ทริปแทน (Triptans)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 29 กรกฎาคม 2558
- Tweet
- บทนำ
- ทริปแทนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ทริปแทนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ทริปแทนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ทริปแทนมีขนาดรับประทานและการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- ทริปแทนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ทริปแทนอย่างไร?
- ทริปแทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาทริปแทนอย่างไร?
- ทริปแทนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ไมเกรน (Migraine)
- โรคปวดศีรษะคลัสเตอร์ (Cluster Headache)
- ปวดหัว ปวดศีรษะ (Headache)
- เอสเอสอาร์ไอ (Selective serotonin reuptake inhibitors: SSRIs)
บทนำ
ทริปแทน (Triptans หรือ Serotonin receptor agonists หรือ 5HT receptor agonist หรือ 5 hydroxytryptamine receptor agonist หรือ 5HT agonist) เป็นกลุ่มยาที่นำมาใช้รักษา อาการปวดศีรษะไมเกรนและปวดศีรษะคลัสเตอร์ มีการนำมาใช้ทางคลินิกอย่างเป็นทางการตั้ง แต่ปี ค.ศ. 1990 (พ.ศ. 2533)
กลุ่มยาทริปแทนไม่สามารถใช้เป็นยาป้องกันหรือยารักษาอาการปวดศีรษะไมเกรน ปวดศีรษะคลัสเตอร์ให้หายขาดได้ แต่จะเป็นการบำบัดบรรเทาอาการขณะปวดเสียมากกว่า
กลุ่มยาทริปแทนมีอยู่หลายรายการ และมีความแตกต่างในด้านฤทธิ์การรักษา ขนาดรับประทาน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับโครงสร้างทางเคมีที่จะเข้าทำปฏิกิริยากับตัวรับ (receptor) ของยาในสมองของผู้ป่วย โดยอาจจำแนกเป็นตัวยาย่อยๆดังนี้
- Sumatriptan: ชื่อการค้า Imitrex, Imigran จำหน่ายในลักษณะยาเม็ดชนิดรับประทาน ยาฉีด ยาพ่นจมูก การดูดซึมยานี้จากทางเดินอาหารเพียงประมาณ 15% และมีการขับออกจากร่างกายโดยทางปัสสาวะและอุจจาระ
- Rizatriptan: ชื่อการค้า Maxalt เป็นยาชนิดรับประทาน ดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ ประมาณ 45% ยาส่วนมากขับออกไปกับปัสสาวะ บางส่วนถูกขับออกทางอุจจาระ
- Naratriptan: ชื่อการค้า Amerge เป็นยาชนิดรับประทาน ดูดซึมจากทางเดินอาหาร ประมาณ 74% มีการขับยาออกจากร่างกายทางปัสสาวะ
- Eletriptan: ชื่อการค้า Relpax เป็นยาชนิดรับประทาน ดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ ประมาณ 50% และร่างกายขับยาออกทางปัสสาวะ และบางส่วนกับอุจจาระ
- Almotriptan: ชื่อการค้า Axert เป็นยาชนิดรับประทาน ดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ประ มาณ 70% และร่างกายขับยาออกทางปัสสาวะ
- Frovatriptan: ชื่อการค้า Flova เป็นยาชนิดรับประทาน ดูดซึมจากทางเดินอาหารประมาณ 20 - 30% มีการขับออกจากร่างกายโดยผ่านทางปัสสาวะ
- Zolmitriptan: ชื่อการค้า Zomig เป็นยาชนิดรับประทานและยาพ่นทางจมูก ดูดซึมจากทางเดินอาหารประมาณ 40% ยาถูกขับออกจากร่างกายโดยผ่านไปกับปัสสาวะและอุจจาระ
- Avitriptan และ Donitriptan: ยังไม่มีการจัดจำหน่าย
ยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ที่ผนังหลอดเลือดในกะโหลกศีรษะ/ในสมอง โดยทำให้เกิดการหดตัว อีกทั้งยับยั้งการหลั่งสารตั้งต้นที่เป็นสาเหตุของการอักเสบของเส้นประสาทในสมองอีกด้วย การออกฤทธิ์ของยาในการลดอาการปวดไมเกรนจะเริ่มที่ประมาณ 30 - 90 นาทีหลังจากได้รับยาเข้าสู่ร่างกาย
อาจมีคำถามตามมาว่า ยาในกลุ่มนี้ตัวใดรักษาไมเกรนหรือการปวดศีรษะคลัสเตอร์ได้ดีที่สุด คำตอบที่ได้รับจะเป็นลักษณะกลางๆกล่าวคือ ไม่มียาตัวไหนในกลุ่มทริปแทนดีที่สุด แต่ละตัวสามารถใช้บรรเทาอาการปวดไมเกรนหรือการปวดศีรษะคลัสเตอร์ได้พอๆกันหรือแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย แต่ผู้ป่วยอาจได้รับผลข้างเคียงของยาแต่ละตัวแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นกับร่างกายของผู้ป่วยที่ตอบสนองต่อยาในแต่ละสูตรตำรับ ในทางปฏิบัติอาจต้องเริ่มทดลองจากยาที่แพทย์เลือกให้หลัง จากผ่านการคัดกรองแล้ว หากผลการรักษาไม่ดีขึ้นก็ต้องกลับมาปรึกษาแพทย์ แล้วแพทย์ปรับแนวทางการรักษาใหม่
ผู้บริโภคสามารถหาซื้อยาในกลุ่มทริปแทนได้จากร้านขายยาทั่วไป แต่ควรต้องเป็นไปตาม คำสั่งของแพทย์ ไม่ควรสุ่มหรือคาดเดาแล้วซื้อยากลับไปใช้เองเป็นอันขาด
ทริปแทนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาทริปแทนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ดังนี้
