฟนมีฤทธิ์ต้านฮอร์โมนเอสโตรเจน

ยาทาม็อกซิเฟน ถูกใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบันเพื่อรักษามะเร็งเต้านม ทั้งนี้สามารถใช้ยานี้ได้ทั้งในสตรีวัยเจริญพันธุ์และสตรีวัยหมดประจำเดือน โดยสามารถใช้ได้ในการลดการกลับเป็นซ้ำของมะเร็งเต้านมภาย หลังการรักษาด้วยวิธีอื่นเช่น การผ่าตัด ยาเคมีบำบัด รังสีรักษา-ฉายรังสี-ใส่แร่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการใช้ยานี้ก่อนผ่าตัดเพื่อลดขนาดของก้อนมะเร็งเต้านมลง จนเหลือขนาดที่แพทย์สามารถผ่าตัดก้อนเนื้อออกได้ (มักใช้ในผู้สูงอายุที่ร่างกายไม่สามารถรับยาเคมีบำบัดได้), หรือใช้ป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านม ในสตรีที่มีความเสี่ยง/ปัจจัยเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บท ความเรื่อง มะเร็งเต้านม)

ยาทาม็อกซิเฟนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ทาม็อกซิเฟน

ยาทาม็อกซิเฟนมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • ใช้รักษาโรคมะเร็งเต้านมชนิดแพร่กระจาย (Metastatic breast cancer: มะเร็งระยะที่ 4) ทั้งในเพศหญิงและในเพศชาย
  • ใช้รักษาร่วมกับการรักษาหลักของโรคมะเร็งเต้านม ได้แก่ ร่วมกับการผ่าตัด และ/หรือ ยาเคมีบำบัด และ/หรือ รังสีรักษา-ฉายรังสี-ใส่แร่
  • ใช้เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดเป็นมะเร็งเต้านมในกรณีเป็นมะเร็งเต้านมระยะศูนย์(Ductal carcinoma in situ, ดีซีไอเอส/DCIS/ มะเร็งระยะศูนย์)หลังการผ่าตัด และ/หรือ รังสีรักษา(รังสีรักษา-ฉายรังสี-ใส่แร่)
  • ใช้เพื่อลดโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมในสตรีที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งเต้านม (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง มะเร็งเต้านม)

นอกจากนี้ยังมีการใช้ยานี้นอกเหนือจากข้อบ่งชี้ที่ระบุไว้ในฉลากยา (Unlabeled/ investigational use) โดยเป็นข้อมูลการรักษาที่ได้จากการศึกษาทางการแพทย์ เช่น

  • ใช้ในการรักษาอาการปวด/เจ็บเต้านม (Mastalgia หรือ Breast pain)
  • ภาวะนมแตกพาน หรือภาวะผู้ชายมีนม (Gynecomastia) เนื่องจากร่างกายมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่สูงกว่าปกติ
  • บางระยะของโรคมะเร็งชนิดอื่นๆนอกเหนือจากมะเร็งเต้านม เช่น มะเร็งรังไข่ (Ovarian cancer), มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial cancer)
  • ใช้ทางสูตินรีเวชเพื่อเหนี่ยวนำการตกไข่ในหญิงที่มีภาวะมีบุตรยาก (Induction of ovula tion)
  • ใช้รักษาภาวการณ์เป็นหนุ่มสาวก่อนวัย/ภาวะเจริญก่อนวัย (Precocious puberty)

ยาทาม็อกซิเฟนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาทาม็อกซิเฟนมีกลไกการออกฤทธิ์โดยการแย่งจับกับตัวรับ(Receptor)ของฮอร์โมนเอสโตรเจน(Estrogen receptor) ของเซลล์มะเร็งเต้านมอย่างเฉพาะเจาะจงที่เรียกว่า Selective Estrogen Receptor Modulators; SERMs ส่งผลให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มีอยู่ในร่างกายไม่มีโอกาสกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งที่มีตัวรับนั้นเติบโตได้ หรือหากจะเติบโตได้ก็จะมีการเติบโตที่ช้ากว่าปกติ

