ตุ่มมดกัด (Ant bites)
- โดย พญ.ชลธิรศน์ ศรีเกษตรสรากุล
- 12 กรกฎาคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- อาการตุ่มมดกัดเกิดขึ้นได้อย่างไร?
- อาการตุ่มมดกัดติดต่ออย่างไร?
- ตุ่มมดกัดมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยตุ่มมดกัดได้อย่างไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
- รักษาและดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีตุ่มมดกัด?
- ตุ่มมดกัดก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
- ตุ่มมดกัดมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- เมื่อไหร่ต้องพบแพทย์ก่อนนัด?
- ป้องกันเกิดตุ่มมดกัดอย่างไร?
- บรรณานุกรม
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- ตุ่มแพ้แมลงกัด (Insect bite reaction)
- ผึ้ง ต่อ มด กัดต่อย: การปฐมพยาบาล การรักษาและการป้องกัน (Bee, Wasp, Hornet, and Ant stings)
- ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ยาแอนติฮิสตามีน (Antihistamine drug)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- รอยดำหลังผิวหนังอักเสบ (Post inflammatory hyperpigmentation)
- ตุ่มยุงกัด (Mosquito bites)
บทนำ
มดกัด (Ant bites) เป็นภาวะพบบ่อยในทุกเพศทุกวัยทุกสถานที่ทั่วโลก โดยปัญหาที่เกิดตามหลังจากการถูกมดกัดขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย
- ปัจจัยแรกคือ ตัวผู้ป่วยเองมีแนวโน้มในการเกิดปฏิกิริยาแพ้ต่อแมลงสัตว์มดกัดต่อยมากน้อยแค่ไหน หากเป็นคนที่มีแนวโน้มในการเกิดปฏิกิริยาแพ้แมลงสัตว์กัดต่อยมาก เมื่อถูกมดกัดอาจเกิด เป็นตุ่มคันตามหลังมดกัดเรียกอาการนี้ว่า Insect bite reaction ซึ่งมักพบในเด็ก ถ้ามีอาการคันมากอาจเกาต่อจนลุกลามเกิดเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังตามมาได้ แต่ในคนที่ไม่มีปฏิกิริยาแพ้มด หลังถูกมดกัดก็อาจเป็นเพียงรอยแดง มีอาการคันบ้าง และหายได้เองในเวลาไม่นาน
- อีกปัจจัยหนึ่ง (ปัจจัยที่ 2) ที่มีผลต่ออาการหลังถูกมดกัดคือ ชนิดของมด มดบางชนิดเช่น มด คันไฟ มีพิษทำให้เกิดตุ่มน้ำอาการแพ้และคันบริเวณที่ถูกมดคันไฟกัดได้ ซึ่งทำให้อาการหลังถูกมดคันไฟกัดรุนแรงกว่าการถูกมดทั่วไปกัด
อาการตุ่มมดกัดเกิดขึ้นได้อย่างไร?
หลังถูกมดกัด ผิวหนังจะมีปฏิกิริยาจากการบาดเจ็บของผิวหนัง (รอยแผลถูกกัด) และจากสาร เคมีจากมด เช่น น้ำลาย เกิดเป็นปฏิกิริยาการแพ้ที่ผิวหนังขึ้น หรือหากมดนั้นมีพิษด้วย ผิวหนังจุดที่ถูกกัดก็จะเกิดเป็นตุ่มแดง เป็นตุ่มน้ำ จากพิษของมดได้
อาการตุ่มมดกัดติดต่ออย่างไร?
ตุ่มมดกัด มิใช่โรคติดต่อแต่อย่างใด จึงไม่มีการติดต่อไปสู่ผู้อื่น แม้ว่าจะมีการสัมผัสผื่นหรือสัมผัสตุ่มมดกัดก็ตาม
ตุ่มมดกัดมีอาการอย่างไร?
อาการจากตุ่มมดกัดมักพบเป็น
- ตุ่มแดง นูน คัน
- อาจมีน้ำเหลืองหรือเกิดหนอง
- กรณีที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนจากการเกา และเมื่อเวลาผ่านไป รอยโรคที่ถูกกัดจะเปลี่ยนเป็นรอยดำที่เป็นปฏิกิริยาของผิวหนังหลังการอักเสบ (Post inflammatory hyperpigmentation)
- ทั้งนี้มักพบตุ่มถูกกัดบริเวณนอกร่มผ้าที่มีโอกาสถูกมดกัดได้บ่อย เช่น แขน ขา (ส่วนที่อยู่นอกร่มผ้า)
- ส่วนรอยโรคจาก มดคันไฟกัดกัดนั้นจะเป็นตุ่มน้ำใส แดงคัน บริเวณที่ถูกกัด
แพทย์วินิจฉัยตุ่มมดกัดได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นตุ่มมดกัดจากลักษณะของรอยโรค และประวัติการถูกมดกัด โดยเฉพาะใน เด็กและในผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ทำให้บางครั้งอาจถูกมดกัดหลายตำแหน่งได้
ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
โดยทั่วไปตุ่มมดกัด สามารถหายได้เองใน 1 - 2 วัน แต่หากโดนกัดหลายตำแหน่ง คันมาก สามารถมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อประเมินอาการและรับยาบรรเทาอาการได้
รักษาและดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีตุ่มมดกัด?
