ติ่งเนื้อเวสติบูลาแปบปิลโลมาโตซิสอวัยวะเพศหญิง (Vulvar vestibular papilloma tosis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

ติ่งเนื้อเวสติบูลาฯคืออะไร?

ติ่งเนื้อเวสติบูลา แปบปิลโลมาโตซิสอวัยวะเพศหญิง (Vulvar vestibular papillomato sis แพทย์บางท่านเรียกย่อว่า VP) เป็นภาวะ/โรคที่ผิวหนังบริเวณปากช่องคลอดมีลักษณะคล้ายติ่งเนื้อเล็กๆหรือตุ่มเล็กๆขนาดใกล้เคียงกัน ยื่นขึ้นมาบริเวณปากช่องคลอดหรือบริเวณแคมเล็ก(อ่านเพิ่มเติมในเรื่องของกายวิภาคอวัยวะเพศหญิงได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง อวัยวะเพศภายนอกสตรี) ทำให้ดูคล้ายการติดเชื้อไวรสที่ทำให้เกิดโรคหูดหงอนไก่ (การติดเชื้อเอชพีวีอวัยวะเพศหญิง) แต่จริงๆแล้ว ภาวะนี้ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เป็นเพียงเกิดการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติที่ผิวหนังของอวัยวะเพศหญิง ที่สามารถพบได้ในผู้หญิงปกติทั่วไป ซึ่งสาเหตุจริงๆยังไม่ทราบว่าเกิดจากอะไร

อนึ่ง บทความนี้ขอเรียกย่อ ‘ติ่งเนื้อเวสติบูลา แปบปิลโลมาโตซิสอวัยวะเพศหญิง’ ว่า ‘ติ่งเนื้อเวสติบูลาฯ’

พบติ่งเนื้อเวสติบูลาฯบ่อยแค่ไหน?

ติ่งเนื้อเวสติบูลาแปบปิลโลมาโตซิสอวัยวะเพศหญิง

พบติ่งเนื้อเวสติบูลาฯ นี้ได้มากถึงประมาณ 44% ในสตรีวัยเจริญพันธุ์ และประมาณ 8% ในสตรีวัยหมดประจำเดือน แต่พบได้น้อยมากในสตรีวัยเด็ก ทั่วโลกมีรายงานพบภาวะนี้ได้ 1%-33%

สาเหตุของติ่งเนื้อเวสติบูลาฯเกิดจากอะไร?

สาเหตุจริงๆของติ่งเนื้อเวสติบูลาฯ ยังไม่ทราบว่าเกิดจากอะไร แต่เชื่อว่าน่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางผิวหนังที่เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติในคนปกติ

อาการของติ่งเนื้อเวสติบูลาฯเป็นอย่างไร?

อาการที่พบได้จากติ่งเนื้อเวสติบูลาฯ ได้แก่

  • ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ
  • บางรายมีอาการระคายเคืองบริเวณรอยโรคหรือคันบริเวณปากช่องคลอดได้
  • บางรายมีอาการเจ็บตรงรอยโรคได้

แพทย์วินิจฉัยติ่งเนื้อเวสติบูลาฯอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยติ่งเนื้อเวสติบูลาฯ ได้จาก

ก. ประวัติทางการแพทย์: จากที่ผู้ป่วยให้ประวัติว่า มีติ่งหรือตุ่มเล็กๆบริเวณปากช่องคลอดเป็นมาเป็นเวลานาน หรือรักษาด้วยการทายา/รับประทานยามาเป็นเวลานานแต่ไม่หาย

ข. การตรวจร่างกาย: จากการตรวจที่อวัยวะเพศจะเห็นเป็นติ่งเนื้อเล็กๆยื่นออกมาบริเวณปากช่องคลอดจำนวนมาก มักอยู่บริเวณแคมเล็ก ขนาดของติ่งเนื้อจะเท่าๆกันสม่ำเสมอ เวลาคลำจะรู้สึกสากๆที่นิ้วหรือเป็นตุ่มๆไม่เรียบ แพทย์ต้องแยกจากโรคหูดหงอนไก่ที่จะเป็นตุ่มหลายตุ่มที่ขนาดแตกต่างกัน และมักเป็นตุ่มหรือติ่งที่ใหญ่กว่า