- บรรเทาอาการปวดศีรษะไมเกรน
- บรรเทาอาการปวดศีรษะคลัสเตอร์
ทริปแทนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยากลุ่มทริปแทนมีกลไกการออกฤทธิ์เป็น 5HT agonist (5 hydroxytryptamine agonist, ยากระตุ้นตัวรับ 5HT) โดยตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับที่มีชื่อว่า 5-HT receptors ในสมอง ส่งผลให้หลอดเลือดในบริเวณสมองหดตัวจึงทำให้อาการปวดศีรษะเบาบางลง
ทริปแทนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาทริปแทนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน
- ยาฉีด และ
- ยาพ่นเข้าทางจมูก
ทริปแทนมีขนาดรับประทานและการบริหารยาอย่างไร?
ยาทริปแทนมีขนาดการใช้ยาแตกต่างกันไปขึ้นกับชนิดตัวยา ประเภทยา (เช่น ฉีด รับประ ทาน พ่น) ชนิดของโรค ความรุนแรงของอาการ ดังนั้นการเลือกใช้ยาจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ ผู้รักษา ในที่นี้ขอยกตัวอย่างขนาดยารับประทานของบางตัวยาในการบรรเทาอาการปวดศีรษะไมเกรนดังนี้เช่น
- Sumatriptan: ผู้ใหญ่ที่อายุมากกว่า 18 ปี: รับประทานครั้งละ 50 - 100 มิลลิกรัมให้รับประทานซ้ำทุก 2 ชั่วโมง (ต้องตามแพทย์สั่งเท่านั้น) โดยขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 300 มิลลิกรัม/วัน สามารถรับประทานยาก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
- Rizatriptan: ผู้ใหญ่: รับประทานเริ่มต้น 10 มิลลิกรัม หากอาการยังไม่ดีขึ้นอาจให้ยาได้อีก 10 มิลลิกรัมโดยห่างจากการรับประทานครั้งแรกประมาณ 2 ชั่วโมง ทั้งนี้ต้องตามแพทย์สั่งเท่านั้น โดยขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 20 มิลลิกรัม/วัน สามารถรับประทานยาก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
- Naratriptan: ผู้ใหญ่: รับประทานเริ่มต้น 1 - 2.5 มิลลิกรัมเมื่อเริ่มปวดศีรษะ หากอาการไม่ดีขึ้น ห้าม รับประทานยาตามทันทีโดยต้องเว้นห่างการรับประทานแต่ละครั้งอย่างน้อย 4 ชั่วโมง และต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น โดยขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 5 มิลลิกรัม/วัน สามารถรับประทานยาก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
- Eletriptan: ผู้ใหญ่: รับประทานเริ่มต้น 20 - 40 มิลลิกรัม หากอาการไม่ดีขึ้นให้รับประทานซ้ำอีกโดยเว้นระยะเวลาห่างจากการรับประทานแต่ละครั้งประมาณ 2 ชั่วโมง และต้องเป็นไปตามคำ สั่งแพทย์เท่านั้น โดยขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 80 มิลลิกรัม/วัน สามารถรับประทานยาก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
- Almotriptan: ผู้ใหญ่: รับประทานเริ่มต้น 6.25 - 12.5 มิลลิกรัม หากจำเป็นสามารถรับ ประทานอีกครั้งหลังจากการรับประทานยาครั้งแรกไปแล้วประมาณ 2 ชั่วโมง และต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น โดยขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 25 มิลลิกรัม/วัน สามารถรับประทานยาก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
- Frovatriptan: ผู้ใหญ่: รับประทานเริ่มต้น 2.5 มิลลิกรัม และสามารถรับประทานยาครั้งถัด ไปโดยเว้นระยะเวลาห่างกันทุกประมาณ 2 ชั่วโมง และต้องเป็นตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น โดยขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 7.5 มิลลิกรัม/วัน สามารถรับประทานยาก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
- Zolmitriptan: ผู้ใหญ่: รับประทานเริ่มต้น 2.5 มิลลิกรัมและทุก 2 ชั่วโมงสามารถรับประ ทานยาได้อีก 1 ครั้งและต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น โดยขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 10 มิลลิกรัม/วัน สามารถรับประทานยาก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
*อนึ่ง ในเด็ก: ยังมีข้อมูลไม่แน่ชัดในการใช้ยานี้ในผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปีโดยเฉพาะเด็กที่อายุ ต่ำกว่า 12 ปี ดังนั้นการใช้ยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มอายุนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
*****หมายเหตุ:
- ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาทริปแทน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาทริปแทนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น และ/หรือกับอาหารเสริมที่รับประทานอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
ทริปแทนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยากลุ่มทริปแทนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) ดังนี้เช่น มีความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ วิงเวียน หน้าแดง อ่อนแรง ง่วงนอน อ่อนเพลีย ชัก ปากแห้ง คลื่นไส้และอาเจียน รู้สึกร้อนผิดปกติ ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
การใช้ยานี้ไปนานๆอาจกระตุ้นให้ร่างกายขาดยาไม่ได้/ติดยา ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหัวใจล้มเหลว
มีข้อควรระวังการใช้ทริปแทนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาทริปแทนเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยากลุ่มนี้หรือแพ้ยากลุ่ม Sulfonamides
- ห้ามใช้เป็นยานี้เพื่อป้องกันเกิดอาการไมเกรนหรือเกิดปวดศีรษะคลัสเตอร์
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติเป็นโรคหัวใจล้มเหลว ผู้ป่วยโรคตับระยะรุนแรง ผู้ป่วยโรคกล้าม เนื้อหัวใจขาดเลือด ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง
- ห้ามใช้ยานี้กับเด็กหรือผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา
- ระวังการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และผู้สูงอายุ
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคลมชัก ผู้ป่วยโรคหลอดเลือด ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มทริปแทนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ทริปแทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาทริปแทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- การใช้ยา Sumatriptan ร่วมกับยา Ergotamine จะก่อให้เกิดภาวะหลอดเลือดเกร็งตัวจนก่อ ให้เกิดอันตราย/ภาวะขาดเลือดกับผู้ป่วยได้จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยา Zolmitriptan ร่วมกับยาต้านโรคซึมเศร้า ยากลุ่ม Selective serotonin reuptake inhibitor อาจก่อให้เกิดภาวะ Serotonin syndrome (อาการจากมีสารเซโรโทนิน/สารสื่อประสาทชนิดหนึ่งในเลือดสูง อาการเช่น ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออกมาก ท้องเสีย ชัก โคม่า) เพื่อป้องกันการเกิดอาการดังกล่าวจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยา Almotriptan ร่วมกับยา Verapamil และ Ketoconazole จะทำให้ระดับยา Almotriptan ในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้นจนอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงติดตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป
- การใช้ยา Rizatriptan ร่วมกับยา Propranolol จะทำให้ระดับยา Rizatriptan ในกระแสเลือดสูงขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
ควรเก็บรักษาทริปแทนอย่างไร?
ควรเก็บยาทริปแทนภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ทริปแทนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาทริปแทนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Imigran (อิมิแกรน) | GlaxoSmithKline |
Maxalt (แมกซอลท์) | Merck & Co Inc |
Amerge (อเมอร์ท) | GlaxoSmithKline |
Relpax (เรลแพกซ์) | Pfizer Inc |
Frova (โฟรวา) | Endo Pharmaceuticals Inc |
บรรณานุกรม
- 1.http://en.wikipedia.org/wiki/Triptan [2015,June27]
- http://www.webmd.com/migraines-headaches/triptans-serotonin-receptor-agonists-for-migraine-headaches [2015,June27]
- http://www.patient.co.uk/health/triptans [2015,June27]
- http://www.mims.com/usa/drug/info/sumatriptan/?type=full&mtype=generic#Dosage [2015,June27]
- http://www.mims.com/USA/drug/info/Amerge/Amerge%20Tablet?type=full [2015,June27]
- http://www.mims.com/USA/drug/info/rizatriptan/?type=full&mtype=generic#Dosage [2015,June27]
- http://www.mims.com/USA/drug/info/eletriptan/?type=full&mtype=generic#Dosage [2015,June27]
- https://www.mims.com/USA/drug/info/almotriptan/?type=full&mtype=generic#Dosage [2015,June27]
- https://www.mims.com/USA/drug/info/Frova/Frova%20Tablet%2c%20Film%20Coated?type=full [2015,June27]
- https://www.mims.com/USA/drug/info/zolmitriptan/?type=full&mtype=generic#Dosage [2015,June27]