ยาทาม็อกซิเฟนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

รูปแบบทางเภสัชภัณฑ์/รูปแบบการจัดจำหน่ายของยาทาม็อกซิเฟน:

  • ยาเม็ดสำหรับรับประทาน ขนาด 10, 15, 20 และ 30 มิลลิกรัม โดยเป็นยาเม็ด (Tablet) หรือยาเม็ดเคลือบ (Film-coat tablet)

ทั้งนี้ เนื่องจากยานี้มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมน จึงควรหลีกเลี่ยง การหัก แบ่ง บด เคี้ยว หรือทำให้เม็ดยาแตก หากมีความจำเป็นต้องให้ยาผ่านทางสายให้อาหาร (Enteral tube feeding) สามารถบดยาได้แต่ต้องให้ยาทันทีหลังบดยา เนื่องจากยาทั้งสองรูปแบบอยู่ในรูปแบบที่ปลด ปล่อยตัวยาทันที (Immediate release) แต่ผู้ที่เตรียมหรือป้อนยาให้แก่ผู้ป่วยจะต้องสวมถุงมือรวมทั้งผูกผ้าปิดจมูกและปาก (หน้ากากอนามัย) และควรต้องบดเม็ดยาในภาชนะที่ปิดสนิท

ยาทาม็อกซิเฟนมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?

ยาทาม็อกซิเฟนมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยา เช่น

ก. การรักษาโรคมะเร็งเต้านม: (ในผู้ที่ได้รับการรักษาทั้งการรับประทานยาทาม็อกซิเฟนและการรับยาเคมีบำบัด ควรได้รับยาทาม็อกซิเฟนหลังจากการรักษาด้วยเคมีบำบัดเสร็จสิ้นแล้ว)

  • การรักษาร่วมกับวิธีรักษาอื่น (Adjuvant treatment): รับประทานครั้งละ 20 มิลลิกรัม(มก.) วันละ1ครั้งต่อเนื่องกันเป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี ปัจจุบันในผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจแนะนำการใช้ยานี้นานมากกว่า 5 ปี อาจนานถึง 10 ปีทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ในผู้ป่วยแต่ละกรณี
  • การรักษามะเร็งเต้านมชนิดแพร่กระจาย (Metastatic breast cancer) ในเพศหญิงและชาย: รับประทาน 20 - 40 มิลลิกรัมต่อวัน กรณีขนาดยามากกว่าวันละ 20 มก. ให้แบ่งการรับ ประทานยาเป็น 2 ครั้งคือ เช้าและเย็น
  • การรักษามะเร็งเต้านมก่อนการผ่าตัดหรือรังสีรักษาในผู้ป่วยหญิงวัยหมดประจำเดือน: รับประทานครั้งละ 20 มิลลิกรัมวันละครั้งต่อเนื่องกันเป็นเวลา 3 - 6 เดือน (หรือตามดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา) ก่อนการผ่าตัด

ข. การป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านมในมะเร็งเต้านมระยะศูนย์: รับประทานครั้งละ 20 มิลลิกรัมวันละครั้งต่อเนื่องกันเป็นเวลา 5 ปี

ค. การป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านมในสตรีที่มีปัจจัยเสี่ยงสูง: รับประทานครั้งละ 20 มิลลิกรัมวันละครั้งต่อเนื่องกันเป็นเวลา 5 ปี

ง. การเหนี่ยวนำการตกไข่ในหญิงที่มีภาวะมีบุตรยาก(เป็นการใช้ยานอกเหนือ จากข้อบ่งชี้ที่ระบุไว้ในฉลากยา): รับประทานครั้งละ 20 มิลลิกรัมวันละครั้ง (หรือแพทย์อาจปรับ ขนาดได้ระหว่าง 20 - 80 มิลลิกรัม) ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 5 วัน

