ตุ่มแพ้แมลงกัด (Insect bite reaction)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ตุ่มแพ้แมลงกัด (Insect bite reaction) คือตุ่มหรือผื่นคันที่เกิดจากปฏิกิริยาของผิวหนังตาม หลังการถูกแมลง กัด ต่อย ปฏิกิริยานี้มีได้หลายระดับความรุนแรง ตั้งแต่เป็นตุ่มคัน ตุ่มเดียว หลายตุ่ม ทั้งตัว ไปจนถึงอาการช็อกจากการแพ้ (Anaphylaxis) ขึ้นกับความไว/การตอบสนอง (Sensiti vity) ของร่างกายแต่ละบุคคลและชนิดของแมลง

ในบทความนี้จะขอกล่าวถึงลักษณะอาการที่พบได้บ่อยและไม่รุนแรงคือ ลักษณะเป็นตุ่มคันที่เกิดจากแมลงทั่วไปที่ไม่ทำให้เกิดรอยโรคที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น มดกัด ยุงกัด ซึ่งพบได้ทั้งในหญิง และชายและในทุกช่วงอายุ ขึ้นอยู่กับการดูแลตนเองในการหลีกเลี่ยงป้องกันแมลงกัดต่อย

ตุ่มแพ้แมลงกัดเกิดขึ้นได้อย่างไร?

ตุ่มแพ้แมลงกัด

ตุ่มแพ้แมลงกัดเกิดขึ้นได้โดย หลังถูกแมลงกัด ผิวหนังจะมีปฏิกิริยาต่อการบาดเจ็บจากที่ถูกกัด และจากสารเคมีจากแมลง เช่น ในน้ำลายของแมลง เกิดเป็นปฏิกิริยาการแพ้/อักเสบที่ผิวหนังขึ้น

ตุ่มแพ้แมลงกัดติดต่ออย่างไร?

ตุ่มแพ้แมลงกัด เป็นภาวะ/อาการเกิดเฉพาะตัวบุคคลที่ถูกกัด ไม่ใช่โรคติดต่อแต่อย่างใด จึงไม่ติดต่อจากผู้หนึ่งไปสู่อีกผู้หนึ่ง ไม่ว่าจะทางใดทั้งสิ้น เช่น การสัมผัสแผลหรือสัมผัสเสื้อผ้าเครื่องใช้

ตุ่มแพ้แมลงกัดมีอาการอย่างไร?

อาการของตุ่มแพ้แมลงกัด มักพบเป็น

  • ตุ่ม นูน แดง คัน อาจมีน้ำเหลือง หรือหนองในกรณีที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนจากการเกา
  • ถ้ามีแมลงมากัดบ่อย มักพบรอยโรคใหม่เป็นตุ่มแดง และมีรอยเการ่วมกับรอยโรคเก่าที่เป็นรอย/ตุ่มดำ/ผื่นดำที่เกิดหลังการอักเสบ
  • นอกจากนี้มักพบตุ่มแพ้แมลงกัด เกิดที่ผิวหนังบริเวณนอกร่มผ้า ผิวหนังที่มีโอกาสถูกแมลงกัดได้บ่อยเช่น แขน ขา ในส่วนที่อยู่นอกร่มผ้า
    • และถ้ามีรอยแผลทั้งเก่า ใหม่ และจากการเกาอยู่มาก มักถูกเรียกว่าเป็น แขน ขาลาย

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

หากมีตุ่มคัน/ผื่นคันที่ไม่ทราบสาเหตุ หรือที่สงสัยว่าเกิดจากแมลงกัดต่อย สามารถมาพบแพทย์ผิวหนังได้ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย รับคำแนะนำและเพื่อรับการรักษา

แพทย์วินิจฉัยตุ่มแพ้แมลงกัดได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยตุ่มแพ้แมลงกัดได้จาก

  • ลักษณะทางคลินิก คือ ประวัติการสัมผ้สแมลง เช่น การถูกแมลงกัด การท่องเที่ยว การอยู่นอกบ้าน
  • และจากการตรวจดูลักษณะของรอยโรค
  • มักไม่จำเป็นต้องมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม
  • แต่ถ้าอาการเป็นมาก รุนแรง และเกิดในผู้มีประวัติเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เอชไอวี อาจต้องแยกจาก ตุ่ม PPE (Pruritic papular eruption, ตุ่มคันเรื้อรังที่ ใบหน้า แขน หลังมือ ขา หลังเท้า ลำตัว โดยไม่เกิดที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า ซึ่งเป็นตุ่มเกิดจากการติดเชื้อเอชไอวี) ที่พบในคนไข้โรคเอดส์ โดยการตรวจเลือดดูค่าสารภูมิต้านทาน และ/หรือ สารก่อภูมิต้านทานการติดเชื้อ เอชไอวี

รักษาตุ่มแพ้แมลงกัดอย่างไร?

