ยาป้องกันเอดส์ ทรูวาดา (Truvada)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 10 เมษายน 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ยาทรูวาดามีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ยาทรูวาดามีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาทรูวาดามีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาทรูวาดามีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาทรูวาดามีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาทรูวาดาอย่างไร?
- ยาทรูวาดามีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาทรูวาดาอย่างไร?
- ยาทรูวาดามีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เอดส์(AIDS)
- เอชไอวี(HIV: HIV infection)
- ทีโนโฟเวียร์ (Tenofovir)
- เอ็มตริไซตาบีน (Emtricitabine)
- ถุงยางอนามัยชาย(Male Condom)
- ยาต้านเอชไอวี ยาสูตรฮาร์ท (HAART: Highly Active Antiretroviral Therapy)
- ยาต้านไวรัส (Antiviral drugs)
บทนำ: คือยาอะไร?
ทรูวาดา (Truvada) คือ ยาต้านไวรัสที่ประกอบไปด้วยตัวยา 2 ชนิดได้แก่ ทีโนโฟเวีย(Tenofovir) และ เอมทริไซตาไบน์ (Emtricitabine) ซึ่งยาทั้งสองต่างสนับสนุนการรักษาโรคเอดส์ซึ่งกันและกัน ปัจจุบันมีการศึกษาและพัฒนาในการใช้ทรูวาดาในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีกับผู้ที่มีความเสี่ยงและได้ผลในระดับหนึ่ง
ยาทรูวาดามีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ทรูวาดา มีข้อบ่งใช้:
- ใช้เป็นยาต้านเอชไอวี (HIV) ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ภูมิคุ้มกันฯของร่างกายบกพร่องหรือเรียกว่า โรคเอดส์ (AIDS, Acquired Immunodeficiency syndrome)
ยาทรูวาดามีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาทรูวาดา จะออกฤทธิ์ยับยั้งขบวนการพัฒนาโครงสร้างในตัวไวรัสเอชไอวี ทำให้การ กระจายตัวของไวรัสในร่างกายลดลง จึงช่วยให้ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายกลับมาทำหน้าที่ และส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น
ยาทรูวาดามีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาทรูวาดามีรูปลักษณะเป็นยาเม็ดเคลือบฟิล์มสีฟ้า มีรูปแบบการจัดจำหน่ายที่ประกอบ ด้วยตัวยาทีโนโฟเวีย 300 มิลลิกรัมและตัวยาเอ็มทริไซตาไบน์ 200 มิลลิกรัม บรรจุขวดขนาด 30 เม็ด
ยาทรูวาดามีขนาดรับประทานอย่างไร?
ขนาดรับประทานปกติของยาทรูวาดาคือ วันละ 1 เม็ด แต่สำหรับผู้ป่วยบางรายที่มีการทำ งานของไตผิดปกติอาจต้องปรับขนาดยา ดังนั้นการสั่งจ่ายยาจึงเป็นหน้าที่ของแพทย์ผู้ที่ทำการตรวจรักษาจะเป็นผู้พิจารณาเรื่องขนาดรับประทานรวมไปถึงระยะเวลาในการใช้ยา
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาทรูวาดา ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด รวมทั้งอาการที่เกิดจากการแพ้ยา เช่น กินยา/ใช้ยา แล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาทรูวาดาอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือไม่หรือกำลังให้นมบุตรหรือไม่ เพราะมียาหลายตัวสามารถผ่านรก หรือผ่านเข้าสู่น้ำนม และเข้าสู่ทารก และก่อผลข้างเคียงต่อทารกได้
หากลืมรับประทานยาทรูวาดาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาทรูวาดา สามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ โดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาทรูวาดามีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาทรูวาดาสามารถก่อให้เกิดผล/อาการที่ไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) เช่น
- เกิดภาวะเกลือ ฟอสฟอรัส/ฟอสเฟต(Phosphate)ในเลือดต่ำ (อาการเช่น สับสน กล้ามเนื้ออ่อนแรง)
- ภาวะกรดแลคติก (Lactic acid) เพิ่มสูงในกระแสเลือด อาการเช่น คลื่นไส้อาเจียน ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว
- หายใจลำบาก
- ปวดท้อง
- มีภาวะน้ำย่อยอะไมเลส (Amylase, น้ำย่อยที่มักสูงขึ้นในภาวะตับอ่อนอักเสบ) เพิ่มขึ้น
- ภาวะตับอ่อนอักเสบ
- ภาวะตับอักเสบ
- ผื่นคัน
- มีอาการปวดกล้ามเนื้อ
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- กระดูกพรุน
- ไตและท่อปัสสาวะทำงานผิดปกติ
มีข้อควรระวังการใช้ยาทรูวาดาอย่างไร?
ข้อควรระวังในการใช้ยาทรูวาดา เช่น
- ระวังการใช้กับผู้ที่แพ้ยาทรูวาดา
- ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาทรูวาดา) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาทรูวาดามีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาทรูวาดามีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การรับประทานยาทรูวาดา ร่วมกับยาต้านเอชไอวีตัวอื่นอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากยาต้านเอชไอวีมากขึ้น หรือในทางกลับกันอาจเพิ่มผลข้างเคียงจากยาทรูวาดามากขึ้น ยาต้านเอชไอวีตัวอื่นๆ เช่น ไดดาโนซีน Didanosine) และ อะทาซานาเวีย (Atazanavir)
ควรเก็บรักษายาทรูวาดาอย่างไร?
ควรเก็บรักษายาทรูวาดา:
- เก็บรักษายาทรูวาดาในที่แห้ง ระวังความชื้น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด ในที่ที่พ้นแสง/แสงแดด อุณหภูมิไม่ควรเกิน 25oC (องศาเซลเซียส/Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำ หรือในรถยนต์
ยาทรูวาดามีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ชื่อการค้า และ บริษัทผู้ผลิตยาทรูวาดา เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Truvada (ทรูวาดา) | Gilead Sciences |
บรรณานุกรม
- http://ndi.fda.moph.go.th/drug_detail/index/?ndrug=1&rctype=2C&rcno=6215146&lpvncd=14&lcntpcd=%E0%B8%99%E0%B8%A21&lcnno=2700006&licensee_no=%E0%B8%88.6/2527 [2022,April9]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/tenofovir%20%2B%20emtricitabine/ [2022,April9]
- http://en.wikipedia.org/wiki/Tenofovir/emtricitabine [2022,April9]
- https://www.cdc.gov/hiv/pdf/prep_gl_patient_factsheet_truvada_english.pdf [2022,April9]