จ. ขนาดยาในผู้ป่วยไตหรือตับบกพร่อง: ไม่มีข้อมูลการปรับขนาดยาในผู้ป่วยที่การทำงานของไตหรือตับบกพร่อง

ฉ. ขนาดยาสำหรับหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร: ไม่ควรใช้ยาทาม็อกซิเฟนในหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากการศึกษาในสัตว์ทดลองและในหญิงตั้งครรภ์พบว่า ยานี้อาจก่อให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อน หากมีความจำเป็นต้องใช้ยานี้แพทย์จะพิจารณาถึงประโยชน์ที่จะได้รับ นอกจากนี้ควรต้องหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์ในขณะรับประทานยาทาม็อกซิเฟนและหลังจากหยุดรับประทานยานี้อย่างน้อยเป็นเวลาประมาณ 2 เดือน

ช. ไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ในหญิงให้นมบุตร: เนื่องจากข้อมูลการศึกษายังไม่เพียงพอสำหรับยืนยันการผ่านของยาไปยังน้ำนมว่า เกิดขึ้นได้หรือไม่และมากน้อยอย่างไร

*****หมายเหตุ:

  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
  • สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ แต่เนื่องจากเป็นยาฮอร์โมน ประสิทธิ ภาพของยาจะสูงขึ้นถ้ากินยาในช่วงระยะเวลาเดียวกันในแต่ละทุกๆวัน เช่น ช่วงเช้าของทุกๆวัน เป็นต้น

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาทาม็อกซิเฟน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น ขึ้นผื่น คลื่นไส้อาเจียน แน่นหน้าอก/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังรับประทานยาหรือมีการใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาทาม็อกซิเฟนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
  • ในกรณีที่ยาทาม็อกซิเฟนถูกใช้เพื่อลดอัตราการเกิดมะเร็งเต้านม ควรแจ้งแพทย์หรือเภสัช กรหากท่านกำลังรับประทานยาวาฟาริน (Warfarin) ซึ่งเป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือด หรือมีประวัติการมีภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ (Venous thrombosis)
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาอาจสามารถ ผ่านทางน้ำนมหรือรกแล้วเข้าสู่ตัวทารก จนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ หรือควรแจ้งหากมีรอบประจำเดือนผิดปกติ

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

สำหรับยาทาม็อกซิเฟน อาหารไม่มีผลต่อการดูดซึมยา ดังนั้นการเลือกช่วงเวลาในการรับประทานยาไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงมื้ออาหาร สามารถรับประทานยาก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยานี้พร้อมกับส้มและเกรปฟรุต (Grapefruit) เพราะอาจมีผลลดการดูดซึมยานี้ได้

กรณีลืมรับประทานยาทาม็อกซิเฟน ให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทานยามื้อถัดไป ให้รับประทานยามื้อถัดไปเลย ไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า จาก นั้นรับประทานยามื้อถัดไปในขนาดยาปกติ ห้ามหยุดรับประทานยาเองโดยไม่ได้รับคำสั่งจากแพทย์ผู้รักษา

ยาทาม็อกซิเฟนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง) ของยาทาม็อกซิเฟนที่พบบ่อย เช่น

  • คลื่นไส้อา-เจียน
  • ขึ้นผื่นผิวหนัง
  • ร้อนวูบวาบ
  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ (กรณียังมีประจำเดือนอยู่)
  • มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด (กรณีอยู่ในวัยหมดประจำเดือน)
  • ความดันโลหิตสูง
  • อาการปลายมือ ปลายเท้าบวม (Peripheral edema)
  • ภาวะบวมน้ำ (Fluid retention)
  • อารมณ์แปรปรวน

อนึ่ง: อาการดังกล่าวเหล่านี้จะดีขึ้นเมื่อรับประทานยาต่อไปสักระยะหนึ่งและร่างกายสามารถปรับสภาพได้แล้ว

นอกจากนี้ :