การรักษาตุ่มแพ้แมลงกัดคือการรักษาตามอาการ ได้แก่

  • ทำความสะอาดรอยแมลงกัดด้วยสบู่และล้างน้ำตามปกติ
  • ใช้ยาทาสเตียรอยด์เพื่อลดอาการคันจากการแพ้ โดยใช้สเตียรอยด์ความเข้มข้นปานกลางเช่น 0.1% Triamcinolone ทาที่ตุ่มคันเช้าเย็นไม่เกินสองสัปดาห์ ถ้ามีตุ่มขึ้นมากหรือคันมาก จะรักษาร่วมกับยารับประทาน ดังกล่าวในข้อถัดไป
  • รับประทานยาแก้แพ้กลุ่ม Antihistamine เพื่อลดอาการคัน
  • ตัดเล็บให้สั้น รักษาความสะอาดเล็บ และระมัดระวังอย่าเกา เพื่อป้องกันเกิดแผลหรือตุ่ม/แผลติดเชื้อ ที่จะส่งผลให้เกิดรอยดำ/ตุ่มดำตามมา และเลี่ยงแสงแดดจัด และทาครีมกันแดด เพื่อป้องกันรอยดำหลังการอักเสบของแผลหายแล้ว
  • รอยดำที่เกิดขึ้นของแผลถูกกัดหลังแผลหายแล้ว สามารถใช้ครีมทาผิวชนิดช่วยให้ผิวขาว (Skin whitening) ทา เพื่อให้รอยดำจางลงได้
  • เมื่อตุ่มหรือแผลเกาติดเชื้อ อาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะร่วมด้วย (ซึ่งกรณีนี้ ควรพบแพทย์ ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะกินเอง)

ตุ่มแพ้แมลงกัดก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากตุ่มแพ้แมลงกัดคือ ตุ่มที่ถูกกัดเป็นหนองจากติดเชื้อแบคทีเรีย โดยมักเกิดจากการเกา และการเกิดรอยดำที่ตุ่มหลังตุ่มเกิดการอักเสบ

ตุ่มแพ้แมลงกัดมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

โดยทั่วไป ตุ่มแพ้แมลงกัดมีการพยากรณ์โรคที่ดี รอยตุ่มแดง คัน อักเสบ มักดีขึ้นในระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ส่วนรอยดำหลังการอักเสบจะค่อยๆจางลงในเวลา 6 เดือนถึง 1 ปี ขึ้นอยู่กับขนาดรอยแผลและสภาพผิวของแต่ละคน

นอกจากนั้น ตุ่มแพ้แมลงกัดเหล่านี้สามารถกลับเป็นซ้ำได้ใหม่ เมื่อถูกแมลงกัดอีก

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเกิดตุ่มแพ้แมลงกัด?

การดูแลตนเองเมื่อเกิดตุ่มแพ้แมลงกัด เช่นเดียวกับที่ได้กล่าวแล้วในหัวข้อการรักษา ที่สำคัญคือ

  • การรักษาความสะอาดตุ่ม
  • พยายามอย่าเกา
  • ทายาและกินยา ยาแก้แพ้ ยาแก้คัน ดังกล่าว โดยปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยา ก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
  • *แต่ถ้ามีอาการมาก (เช่น ตุ่มขึ้นมากทั้งตัว คันมาก) หรือกังวลในอาการ หรือตุ่มเป็นหนอง ก็ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล

เมื่อไหร่ต้องพบแพทย์ก่อนนัด?

ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด หากสังเกตุพบรอยแผลขยายขนาดขึ้นหรือมีไข้ ซึ่งเป็นลักษณะของการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน

ป้องกันเกิดตุ่มแพ้แมลงกัดได้อย่างไร?

การป้องกันเกิดตุ่มแมลงกัดคือ การป้องกันตนเองจากการถูกแมลงกัดต่อยโดย

  • สวมเสื้อผ้าแขน ขา ยาว
  • ใช้โลชั่น สเปรย์ ยากันยุง หรืออุปกรณ์ต่างๆไล่แมลง ไล่ยุง
  • หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีแมลงหรือยุงชุม เช่น ช่วงกลางคืน สถานที่นอกบ้าน ใกล้ต้นไม้
  • ทำมุ้งลวดหรือรู้จักการใชัมุ้ง

บรรณานุกรม

1. ปรียา กุลละวณิชย์,ประวิตร พิศาลยบุตร .Dermatology 2020:ชื่อบท.พิมพ์ครั้งที่1.กรุงเทพฯ:โฮลิสติก,2555
2. Insect bite http://emedicine.medscape.com/article/769067-overview#a0104 [2020,March7]