ค. การตรวจทางห้องปฎิบัติการ: โดยทั่วไปมักไม่ต้องมีการตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้น เพิ่มเติมหากแพทย์ดูลักษณะติ่งนี้แล้วเห็นว่าเป็นติ่งเนื้อปกติ ยกเว้นในกรณีที่แพทย์ไม่แน่ใจว่าเป็นหูดหงอนไก่หรือไม่ซึ่ง

  • แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อ เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา หรือ
  • ในเบื้องต้นกรณีจะแยกจากโรคหูดหงอนไก่ แพทย์จะใช้น้ำส้มสายชูทาบริเวณตุ่มเหล่านี้ หากเป็นหูดหงอนไก่ ตุ่มเหล่านี้จะเปลี่ยนเป็นสีขาวขุ่น แต่ในติ่งเนื้อเวสติบูลาฯจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงของสีของติ่งเนื้อ

ติ่งเนื้อเวสติบูลาฯรักษาอย่างไร?

แนวทางการรักษาติ่งเนื้อเวสติบูลาฯ คือ แพทย์จะอธิบายว่า เป็นสิ่ง/ภาวะที่พบได้ในผู้หญิงปกติ ไม่ต้องกังวล ไม่ต้องรักษาอย่างใด ดูแลสุขอนามัยบริเวณอวัยวะเพศตามปกติ

อนึ่ง ในบางคนเมื่ออายุมากขึ้น ติ่งเนื้อนี้อาจมีขนาดเล็กลงหรือยุบหายไปเองได้

โรคอื่นที่คล้ายติ่งเนื้อเวสติบูลาฯมีหรือไม่?

โรคอื่นๆที่มีลักษณะคล้ายกับติ่งเนื้อเวสติบูลาฯ คือ

  • โรคหูดหงอนไก่ ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี/HPV (การติดเชื้อเอชพีวีอวัยวะเพศหญิง) ที่ลักษณะตุ่ม/ติ่งเนื้อจะใหญ่กว่าและมีหลายๆขนาด

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดติ่งเนื้อเวสติบูลาฯ?

ผู้หญิงทุกคนมีปัจจัย/โอกาสเสี่ยงที่ผิวหนังบริเวณปากช่องคลอดจะเปลี่ยนแปลงไปเป็น ติ่งเนื้อเวสติบูลาฯได้เท่าๆกัน

มีวิธีป้องกันติ่งเนื้อเวสติบูลาฯหรือไม่?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิดติ่งเนื้อเวสติบูลาฯ

ติ่งเนื้อเวสติบูลาฯติดต่อกันหรือไม่? อย่างไร?

เนื่องจากติ่งเนื้อเวสติบูลาฯ ไม่ใช่โรคติดเชื้อจึงไม่ติดต่อ และไม่มีการติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กล่าวคือ ไม่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และไม่มีการติดต่อไม่ว่าจะด้วยวิธีการใด (เช่น การสัมผัสหรือการใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกัน) เพราะเป็นภาวะเกิดจากเซลล์ที่เปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ

ติ่งเนื้อเวสติบูลาฯมีโอกาสเป็นมะเร็งมากน้อยเพียงใด?

ติ่งเนื้อเวสติบูลาฯ มีโอกาสกลายเป็นมะเร็งได้แต่พบน้อยมากๆจนไม่สามารถคิดเป็นสถิติได้ เป็นเพียงการรายงานผู้ป่วยนานๆๆๆครั้งเท่านั้น

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Vestibular_papillomatosis [2020,May23]
  2. https://escholarship.org/content/qt2429w0sx/qt2429w0sx.pdf [2020,May23]
  3. https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMicm076056 [2020,May23]
  4. https://obgyn.onlinelibrary.wiley.com/doi/full/10.1111/j.1471-0528.1997.tb11461.x [2020,May23]
  5. https://www.healthline.com/health/vestibular-papillomatosis [2020,May23]