  • อาการไม่พึงประสงค์ของยาทาม็อกซิเฟนที่รุนแรง ‘แต่พบเกิดน้อยมาก’ เช่น
    • อาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke: อัมพาต)
    • ภาวะมีลิ่มเลือดในปอด หรือ สิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด (Pulmonary embolism)
    • มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก โดยเฉพาะในสตรีที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป แต่พบในอุบัติการณ์ที่ต่ำมาก
  • อาการอื่นๆที่สามารถพบได้ในบางผู้ป่วย เช่น
    • นอนไม่หลับ (Insomnia)
    • เวียนศีรษะ (Dizziness)
    • ปวดหัว
    • ปวดท้อง

มีข้อควรระวังการใช้ยาทาม็อกซิเฟนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาทาม็อกซิเฟน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยาหรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ไม่ควรใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์นอกจากจำเป็นจริงๆเท่านั้น และไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ในหญิงให้นมบุตร
  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีประวัติการเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่อวัยวะต่างๆ (Thrombolic events) เช่น เส้นเลือดสมองตีบ เส้นเลือดแดงที่ขาอุดตัน เป็นต้น
  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีภาวะ/โรคไขมันในเลือดสูง (Hyperlipidemia) ควรติดตามการเปลี่ยนแปลงระดับคอเลสเตอรอลระหว่างการใช้ยานี้ตามแพทย์แนะนำ
  • ควรติดตามภาวะความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ( ซีบีซี / CBC: Complete blood count), ระดับแคลเซียมในเลือด, ภาวะการทำงานของตับ, รวมทั้งสังเกตภาวะเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด, ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด
  • ควรปรึกษาแพทย์เมื่อสายตามีการมองเห็นเปลี่ยนไป หรือมีสัญญาณบ่งบอกว่าตับมีปัญหา เช่น ตัวเหลือง, มีสารคัดหลั่งที่ผิดปกติออกจากช่องคลอด เป็นต้น
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง:

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาทาม็อกซิเฟนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาทาม็อกซิเฟนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ปฏิกิริยาระหว่างยาของยาทาม็อกซิเฟนกับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาทาม็อกซิเฟน ร่วมกับ ยาต้านการแข็งตัวของเลือดบางชนิด เช่นยา Dabigatran (ดาบิกาแทรน), Rivaroxaban (ไรวาร็อกซาแบน) และ Warfarin (วาร์ฟาริน) สามารถทำให้ระดับยาในเลือดของยาต้านการแข็งตัวของเลือดเพิ่มขึ้นและก่อให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย
  • การใช้ยาทาม็อกซิเฟน ร่วมกับ ยาที่ใช้เพื่อรักษาและบรรเทาอาการเจ็บปวดและบวมบริเวณข้อในผู้ป่วยโรคเกาต์ เช่นยา Colchicine (โคลชิซีน) สามารถทำให้ระดับยาโคลชิซีนในเลือดเพิ่มขึ้น จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงเพิ่มขึ้น เช่น คลื่นไส้-อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย
  • การใช้ยาทาม็อกซิเฟน ร่วมกับ ยารักษาโรคมะเร็งเต้านมชนิดอื่นๆอาจลดประสิทธิผลในการรักษาของยานั้นๆ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการกลับเป็นซ้ำของโรคมะเร็งเต้านมได้ เช่นยา Anastrozole (อะแนสโทรโซล), Letrozole (เลโทรโซล)
  • การใช้ยาทาม็อกซิเฟน ร่วมกับ ยาต้านเอชไอวี/ยาต้านรีโทรไวรัส เช่นยา Darunavir (ดารูนาเวียร์) และยารักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) เช่นยา Dasatinib (ดาสาตินิบ) อาจทำให้ระดับยาทาม็อกซิเฟนในกระแสเลือดเพิ่มขึ้นและก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงได้
  • ไม่ควรใช้ยานี้ ร่วมกับ ยาต้านเชื้อรา เช่นยา Fluconazole (ฟลูโคนาโซล), ยาวัณโรค (เช่นยา Isoniazid/ไอโซไนอะซิด), ยาปฏิชีวนะ (เช่นยา Clarithromycin/คลาริโธรมัยซิน, Erythro mycin/อิริโทรมัยซิน) และยาลดไขมัน (เช่นยา Gemfibrozil/เจมไฟโบรซิล) เนื่องจากอาจทำให้ฤทธิ์ของยาทาม็อกซิเฟนเพิ่มขึ้นและก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงได้
  • การใช้ทาม็อกซิเฟน ร่วมกับ ยาต้านเศร้ากลุ่มที่ออกฤทธิ์เพิ่มสารเคมีชื่อ เซโรโทนิน (Selective serotonin reuptake inhibitor: SSRI, เช่นยา Fluoxetine/ฟลูออกซิทีน, Paroxe tine/พาร็อกซีทีน, Sertraline/เซอร์ทราลีน, Venlafaxine/วนลาแฟ็กซีน, Citralopram/ไซตาโลแพรม) อาจทำให้ระดับยาทาม็อกซิเฟนในกระแสเลือดลดลงส่งผลให้ประสิทธิภาพของการรักษามะเร็งเต้านมลดลง
  • ไม่ควรใช้ยานี้ ร่วมกับ ยาต้านชัก (เช่นยา Carbamazepine/คาร์บามาซีปีน, Phenytoin /ฟีนัยโตอิน), ยาวัณโรค (เช่นยา Rifampin/ไรแฟมพิซิน) เนื่องจากอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพของการรักษามะเร็งเต้านมลดลง