การรักษาและการดูแลตนเองเมื่อมีตุ่มจากมดกัดคือ การรักษาดูแลตามอาการ ได้แก่
- ทำความสะอาดรอยมดกัดด้วยสบู่และล้างน้ำตามปกติ
- ถ้ามีอาการแสบร้อนจากการถูกมดคันไฟกัด สามารถประคบเย็นที่ตุ่มมดกัดเพื่อบรรเทาอาการได้
- ทายาทาสเตียรอยด์เพื่อลดอาการคันจากการแพ้ โดยใช้ยาสเตียรอยด์ความเข้มข้นปานกลาง เช่น 0.1% Triamcinolone ทาที่ตุ่มคัน เช้า - เย็น เมื่ออาการหายก็หยุดทายาได้ ทั้งนี้ไม่ควรทายาติดต่อกันนานเกิน 2 สัปดาห์
อนึ่ง ถ้าอาการจากตุ่มมดกัดมีมากอาจใช้ยาและวิธีอื่นร่วมกับวิธีที่กล่าวในตอนต้นคือ
- รับประทานยาแก้แพ้กลุ่ม Antihistamine เพื่อลดอาการคัน
- ระมัดระวังพยายามอย่าเกาเพื่อป้องกันเกิดแผลที่ผิวหนัง ผิวหนังที่รอยเกาติดเชื้อแบคทีเรีย และการเกิดรอยดำหลังการเกา/หลังการอักเสบของผิวหนัง
- เลี่ยงไม่ให้ตุ่มมดกัดถูกแสงแดดจัด และทาครีมกันแดดเพื่อป้องกันรอยดำหลังการอักเสบของผิวหนัง ทั้งนี้รอยดำที่เกิดขึ้นสามารถใช้ครีมบำรุงผิวประเภท Whitening ทาเพื่อให้รอยดำจางลงได้
ตุ่มมดกัดก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
ผลข้างเคียงจากตุ่มมดกัดคือ แผลรอยเกาติดเชื้อแบคทีเรีย (อักเสบเป็นหนอง) ซึ่งต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ และการเกิดรอยดำหลังการอักเสบของผิวหนังส่วนที่ถูกมดกัด
ตุ่มมดกัดมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรคในตุ่มมดกัด คือ
- รอยตุ่มแดง คัน อักเสบ จากถูกมดกัด มักดีขึ้นในระยะเวลา ประมาณ 2 สัปดาห์
- ส่วนรอยดำหลังผิวหนังอักเสบจะค่อยๆจางลงในเวลาประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี ขึ้นอยู่กับขนาดรอยแผลและสภาพผิวของแต่ละคน และ
- ตุ่มมดกัดสามารถกลับเป็นซ้ำได้ใหม่เมื่อถูกมดกัดซ้ำอีก
เมื่อไหร่ต้องพบแพทย์ก่อนนัด?
ถ้าเคยพบแพทย์จากตุ่มมดกัดหรือตุ่มคันต่างๆ ควรพบแพทย์ก่อนนัด
- หากสังเกตพบรอยแผล/ ตุ่มคันขยายขนาดขึ้นเป็นหนองหรือมีไข้ ซึ่งเป็นลักษณะของการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน
ป้องกันเกิดตุ่มมดกัดอย่างไร?
การป้องกันเกิดตุ่มมดกัด คือ การป้องกันตนเองจากการถูกมดกัดต่อย โดยการเลี่ยงบริเวณที่เป็นรังมด เช่น ตามใต้ต้นไม้ในสวน และใช้การสังเกตเลี่ยงการไปก่อกวนที่อยู่อาศัยของมด
บรรณานุกรม
1. ปรียา กุลละวณิชย์,ประวิตร พิศาลยบุตร .Dermatology 2020:ชื่อบท.พิมพ์ครั้งที่1.กรุงเทพฯ:โฮลิสติก,2555
2. Lowell A. Goldsmith,Stephen I. Katz,Barbara A. Gilchrest,Amy S. Paller,David J.Leffell,Klaus Wolff.Fitzpatrick’s dermatology in general medicine :chapter.eight edition.McGraw-Hill.2012