ควรเก็บรักษายาทาม็อกซิเฟนอย่างไร?

ควรเก็บยาทาม็อกซิเฟน:

  • เก็บยาที่อุณหภูมิห้อง
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่เก็บยาในที่ร้อนหรือในที่ชื้น
  • ควรเก็บยาในภาชนะปิดสนิทและป้องกันแสง เช่น เก็บในขวดหรือในซองสีชา
  • เก็บยาให้พ้นแสงแดด
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ยาทาม็อกซิเฟนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทใดบ้าง?

ยาทาม็อกซิเฟน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อทางการค้า รูปแบบและขนาด บริษัทผู้ผลิต
Novofen (โนโวเฟน) ยาเม็ดขนาด 15, 20 มิลลิกรัม ฟาร์มาแลนด์ (1982) จำกัด
Tamoxifen Citrate (ทาม็อกซิเฟนซิเตรท), Tamodex 20 (ทาโมเด๊ก 20) ยาเม็ดขนาด 10, 20 มิลลิกรัม ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภิญโญฟาร์มาซี
Zitazoniu (ซิตาโซเนียม) ยาเม็ดขนาด 10, 30 มิลลิกรัม เมดไลน์ จำกัด
Nolvadex - D (นอลวาเด็กซ์ – ดี) ยาเม็ดขนาด 20 มิลลิกรัม แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด
Mamofen (มาโมเฟน) ยาเม็ดขนาด 10, 20 มิลลิกรัม มาสุ จำกัด
Onkofen (ออนโคเฟน) ยาเม็ดขนาด 10, 20 มิลลิกรัม ห้างหุ้นส่วนจำกัด จีไอเอส ฟาร์มา
Tamoxifen Sandoz (ทาม็อกซิเฟน แซนดอซ) ยาเม็ดขนาด 20 มิลลิกรัม โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด

บรรณานุกรม

  1. Dipiro JT, Talbert RL, Yee GC, Matzke GR , Wells BG, Posey LM. Pharmacotherap : a pathophysiologic approach. 8th edition.McGraw-Hill ; 2011.
  2. Charles F. Lacy , Lora L. Armstrong , Morton P. Goldman , et al. Drug Information Handbook International.23thed. Lexi–Comp Inc,Ohio ,USA.
  3. Product Information: Tamoxifen Sandoz®, Novartis.
  4. TIMS (Thailand). MIMS. 130th ed. Bangkok: UBM Medica ;2013.